xs
xsm
sm
md
lg

‘จุดอ่อน’ที่ถูกเผยของกลุ่มก่อความไม่สงบชายแดนใต้ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: แอนโธนี เดวิส

การเตือนภัยจากพวกชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเผชิญปัญหาหนักของไทย ส่งผลให้ฝ่ายทหารสามารถตอบโต้จัดการซุ่มตีพวกแบ่งแยกดินแดนที่ยกกำลังบุกเข้าโจมตีค่ายทหารแห่งหนึ่ง จนทำให้พวกผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้เสียชีวิตไป 16 คน ความพ่ายแพ้คราวนี้ถือเป็นความเพลี่ยงพล้ำทางยุทธวิธีครั้งหนักหน่วงสาหัสที่สุดของการก่อกบฎของชาวมุสลิมมลายู นับตั้งแต่ที่เริ่มต้นขึ้นมาในปี 2004 อีกทั้งบ่งบอกให้เห็นด้วยว่าพวกผู้ก่อความไม่สงบได้บังเกิดความเชื่อมั่นมากเกินไปเกี่ยวกับความแข็งแกร่งที่แท้จริงของพวกเขา

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

อย่างไรก็ดี ยังคงมีคุณค่าเช่นเดียวกัน ถ้าหากเราจะพิจารณาเหตุการณ์ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จากแง่มุมของพลังพลวัตที่อยู่เบื้องลึกลงไปของการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองเช่นนี้แล้ว ความหายนะที่บาเจาะก็อาจจะเป็นหลักหมายที่สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันอย่างชนิดแทบมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ระหว่างแนวโน้มที่ตัดแย้งกัน 2 แนวโน้มซึ่งกำลังปะติดปะต่อก่อเป็นรูปลักษณ์ของวิวัฒนาการของสงครามความขัดแย้งคราวนี้ พูดโดยสรุปก็คือ มันเป็นการนองเลือดที่จะต้องเกิดขึ้นจนได้เมื่อสถานการณ์ดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่ง อีกทั้งยังน่าจะเกิดการนองเลือดเช่นนี้ขึ้นมาอีกในอนาคตข้างหน้า

แนวโน้ม 1ใน 2 แนวโน้มที่กล่าวถึงข้างต้น จัดเป็นแนวโน้มซึ่งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้วอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2011 เป็นต้นมา นั่นคือ ลักษณะวิธีการที่พวกผู้ก่อความไม่สงบกำลังพยายามที่จะใช้การประสานงานร่วมมือกันระหว่างหน่วยกำลังหน่วยต่างๆ เพื่อยกระดับการปฏิบัติการทางทหารขึ้นไปสู่ระดับที่สูงยิ่งขึ้น นี่ก็คือความพยายามในการพัฒนากองกำลังอาวุธกึ่งประจำ (semi-regular forces) ขึ้นมา กองกำลังอาวุธเหล่านี้มีอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ในระดับดี, ได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม, และแต่งกายในชุดพรางแบบทหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการดังกล่าวนี้อยู่ในลักษณะการรวมศูนย์กำลังโดยนำเอาหน่วยเล็กๆ ระดับหมู่บ้านที่มีกำลัง 6 หรือ 7 คน และรู้จักกันในชื่อ อาร์เคเค (RKK มาจากคำเต็มในภาษามาเลย์ว่า runda kumpulan kecil) มาสนธิกำลังขึ้นเป็นหมู่ (regu) ที่มีกำลังหมู่ละ 12 คน และเป็นหมวด (platong) 36 คน ยิ่งกว่านั้น การสนธิกำลังขึ้นเป็นกองกำลังอาวุธระดับกองร้อย (kompi) ซึ่งมีกำลังนักรบมากกว่า 100 คน และปฏิบัติการในระดับอำเภอ ก็ดูเหมือนอยู่ในช่วงของการก่อตัว

