xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องราวของ‘มิสคิม’ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: อันเดร ลันคอฟ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The world of Miss Kim
By Andrei Lankov
07/02/2013

ไม่ใช่ว่าผู้อพยพลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือทุกๆ คนจะต้องต่อสู้ด้วยความยากลำบากกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ใหม่เอี่ยมไม่คุ้นเคย เมื่อสามารถดิ้นรนจนผ่านพ้นออกมาพำนักอาศัยในเกาหลีใต้ได้สำเร็จแล้ว เรื่องราวของ “มิสคิม” ผู้ซึ่งเวลานี้ใช้ชีวิตอยู่อยู่สุขสบายในกรุงโซล ภายหลังหลบหนีออกมาจากดินแดนโสมแดงได้อย่างราบรื่นในช่วงทศวรรษ 2000 ด้วยการ“จัดให้”ของพ่อแม่ของเธอเอง คือตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกซึ่งความฉลาดหลักแหลมมากพอที่จะทำมาหากินในตลาดมืดตลอดจนในระบบเส้นสายทางการเมืองของโสมแดงได้ ย่อมสามารถที่จะรุ่งเรืองก้าวหน้าในโลกสมัยใหม่ได้เช่นกัน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

มารดาของ “มิสคิม” กลับมีความวิตกกังวลอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับบุตรสาวของเธอ เวลานั้นมิสคิมมีอายุอยู่ในวัย 20 ปีกลางๆ ทว่ายังไม่ได้แต่งงาน เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาประการหนึ่ง เพราะในเกาหลีเหนือนั้น เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่จะทึกทักกันเอาไว้ก่อนว่า ผู้หญิงทุกๆ คนเมื่ออายุย่างเข้า 27 หรือ 28 ปี จะต้องแต่งงานแล้วทั้งสิ้น

บิดามารดาของมิสคิมไม่ต้องการให้เธอแต่งงานกับบุตรชายของนักธุรกิจตลาดมืดที่ประสบความสำเร็จงดงามผู้หนึ่ง ดังที่มารดาของมิสคิมเคยพูดอยู่หลายๆ ครั้งว่า “ทุกวันนี้ อำนาจไม่ได้มีความหมายอะไรนักหรอกถ้าหากไม่มีเงินทอง แต่เงินทองก็ไม่มีความหมายอะไรมากมายเลยเช่นกันถ้าหากไม่มีอำนาจ”

คล้ายๆ กันไม่ใช่น้อยกับความคิดของพวกครอบครัวชนชั้นนายทุนในยุโรปยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ต้องการให้บุตรสาวของพวกเขาได้แต่งงานกับพวกลูกหลานของเหล่าตระกูลขุนนางชนชั้นสูง บิดามารดาของมิสคิมก็ต้องการให้เธอหาสามีจากชนชั้นนำผู้กุมอำนาจของเกาหลีเหนือ เป็นต้นว่า เจ้าหน้าที่ของพรรค, นายตำรวจ, หรือที่ดียิ่งกว่านั้นก็คือ หนุ่มอนาคตไกลในแวดวงตำรวจลับ

เพื่อดำเนินการตามแผนการดังกล่าวนี้ บิดามารดาของมิสคิมจึงต้องมองหาอาชีพอันถูกกฎหมายและมีศักดิ์ศรีให้แก่บุตรสาวคนนี้ จะได้สามารถนำเสนอตัวเธอต่อประชาคมส่วนใหญ่ ในฐานะที่เป็นหญิงสาวโสดผู้ทรงเกียรติที่ยังไม่มีคู่ครอง นี่เองคือเหตุผลที่ทำไมมารดาของมิสคิมจึงต้องหาทางวิ่งเต้นจนกระทั่งมิสคิมได้งานในตำแหน่งพนักงานพิมพ์คอมพิวเตอร์ ณ ศาลาว่าการนคร (หรือที่เรียกขานกันอย่างเป็นทางการในเกาหลีเหนือว่า ที่ทำการคณะกรรมการประชาชนของนคร)

งานในตำแหน่งนี้ไม่ได้มีอะไรต้องทำมาก แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็เรียกได้ว่าไม่มีเงินเดือนอะไรให้เช่นกัน ทั้งนี้เงินเดือนทั้งเดือนของมิสคิมยังไม่สามารถซื้อบะหมี่ร้อนๆ รสชาติพอใช้สักชามหนึ่งในร้านอาหารเอกชนสักแห่งหนึ่งในเมืองดังกล่าวด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอะไรเลย เพราะเมื่องมองจากมาตรฐานของเมืองที่เธอพำนักอาศัยแห่งนั้น มิสคิมเป็นทายาทสาวของครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ โดยที่ตัวเธอเองก็มีการงานที่มีหน้ามีตา (และเป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่า ตัวเธอก็จะเหมือนๆ กับผู้หญิงเกาหลีเหนือเกือบทุกๆ คน คือจะลาออกจากตำแหน่งราชการหลังจากแต่งงานแล้ว โดยอาจจะหันไปทำงานอยู่ในธุรกิจของมารดาของเธอ)

