เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ชาร์ป คอร์ปอเรชัน ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นแถลงในวันพุธ (6) ว่า ทางบริษัทได้บรรลุข้อตกลงขายหุ้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,300 ล้านบาท) ให้ค่ายซัมซุง คู่แข่งสำคัญจากเกาหลีใต้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ตอกย้ำถึงภาวะอันย่ำแย่ของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งแดนปลาดิบ
ชาร์ปซึ่งก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ปี 1912 และมีฐานอยู่ที่นครโอซากา กำลังใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหารายได้ลดฮวบจากยอดขายที่ตกต่ำต่อเนื่อง บริษัทแถลงในวันอังคารว่าซัมซุงจะเข้าซื้อหุ้นใหม่ของชาร์ปเป็นมูลค่า 10,400 ล้านเยน (ราว111 ล้านดอลลาร์) คิดเป็นประมาณ 3% ของหุ้นบริษัทชาร์ปทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจากแดนกิมจิรายนี้ กลายเป็น “ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติรายใหญ่ที่สุด” ของชาร์ปทันที
หลังข่าวการบรรลุข้อตกลงระหว่างชาร์ปกับซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์แพร่สะพัดออกไป ราคาหุ้นของชาร์ปได้ปรับตัวพุ่งขึ้นกว่า 17% ก่อนปิดตลาดโดยราคาสูงขึ้น 14.04% ส่วนหุ้นของซัมซุงก็เพิ่มขึ้น 0.65% ขณะที่ข้อตกลงอย่างเป็นทางการเพิ่งมีการประกาศออกมาภายหลังตลาดหุ้นที่กรุงโตเกียวและกรุงโซลปิดทำการแล้ว
คำแถลงของชาร์ประบุว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาทางการเงินของบริษัท ขณะเดียวกันทั้งชาร์ปและซัมซุงก็จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ในการนำเอาเทคโนโลยีจอภาพแบบแอลซีดีของชาร์ปไปประยุกต์ใช้กับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตของซัมซุง
ส่วนคำแถลงของซัมซุงเน้นว่า การลงทุนเข้าถือหุ้นชาร์ป คือการวางรากฐานอันมั่นคง เพื่อให้มั่นใจว่าซัมซุงจะมีซัปพลายจอภาพแอลซีดีอย่างสม่ำเสมอจากหลายๆ แหล่งผลิต
ชาร์ปนั้นในปัจจุบันยังเป็นซัปพลายเออร์ส่งจอภาพแอลซีดีรายใหญ่ ให้แก่แอปเปิล ที่เป็นคู่แข่งของซัมซุงด้วย และนอกจากการให้ซัมซุงถือหุ้นแล้ว ชาร์ปยังออกคำแถลงอีกฉบับหนึ่งแจ้งว่า ควอลคอมม์ บริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติอเมริกัน ก็จะอัดฉีดเงินทุนอีก 4,940 ล้านเยนให้แก่บริษัทด้วย
เมื่อเดือนที่แล้ว มีรายงานข่าวว่า ฮอนไฮ พรีซีชั่น แห่งไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้รับช่วงผลิตสินค้าต่างๆ ให้แอปเปิลอยู่ในประเทศจีน และก่อนหน้านี้ทำท่าจะเข้าลงทุนซื้อหุ้นชาร์ปนั้น ได้ตัดสินใจยุติเรื่องนี้แล้ว ถึงแม้โฆษกรายหนึ่งกล่าวในวันพุธว่าการเจรจายังคงดำเนินอยู่
ทางด้าน ฮิโรชิ ซากาอิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากศูนย์วิจัยเอสเอ็มบีซี เฟรนด์ ในเครือซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจยอมรับการอัดฉีดเงินทุนจากบริษัทต่างชาติ ส่งสัญญาณถึงสถานะภายในของชาร์ปและบริษัทผู้ผลิตรายอื่นๆของญี่ปุ่นที่ย่ำแย่อย่างหนัก และปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นจะยิ่งไปเสริมความแข็งแกร่งและตอกย้ำความเป็น “เบอร์ 1” ของซัมซุงในตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีก ตลอดจนช่วยให้ซัมซุงประหยัดเงินจำนวนมากจากการที่ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า มีแนวโน้มที่บรรดาผู้ผลิตในญี่ปุ่นจะต้องยอมทำข้อตกลงในลักษณะเช่นนี้กับบริษัทต่างชาติเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้องค์กรอยู่รอด
อย่างไรก็ดี เขาเสริมว่าข้อตกลงนี้จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาของชาร์ปได้ทั้งหมด หลังจากมีการเปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า ชาร์ปประสบภาวะขาดทุนในช่วง 9 เดือนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคมปี 2012 เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 4,600 ล้านดอลลาร์ หรือ 429,442 ล้านเยน (ราว136,792 ล้านบาท) จึงต้องตัดลดตำแหน่งงานและยกเครื่องธุรกิจต่างๆ กันยกใหญ่
ทั้งนี้ บรรดายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นทั้งชาร์ป โซนี่ และพานาโซนิค ต่างต้องเผชิญหลายปัญหาที่รุมเร้าไม่แตกต่างกันในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยอดขายที่ตกต่ำลงในตลาดส่งออกสำคัญ ค่าเงินเยนที่แข็ง การแข่งขันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะในตลาดโทรทัศน์ รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ทางการตลาดที่ผิดพลาด จนกระทบกับรายได้และความอยู่รอดขององค์กร
โซนี่นั้นกำลังใช้วิธีขายอาคารสำนักงานของตนทั้งที่เขตแมนแฮตตันในนครนิวยอร์ก และในกรุงโตเกียว เพื่อระดมเงินสดมาใช้-แก้ปัญหา ส่วน พานาโซนิค ก็กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างอันแสนเจ็บปวดเช่นเดียวกัน ภายหลังรายงานว่าขาดทุนไปประมาณ 6,770 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนตั้งแต่ เม.ย.-ธ.ค.ปี 2012