xs
xsm
sm
md
lg

‘การประหาร’จุดชนวนเสียงเรียกร้องใน‘แคชเมียร์’

เผยแพร่:   โดย: อาธาร์ ปาร์วาอิซ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Execution sparks demands in Kashmir
By Athar Parvaiz
12/02/2013

การประหารชีวิต โมฮัมหมัด อัฟซัล กูรู ด้วยการแขวนคอ ตามโทษทัณฑ์ที่เขาถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับกับการบุกโจมตีรัฐสภาอินเดียเมื่อปี 2001 ซึ่งทำให้มีคนตายไป 9 คน ได้กลายเป็นการจุดชนวนปฏิกิริยาต่อต้านอันแรงกล้าขึ้นในแคว้นแคชเมียร์ รวมทั้งมีเสียงเรียกร้องต้องการศพของเขาด้วย ร่างที่ไร้ชีวิตของเขาเวลานี้ถูกฝังอยู่ภายในเขตเรือนจำติหาร ของกรุงนิวเดลี เช่นเดียวกับ “ผู้สละชีพ” ชาวแคชเมียร์อีกคนหนึ่งซึ่งได้ถูกลงโทษแขวนคอไปตั้งแต่ปี 1984 ทว่ายังคงมีการสร้างและรักษาหลุมศพอันว่างเปล่าของเขาในเมืองศรีนครเอาไว้

ศรีนคร, แคชเมียร์, อินเดีย – “ส่งศพของเขามาให้เรา เราต้องการทำพิธีฝังเขาอย่างสมเกียรติ ...” นี่เป็นเสียงเรียกร้องที่ดังกระหึ่มไปทั่วทั้งแคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย ภายหลังจากที่ทางการดำเนินการประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ โมฮัมหมัด อัฟซัล กูรู (Mohammad Afzal Guru) ผู้ซึ่งถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริงจากการมีบทบาทเกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์โจมตีรัฐสภาอินเดียเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2001 ทั้งนี้การโจมตีคราวนั้นทำให้มีคนตายไป 9 คน

กูรูถูกตัดสินความผิดในการพิจารณาคดีของศาลสูงเดลีเมื่อปี 2002 อีก 2 ปีต่อมา ศาลสูงสุดของอินเดียก็พิพากษายืนตามคำตัดสินดังกล่าว

หนังสือร้องเรียนขอความปรานีให้ลดหย่อนผ่อนโทษ จากครอบครัวของอัฟซัล กูรู ได้ถูกประธานาธิบดีประนับ มุกเคอร์จี (Pranab Mukherjee) ปฏิเสธไปในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ปีนี้ และจากนั้นเขาก็ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ในเรือนจำติหาร (Tihar Jail) ของกรุงนิวเดลี ศพของเขาถูกฝังไว้ภายในเขตเรือนจำแห่งนี้

ครอบครัวของเขาและบุคคลอื่นๆ จำนวนมากพากันคัดค้านอย่างแรงกล้าไม่ให้ฝังศพของเขาเอาไว้ภายในคุก “พวกเราจะไม่ยอมนั่งนิ่งเงียบอยู่เฉยๆ จนกว่าพวกเราจะได้รับศพของน้องชายที่รักยิ่งของพวกเรากลับคืนมา” ไอจัซ กูรู (Aijaz Guru) พี่ชายคนโตของ อัฟซัล บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS) ด้วยเสียงปวดร้าวที่ขาดหายเป็นห้วงๆ ในระหว่างการติดต่อสัมภาษณ์กันทางโทรศัพท์จากบ้านของเขาในหมู่บ้านโดอับกาห์-โซโปเร (Doabgah-Sopore) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศรีนคร (Srinagar) เมืองหลวงของรัฐแคชเมียร์ไปทางเหนือประมาณ 65 กิโลเมตร “พวกเราต้องการให้เขาได้รับการฝังศพอย่างถูกต้องเหมาะสม”

เขากล่าวต่อไปว่า “พวกเราต่างก็รู้ดีว่าน้องชายของพวกเราตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของพวกที่หวังเรียกคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตอนนี้ควรที่จะส่งศพของเขากลับคืนมาให้พวกเรา มันเป็นสิทธิของพวกเรา”

การเรียกร้องต้องการได้ศพของ กูรู กลับคืนมา ถือเป็นกรณีเรียกร้องเช่นนี้จากชาวแคชเมียร์เป็นกรณีที่สองแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีเสียงเรียกร้องต้องการให้ทางการส่งคืนร่างที่ไร้ชีวิตของ มักบูล ภัต (Maqbool Bhat) ผู้นำคนหนึ่งของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวแคชเมียร์ ซึ่งถูกแขวนคอและถูกฝังเอาไว้ในเรือนจำติหารเช่นกันเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1984 ภายหลังถูกศาลตัดสินว่ากระทำความผิดจริงตามข้อกล่าวหาที่ว่าเขาสังหารเจ้าหน้าที่อินเดียผู้หนึ่ง เวลานี้ชาวแคชเมียร์ยังคงเก็บรักษาหลุมฝังศพอันว่างเปล่าที่เตรียมไว้บรรจุร่างที่ไร้ชีวิตของ ภัต ภายใน “สุสานผู้สละชีพ” (Martyrs' Graveyard) ที่เมืองศรีนคร