การประกาศตนให้ปรากฏ ทั้งในระดับของการซุ่มตีครั้งต่างๆ ที่มีการใช้กำลังนักรบก่อความไม่สงบขนาดหมู่ (10-20 คน) ตลอดจนการปฏิบัติการแบบ “มารือโบ โมเดล” อันน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น ซึ่งใช้กำลังขนาดหมวดหรือมากกว่านั้น พัฒนาการเช่นนี้โดยกรอบกว้างๆ แล้วก็อยู่ในแนวทางของพิมพ์เขียวซึ่งจัดทำขึ้นโดยพวกนักยุทธศาสตร์ของ ฝ่ายโคออดิเนต (Co-ordinate faction) ของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาเลย์-ปะตานี (Barisan Revolusi Nasional สำหรับภาษาอังกฤษใช้ว่า Patani-Malay National Revolutionary Front ขณะที่ฝ่ายโคออดิเนตของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ ใช้อักษรย่อตามคำเต็มในภาษามาเลย์ว่า BRN/C) ทั้งนี้ นักยุทธศาสตร์ของ BRN/C ถือว่าได้แสดงบทบาทการนำในแง่ของการสร้างกรอบความคิด (conceptualizing), การวางแผน, และการจัดตั้งกรอบโครงทางการเมือง-การทหารอย่างกว้างๆ ของการก่อกบฎในปัจจุบันขึ้นมา

ดังที่พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหารของไทยได้บังเกิดความเข้าใจแล้วว่า ความคิดในเชิงจัดตั้งของ BRN-C นั้นได้รับอิทธิพลอย่างชัดเจนจากบรรดาทฤษฎี “สงครามประชาชน” ของพวกเหมาอิสต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของโมเดลการทหารตามแบบฉบับของเหมาอิสต์แล้ว พัฒนาการของหน่วยนักรบจรยุทธ์ท้องถิ่นซึ่งจะเพิ่มขนาดใหญ่โตขึ้นไปจนท้ายที่สุดกลายเป็นกองกำลังก่อความไม่สงบในระดับภูมิภาคนั้น ปกติแล้วจะดำเนินคู่ขนานไปกับการค่อยๆ เชือดเฉือนเอาพื้นที่เคลื่อนไหวต่างๆ ออกมาเป็น “เขตปลดแอก” พื้นที่เหล่านี้แหละที่ฝ่ายก่อความไม่สงบจะสามารถจัดตั้งกลไกควบคุมทางการเมืองในระดับหนึ่งขึ้นมาดูแลประชากรในท้องถิ่น อีกทั้งมีความสามารถในการปฏิเสธไม่ยอมให้พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของรัฐเข้าๆ ออกๆ ได้อย่างง่ายดาย และก่อตัวเป็นพื้นที่ซึ่งกองกำลังจรยุทธ์จะสามารถใช้ในการขยายตัวและเปิดการโจมตีขนาดกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังไม่ได้ขยับเข้าใกล้การก่อตั้ง “เขตปลดแอก” ดังกล่าวนี้เลย ระยะเวลา 9 ปีที่บังเกิดความขัดแย้งนี้ขึ้นมา ฝ่ายก่อความไม่สงบดูเหมือนจะตกอยู่ในกับดักของความอิหลักอิเหลื่อในทางยุทธศาสตร์ โดยในขณะที่ด้านหนึ่งพวกเขากำลังพยายามพัฒนากองกำลังจรยุทธ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและโจมตีได้อย่างหนักหน่วงทรงพลังยิ่งขึ้น ทว่าหน่วยพื้นฐานขององค์กรทางทหารของพวกเขาก็ยังคงเป็นชุด RKK ปิดลับซึ่งฝังตัวอยู่ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ นั่นคือตามหมู่บ้านทั้งหลายที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของรัฐยังคงสามารถเข้าๆ ออกๆ ได้อย่างค่อนข้างเสรี

**ไม่มีเขตปลดแอก**

สถานการณ์เช่นนี้ดูจะมีเหตุผลอธิบายอยู่ 2 ประการ ประการแรกนั้นรวมศูนย์อยู่ที่ปัญหาในทางปฏิบัติ กล่าวคือ มันย่อมเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง ถ้าหากคิดจะจัดตั้ง “เขตปลดแอก” ขึ้นในเนื้อที่สู้รบขนาดเล็กๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีถนนตัดซิกแซกซอกซอนเข้าไปทั่ว แล้วยังถูกปกคลุมด้วยเครือข่ายการจัดวางกำลังของกองกำลังความมั่นคงอันกว้างขวางอีกด้วย