ตัวมิสคิมเองไม่ได้รังเกียจความมุ่งมาดปรารถนาที่มารดาของเธอจัดเตรียมเอาไว้ให้แก่เธอเลย เธอบอกกับผู้เขียน (อันเดร ลันคอฟ) ว่า ในเวลานั้น เธอเคยวาดหวังที่จะได้แต่งงานกับเจ้าหน้าที่สักคนจากวงการตำรวจลับจริงๆ บิดามารดาของเธอใช้ความพยายามอย่างหนักจนกระทั่งค้นพบชายที่มีคุณสมบัติสมควรแก่การให้บุตรสาวแต่งงานด้วยประมาณ 2-3 คน ทว่ายังไม่สามารถที่จะบรรลุข้อตกลงสุดท้ายกันได้เสียที

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ครอบครัวของเธอกำลังไปได้สวยมาก ไม่ว่าจะวัดกันด้วยมาตรฐานอะไรก็ตามที พวกเขาคือครอบครัวชาวเกาหลีเหนือที่เป็นชนชั้นกลางระดับสูง (upper middle-class) สมาชิกทุกๆ คนในครอบครัวต่างมีจักรยานคนละคัน, ภายในบ้านมีเครื่องรับโทรทัศน์ 2 เครื่อง, และภายในครัวแขกผู้มาเยือนสามารถมองเห็นตู้เย็นตั้งตระหง่านอยู่ 1 เครื่อง (ถึงแม้เนื่องจากกระแสไฟฟ้ามักดับอยู่เป็นประจำ ตู้เย็นเครื่องนี้จึงแทบไม่ได้เปิดสวิตช์ใช้งานเลย กระนั้นการมีตู้เย็นปรากฏให้เห็นก็ยังคงถือเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความสำเร็จประการหนึ่ง) พวกเขายังมีเครื่องเล่นดีวีดีเครื่องหนึ่ง ตลอดจนเครื่องรับวิทยุแบบหมุนเปลี่ยนคลื่นได้อีก 1 เครื่อง ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วเป็นอุปกรณ์ที่ผิดกฎหมาย ทว่ากำลังพบเห็นกันได้ทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ ครอบครัวของมิสคิมยังสามารถหาเนื้อสัตว์และปลามารับประทานเมื่อใดก็ได้ตามปรารถนา และกระทั่งสามารถว่าจ้างคนงานมาช่วยเหลือทำงานบ้านเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ

กระนั้นก็ดี โดยส่วนใหญ่แล้ว อาจารย์คิม ผู้บิดาของมิสคิมนั่นแหละ คือผู้ที่ทำงานบ้านเป็นตัวหลัก ซึ่งแตกต่างไปจากผู้ชายชาวเกาหลีเหนือจำนวนมาก ตัวเขามีความเต็มอกเต็มใจเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือภรรยาของเขา ซึ่งกลายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวแต่เพียงผู้เดียวไปแล้วอย่างแท้จริง

แต่แล้วในวันหนึ่ง บิดามารดาของเธอก็ประกาศว่า พวกเขารู้สึกว่าพอเสียทีแล้ว พอเสียทีสำหรับภาวะไร้เสถียรภาพไร้ความมั่นคง พอเสียทีสำหรับความจำเป็นที่จะต้องติดสินบนและความหวาดกลัวทั่วๆ ไปเกี่ยวกับอนาคตอันไม่แน่นอน ด้วยเหตุนี้ครอบครัวนี้จึงตัดสินใจที่จะหลบหนี ดูเหมือนว่าบิดามารดาของมิสคิมได้ขบคิดพิจารณาทางเลือกนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ไม่ได้เคยระแคะระคายให้บุตรสาวของพวกเขาทราบเลยว่า ได้เคยมีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้นี้ ตลอดจนมีการวางแผนเตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้อย่างเงียบๆ มิสคิมเพิ่งทราบเรื่องเกี่ยวกับแผนการนี้เอาในนาทีสุดท้าย แต่ก็ยอมรับมันในทันทีและโดยไม่ได้มีการต่อต้านทัดทานอะไรมากมายด้วย