การประหารชีวิต อัฟซัล กูรู คราวนี้ ได้กลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาอย่างแรงกล้าจากทั้งภาคประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ ตลอดทั่วทั้งแคชเมียร์ และเนื่องจากอินเดียกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า หลายๆ ฝ่ายจึงมีความเห็นว่า กูรู ถูกแขวนคอเพียงเพื่อเหตุผลทางการเมือง “ขี้ปะติ๋ว” และเขาไม่ได้รับความยุติธรรมในระหว่างการไต่สวนพิจารณาคดี (หมายเหตุผู้แปล – คดีนี้ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันมากในอินเดีย มีคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าการแขวนคอ อัฟซัล กูรู ในจังหวะเวลาที่ใกล้กับการเลือกตั้งเช่นนี้ เป็นเพราะพวกนักการเมืองคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่ในแดนภารตะโน้มเอียงไปในทางที่ต้องการให้ประหารชีวิตจำเลยผู้นี้ ขณะเดียวกับที่พรรคบีเจพี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาที่เป็นฝ่ายค้านสำคัญที่สุด ก็เร่งรัดกดดันรัฐบาลให้เร่งดำเนินการแขวนคอ)

“คดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของละครเรื่องการเลือกตั้งของอินเดีย และดังนั้นจึงมีการยื่นข้อเสนอ (ให้ดำเนินการประหารชีวิต) ซึ่งมีแรงจูงใจจากเหตุผลข้อพิจารณาเรื่องคะแนนเสียง โดยที่ชาวแคชเมียร์นั่นเองกำลังกลายเป็นแพะรับบาปถูกจับบูชายัญ” มิร์วาอิซ อุมาร์ ฟารูก (Mirwaiz Umar Farooq) ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนผู้หนึ่ง บอกไอพีเอสผ่านทางโทรศัพท์จากกรุงนิวเดลี ที่ซึ่งเขาถูกคุมขังเป็นเวลาสั้นๆ ภายหลังมีการแขวนคอ กูรู แล้ว

ขณะที่ ศาสตราจารย์อนุรธา ชีนอย (Anuradha Chenoy) แห่งวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา (School of International Studies) ของมหาวิทยาลัยชวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru University) ในกรุงนิวเดลี แสดงความคิดเห็นกับไอพีเอสผ่านทางโทรศัพท์ในทำนองเดียวกันว่าคดีนี้เต็มไปด้วยการแทรกแซงทางการเมือง เธอบอกว่า “ใช่เลย มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในทุกๆ ขั้นตอนทีเดียว และจริงๆ แล้วการพิจารณาคดีนี้เป็นการพิจารณาคดีในทางการเมือง ไม่ใช่การพิจารณาคดีเพื่อความยุติธรรมอะไรเลย”

ชีนอย กล่าวด้วยว่า ระบบศาลยุติธรรมของอินเดียนั้นเต็มไปด้วยช่องโหว่จุดบกพร่อง “ศาลอินเดียระดับล่างๆ และระบบการยุติธรรมโดยองค์รวม เมื่อไต่สวนพิจารณาคดีความบางประเภท ก็มักจะทำกันในลักษณะอย่างนี้เสมอๆ นั่นคือ ถ้าหากพวกเขาถือว่าใครหรือพวกไหนเป็นศัตรูแล้ว พวกเขาก็จะมองคดีความที่เขารับผิดชอบอยู่ไปตามทัศนะมุมมองอย่างนั้นเท่านั้น ไม่ใช่เป็นไปตามเนื้อผ้า” เธอบอก “เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การพิจารณาคดีของ กูรู นั้นไม่ได้ดำเนินไปอย่างยุติธรรมแต่อย่างใด”

ศาสตราจารย์หญิงผู้นี้ยังแสดงความเศร้าใจที่ไม่ได้มีการจัดให้ อัฟซัล ได้พบกับครอบครัวของเขา ซึ่งเป็นความปรารถนาอย่างสุดท้ายของนักโทษประหารผู้นี้ เธอบอกว่า “ความปรารถนาครั้งสุดท้ายก่อนตายของทุกๆ คนก็คือ ต้องการได้พบกับครอบครัวของเขา แต่มันช่างน่าเศร้าอะไรอย่างนี้ที่เขาไม่ได้รับโอกาสที่จะได้พบภรรยาของเขาและลูกชายของเขา ก่อนที่เขาจะถูกแขวนคอ”