ประการที่สอง ยุทธศาสตร์ของ BRN-C ดูเหมือนจะได้กำลังวังชาในทางอุดมการณ์จากโมเดลการจัดองค์กรเพื่อการก่อกบฏที่ถือหมู่บ้านเป็นแกนกลาง พิจารณากันในแง่มุมกว้างขวางออกไป เรื่องนี้คงจะเป็นปฏิกิริยาต่อความพยายามก่อการรณรงค์ที่ประสบความล้มเหลวของการแบ่งแยกดินแดนในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 โดยที่ในตอนนั้นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มอื่นๆ ซึ่งที่โดดเด่นที่สุดก็น่าจะเป็น องค์การสามัคคีปลดแอกปะตานี (Patani United Liberation Organization หรือ PULO) และกลุ่ม BRN ฝ่ายคองเกรส (BRN-Congress) ซึ่งพยายามที่จะสร้างกองกำลังจรยุทธ์ขึ้นในพื้นที่ป่าเขาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แล้วมันก็กลับกลายเป็นการตัดขาดพวกเขาเองออกจากประชาชนที่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ไม่มี “เขตปลดแอก” การปฏิบัติการที่ใช้กองกำลังอาวุธขนาดใหญ่ขึ้น ก็จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการรวมศูนย์กำลังพวกสมาชิก RKK ระดับหมู่บ้านท้องถิ่น แล้วเพิ่มความแข็งแกร่งด้วย “กำลังคอมมานโด” ซึ่งผ่านการฝึกอบรมที่ดีขึ้นกว่า RKK โดยเรียกระดมคอมมานโดเหล่านี้จากอำเภอต่างๆ จำนวนหนึ่ง ในการเข้าตีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กองกำลังอาวุธของฝ่ายก่อความไม่สงบก็มีการดึงเอากำลังจากทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เกิดความขัดแย้ง นั่นคือทั้งใน ปัตตานี, นราธิวาส, และยะลา โดยที่นักรบส่วนใหญ่ที่สุดนั้นได้มาจากอำเภอบาเจาะ และอำเภอเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันอย่างอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส แต่ก็มีรายงานว่าคนจากทางอำเภอรามัน ในจังหวัดยะลา และอำเภอสายบุรี กับอำเภอกะพ้อ ของจังหวัดปัตตานี ก็ได้เข้าร่วมด้วย

การระดมนักรบจำนวนมากๆ เข้ามารวมตัวกัน, ดำเนินการจัดตั้งกำลัง, และหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติการก็กระจายพวกเขากลับออกไป วิธีการในลักษณะนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดความเสี่ยงอันใหญ่โตขึ้นในเรื่องการรักษาความลับของการปฏิบัติการ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่านักรบส่วนใหญ่นั้นพำนักอาศัยอยู่ในชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกพบเห็นร่องรอยโดยพวกสายข่าวของฝ่ายรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา พวกเขายังจำเป็นต้องเดินทางไปยังจุดรวมพลโดยที่ต้องผ่านจุดตรวจจำนวนหนึ่งของกองกำลังความมั่นคงตลอดจนผ่านหมู่บ้านอื่นๆ หลายแห่ง ขณะที่อาวุธและเครื่องกระสุนซึ่งเก็บซ่อนไว้ก็ต้องนำออกมาจากสถานที่ซุกซ่อน ทำการลำเลียงไปยังจุดนัดหมาย และทำการแจกจ่ายก่อนเริ่มต้นการปฏิบัติการ เมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงที่ปรากฏอยู่ในขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นความโดดเด่นอย่างแท้จริงด้วยซ้ำ ที่ขบวนการก่อความไม่สงบนี้ไม่ได้ประสบกับความหายนะในระดับที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ตั้งแต่ก่อนหน้านี้

ในขณะที่พวกแบ่งแยกดินแดนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน ต้องเผชิญกับความอิหลักอิเหลื่อในเรื่องทำอย่างไรจึงจะทำให้สงครามการสู้รบสามารถยกระดับสูงขึ้นไปอีก โดยที่ไม่ได้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการจัดตั้ง “เขตปลดแอก” ขึ้นมา พวกเขาก็ยังได้รับผลกระทบจากแนวโน้มใหญ่ประการที่สองในวิวัฒนาการของสงครามความขัดแย้งคราวนี้อีกด้วย แนวโน้มใหญ่ประการที่สองนี้ก็คือ การที่กองกำลังความมั่นคงกำลังเพิ่มความพยายามอย่างเป็นฝ่ายกระทำมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะก่อกวนและทำลายฐานองค์กรจัดตั้งระดับหมู่บ้านของพวกผู้ก่อความไม่สงบ ในปี 2012 ที่ผ่านมาเราได้พบเห็นกรณีการบุกเข้าตรวจค้นจับกุมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการปฏิบัติการในรูปของกองกำลังผสมเฉพาะกิจระดับอำเภอ โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมมีทั้งทหารบก, ตำรวจ, ทหารพราน, และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ซึ่งมีฐานะเป็นพลเรือน