การหลบหนีไปยังเกาหลีใต้ได้รับการวางแผนโดยมิสคิมผู้น่าเกรงขาม และสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรประหลาดใจอะไร ในเมื่อการหลบหนีไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นเลยในช่วงเวลาสองสามปีหลังมานี้ ถ้าหากคุณมีเงินทองที่จำเป็นสำหรับจ่ายให้พวกเจ้าหน้าที่, คนนำทาง, และนายหน้า (ในระยะไม่นานมานี้สิ่งต่างๆ ดูจะยากเย็นมากขึ้น ทว่าเงินทองก็ยังสามารถเป็นตัวช่วยที่ดีอยู่นั่นเอง)

เวลานี้ดูเหมือนว่าครอบครัวคิมสามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ของพวกเขาได้อย่างดีมากๆ มารดาของมิสคิมไม่ได้เป็นนักธุรกิจอีกต่อไปแล้ว แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกเสียอกเสียใจอะไรในเรื่องนี้ เธอมีอายุมากขึ้นและเธอก็เชื่อว่าเสถียรภาพความมั่นคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่าอะไรอื่นทั้งหมด เธอยังมีความสุขที่ได้เห็นบุตรสาวของเธอกำลังได้รับการศึกษาอย่างดี และจะมีชีวิตอยู่ในสังคมทันสมัยและพัฒนาแล้ว

มิสคิมมีผลการเรียนที่ดีในมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ มันมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากทีเดียวจากการที่ในช่วงซึ่งยังอยู่ในเกาหลีเหนือนั้น ครอบครัวของเธอมีเงินทองสามารถว่าจ้างครูมาสอนพิเศษได้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงมีการเตรียมตัวเพื่อรับกับสภาพแวดล้อมทางการศึกษาของเกาหลีใต้ อย่างดีเยี่ยมยิ่งกว่าเพื่อนๆ ชาวเกาหลีเหนือของเธอแทบทุกคน

มันก็เหมือนกับกรณีอื่นๆ ที่พบเห็นกันบ่อยๆ คนที่ครั้งหนึ่งเคยประสบความสำเร็จเมื่อตอนที่อยู่ในเกาหลีเหนือ มีความโน้มเอียงที่จะทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ ในการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในเกาหลีใต้ เมื่อไม่นานมานี้มิสคิมบอกกับผมว่าเธอกำลังจะเรียนต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งผมก็อวยพรให้เธอประสบความสำเร็จ