ทางด้านเพื่อนๆ ของ กูรู ยืนยันว่า กูรู ได้ “เลิกเป็นพวกหัวรุนแรง” ตั้งแต่ตอนปลายทศวรรษ 1990 แล้ว และได้หันไปสร้างเนื้อสร้างตัวทำธุรกิจขายยา

ไซเอด อับดุล เราะห์มาน กีลานี (Syed Abdul Rehman Geelani) อาจารย์มหาวิทยาลัยเดลี (Delhi University) ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีเดียวกับ อัฟซัล กูรู แต่ได้รับการตัดสินปล่อยตัว เล่าว่าครอบครัวของ อัฟซัล กูรู ไม่ได้รับแจ้งจากทางรัฐบาลในเรื่องการดำเนินการประหารชีวิต “ภรรยาของเขาไม่ได้รู้ข่าวอะไรแม้แต่นิดเดียว ทั้งที่ตามกฎหมายแล้ว เธอมีสิทธิทุกๆ ประการที่จะได้พบเขาก่อนการประหาร” เขาบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส

“ผมเป็นคนโทรศัพท์ปลุกเธอขึ้นมาในตอนเช้าของวันประหาร (วันที่ 9 กุมภาพันธ์) และแจ้งให้เธอทราบเรื่องข่าวลือต่างๆ เกี่ยวกับการแขวนคอ อัฟซัล มันทำให้เธอตกใจมากเหลือเกินเนื่องจากเธอไม่ได้รู้ระแคะระคายอะไรมาก่อนอย่างสิ้นเชิง เธอบอกกับผมว่าเธอไม่ได้รับการติดต่ออะไรทั้งสิ้นจากทางการ”

ทางด้านรัฐมนตรีมหาดไทย อาร์ เค ซิงห์ (R K Singh) ของอินเดีย แถลงว่าได้มีการแจ้งให้ครอบครัวของนักโทษประหารรายนี้ทราบ โดยทางจดหมายที่ส่งทางไปรษณีย์ด่วน

เรื่องนี้ทำให้ โอมาร์ อับดุลเลาะห์ (Omar Abdullah) มุขมนตรีรัฐแคชเมียร์ กล่าวตอบโต้ว่า “ถ้าหากเราจะต้องแจ้งใครบางคนให้ทราบว่าสมาชิกในครอบครัวของเขากำลังจะถูกแขวนคอ ด้วยวิธีส่งจดหมายบอกไปทางไปรษณีย์ละก้อ มันก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงในระบบนี้แล้ว”

โอมาร์ อับดุลเลาะห์ บอกว่า การจัดการประหารชีวิตแบบนี้เป็นสิ่งที่เขา “ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย” ในการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ เอ็นดีทีวี อันเป็นทีวีช่องข่าวของอินเดีย เขากล่าวว่า “มีเสียงผู้คนจำนวนมากมายเหลือเกินในส่วนอื่นๆ ของประเทศนี้ ซึ่งเชื่อว่าหลักฐานในคดีนี้เป็นหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนัก”

ตามคำพูดของอับดุลเลาะห์ เรื่องนี้จะมีผลกระทบกระเทือนทางการเมืองในระยะยาว “เราเองสามารถที่จะรับมือกับผลกระทบกระเทือนในระยะสั้นได้ โดยที่เรานำเอามาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอมาใช้รับมือกับเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เรากำลังวิตกกังวลกันอยู่ก็คือผลกระทบกระเทือนทางการเมืองในระยะยาวจากการประหารชีวิตครั้งนี้” เขากล่าว

ทางด้าน เมห์บูบา มุฟติ (Mehbooba Mufti) ประธานของพรรคประชาธิปไตยประชาชน (Peoples Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในสภานิติบัญญัติของรัฐแคชเมียร์ บอกว่าในขณะที่ “การแขวนคอคราวนี้ไม่ควรเกิดขึ้นมาเลย แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลก็ควรคืนศพของ อัฟซัล ให้แก่ครอบครัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมีมนุษยธรรม”

รัฐบาลแคว้นแคชเมียร์นั้นได้ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้านตลอดทั่วทั้งรัฐ โดยที่มีรายงานว่ามีคนถูกฆ่าไปอย่างน้อยที่สุด 3 คนและบาดเจ็บอีกหลายสิบคน จากเหตุการณ์ปะทะกันหลายครั้งระหว่างตำรวจกับผู้คนที่ท้าทายไม่ยอมทำตามประกาศเคอร์ฟิว

นอกจากนั้นยังมีการปิดกั้นบริการต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะขัดขวางการประท้วงทางสื่อสังคม เช่นเดียวกับรายงานข่าวทางสื่อมวลชนต่างๆ ก็ถูกสกัดกั้นเหมือนกัน

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น