การบุกตรวจค้นจับกุมโดยกองกำลังผสมเฉพาะกิจเหล่านี้ น้อยครั้งนักที่จะปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน โดยทั่วไปแล้วการปฏิบัติการจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วกินเวลาเพียงสองสามชั่วโมง และพุ่งเป้าหมายไปยังสถานที่ซึ่งต้องสงสัยเป็นเซฟเฮาส์ในหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ตลอดจนพวกทับกระท่อม, ที่พักชั่วคราว, และสถานที่เก็บซ่อนอาวุธ ซึ่งมักอยู่ในสวนยางและป่าทึบที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน บางครั้งบางคราวการปฏิบัติการเหล่านี้เป็นชนวนทำให้เกิดการยิงต่อสู้กันและมีการบาดเจ็บล้มตาย แต่บ่อยครั้งกว่านั้นที่มันมีผลในทางการจับกุมและการนำตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถามซึ่งค่อยๆ ก่อรูปขึ้นเป็นวงจรของข่าวกรองฝ่ายรัฐบาลที่ยกระดับมีคุณภาพสูงขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ชัด

ไม่ว่าข่าวรั่วไหลที่อยู่เบื้องหลังการซุมตีที่อำเภอบาเจาะ จริงๆ แล้วมาจากชาวบ้าน หรือจากเอกสารหลักฐานที่ยึดได้ หรือจากหนอนบ่อนไส้ภายในฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็ตามที สิ่งที่มีความสำคัญมากกว่านั้นอีกก็คือ ข่าวเช่นนี้ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางวงจรของข่าวกรองรัฐบาลที่ยกระดับมีคุณภาพมากขึ้นโดยรวม สำหรับทางฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบนั้น พวกเขามิได้อยู่เฉยแต่ได้ลงแรงใช้ความพยายามเพื่อตอบโต้แนวโน้มเช่นนี้ ด้วยวิธีการตามเก็บสังหารผู้ที่เป็นสายข่าวหรือต้องสงสัยว่าเป็นสายข่าวให้ฝ่ายรัฐบาล และด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในวงกว้างขึ้นมา ทว่าในเมื่อยังมิได้มีความรู้สึกกันขึ้นมาว่าพวกเขากำลังเป็นฝ่ายได้โมเมนตัมที่จะไปสู่การปิดเกมไม่ว่าในทางการเมืองหรือในทางการทหาร ยุทธวิธีเหล่านี้จึงดูไม่น่าเพียงพอที่จะสยบและสกัดกั้นกระแสคลื่นนี้ได้

มีความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์สิ้นชีวิตล่าสุดในอำเภอบาเจาะ จะถูกพวกผู้ก่อความไม่สงบใช้เป็นเครื่องกระตุ้นชักจูงระดมหาสมาชิกใหม่ๆ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นภายหลังกรณีการสังหารที่มัสยิดกรือเซะ และที่อำเภอตากใบ ในปี 2004 แทบจะเป็นการแน่นอนอยู่แล้วที่พวกเขาจะต้องกระตุ้นยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในระยะไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ไปเพื่อแสดงออกซึ่งการตอบโต้ระบายความเคียดแค้น ทว่าความรุนแรงเช่นนี้จะไม่สามารถให้คำตอบต่อความสภาพความอิหลักอิเหลื่อทางการทหาร อันเกิดจากคำถามที่ว่าขบวนการก่อความไม่สงบนี้วาดหวังที่จะทำให้การต่อสู้ขัดแย้งนี้เดินไปสู่อะไร

การไม่สามารถให้คำตอบดังกล่าว อาจทำให้พวกผู้ก่อความไม่สงบชาวมาเลย์ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีความเสี่ยงที่จะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับพวกผู้แบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมในแคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย กล่าวคือ ถึงแม้ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนคนส่วนใหญ่ในพื้นที่อย่างกว้างขวาง แต่ในที่สุดแล้วการก่อความไม่สงบก็อ่อนล้าลงเรื่อยๆ ทั้งจากความล้มเหลวของยุทธศาสตร์, ความรู้สึกเบื่อหน่ายสงครามที่ทวีขึ้นทุกที, และการปรากฏตัวอย่างไม่ท้อถอยของกองกำลังความมั่นคงของฝ่ายรัฐบาล

แอนโธนี เดวิส ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงให้แก่ ไอเอสเอส-เจนส์ (IHS-Jane's) ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น