**หมายเหตุผู้แปล**

[1] ระบบจัดสรรอาหารภาครัฐ (Public Distribution System หรือ PDS) เกาหลีเหนือถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจถูกวางแผนจากส่วนกลางอย่างเข้มข้น ในเรื่องของอาหารนั้น ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ชาวเกาหลีเหนือส่วนข้างมากได้รับอาหารของพวกเขาผ่านทางระบบการจัดสรรอาหารภาครัฐนี้ โดยที่ PDS บังคับชาวนาในเขตพื้นที่เกษตรกรรมต่างๆ ให้ส่งมอบผลผลิตของพวกเขาจำนวนหนึ่งแก่รัฐบาล และจากนั้นรัฐบาลก็นำเอาผลผลิตเหล่านี้ไปจัดสรรปันส่วนให้เขตตัวเมืองทั้งหลายซึ่งไม่สามารถเพาะปลูกอาหารของตนเองได้ ประมาณ 62% ของประชากรทั่วทั้งเกาหลีเหนือ ซึ่งก็เท่ากับประชากรในเขตเมืองทั้งหมดของโสมแดงนั่นเอง ได้รับอาหารผ่านทางระบบที่ดำเนินการโดยรัฐบาลนี้ ในอดีต ผู้ที่ได้รับปันส่วนอาหารเหล่านี้โดยทั่วไปแล้วจะได้รับจัดสรรประมาณ 600-700 กรัมต่อวัน ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูง, ทหาร, ผู้ใช้แรงงานหนัก, และบุคลากรด้านความมั่นคงสาธารณะ ได้รับจัดสรรมากกว่า โดยอยู่ในระดับ 700-800 กรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณอาหารปันส่วนได้เริ่มถูกลดลงมาตั้งแต่ปี 1973 ตอนที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโสมแดงเริ่มต้นย่ำแย่ลง จากนั้นก็ถูกตัดลงมาอีก 10% ในปี 1989 และอีก 10% เช่นกันในปี 1992 ครั้นแล้วเกาหลีเหนือก็เผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 1995 และผลการเก็บเกี่ยวในปี 1996 ปรากฏว่าได้ธัญญาหารเพียงแค่เกินครึ่งหนึ่งของระดับก่อนเกิดวิกฤต ผลิตผลที่ได้ลดลงเช่นนี้ยิ่งกระทบกระเทือนปริมาณอาหารที่สามารถนำมาจัดสรรปันส่วนผ่านทางระบบ PDS ยิ่งกว่านั้นภาวะขาดแคลนยังยิ่งหนักหน่วงซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศมาตรการจำกัดกิจกรรมของพวกชาวนาเพิ่มขึ้น ในเมื่อชาวนาผู้ซึ่งไม่ได้รับปันส่วนอาหารจาก PDS ด้วย ถูกรัฐบาลบังคับให้ลดส่วนแบ่งอาหารของพวกเขาเองลงมาจากที่เคยถือว่าพวกเขาสามารถกันเอาธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวได้ ออกมาเป็นส่วนที่พวกเขาใช้รับประทานเองในปริมาณ 167 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ก็ให้เหลือเพียงแค่ 107 กิโลกรัม ชาวนาจำนวนมากจึงตอบโต้ด้วยการไม่ส่งมอบธัญญาหารส่วนที่พวกเขาถูกเกณฑ์ให้นำส่งรัฐบาล จากปากคำของพวกผู้ลี้ภัยหลบหนีความอดอยากจากเกาหลีเหนือ มีความเป็นไปได้ที่ในบางเขตพื้นที่ รัฐบาลได้ลดปริมาณการปันส่วนอาหารของ PDS ลงมาเหลือเพียง 150 กรัมในปี 1994 และหดลงมาเหลือแค่ 30 กรัมเมื่อถึงปี 1997 นอกจากนั้นยังมีรายงานต่อมาอีกว่า ในบางเขตพื้นที่ PDS ล้มเหลวไม่ได้จัดสรรปันส่วนอาหารใดๆ ให้เลยในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงสิงหาคม 1998 และอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 1999 คำให้การของผู้ลี้ภัยที่มีรายละเอียดไม่ค่อยตรงกันเหล่านี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า ระบบ PDS ในบางเขตพื้นที่อาจจะอยู่รอดยืนยาวกว่าเขตพื้นที่อื่นๆ ตัวเมืองบางแห่ง PDS อาจจะงดปันส่วนอาหารให้ตั้งแต่ช่วงปี 1993 หรือ 1994 แล้ว แต่ตัวเมืองส่วนใหญ่ได้งดไปตอนประมาณปี 1995 หรือ 1996 ต่อมาในเดือนมกราคม 1998 มีรายงานว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า PDS จะไม่แจกจ่ายอาหารปันส่วนอีกแล้ว และครอบครัวต่างๆ ต้องหาทางซื้อหาอาหารกันเอาเอง กระนั้นจนกระทั่งถึงปี 2005 ก็ยังมีข่าวว่า PDS ยังคงปันส่วนอาหารให้อยู่ในบางเขตพื้นที่ ทว่าจ่ายให้แต่ละครอบครัวเพียงประมาณครึ่งเดียวของปริมาณแคลอรีต่ำสุดที่ร่างกายของมนุษย์แต่ละคนจำเป็นต้องใช้ ในเมื่อชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ไม่สามารถพึ่งพาอาศัย PDS ได้อีกแล้ว พวกเขาจะหาอาหารจากไหนมาบริโภค คำตอบก็คือพวกเขาไปซื้อจากตลาด ถึงแม้เงินเดือนทั้งเดือนของอาจารย์มหาวิทยาลัยอาจไม่เพียงพอที่จะหาซื้อข้าวได้สัก 7 กิโลกรัม แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครในแดนโสมแดงอีกแล้วที่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้เพียงด้วยเงินเดือนจากทางการเท่านั้น ทั้งนี้ประมาณการกันว่า ในตอนต้นทศวรรษ 2000 ครอบครัวชาวเกาหลีเหนือโดยเฉลี่ยสามารถทำรายได้ราว 80% ของพวกเขาจากการทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ (ข้อมูลจาก Wikipedia และข้อเขียนเรื่อง North Korea's antique food rationing ของ ดร.อันเดร ลันคอฟ, Asia Times Online, Jan 15, 2005)

ดร.อันเดร ลันคอฟ เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะเอเชียศึกษา, ศูนย์จีนและเกาหลี ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ( Faculty of Asian Studies, China and Korea Center, Australian National University) เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเลนินกราด(Leningrad State University) โดยได้รับปริญญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์ตะวันออกไกลและจีน (PhD in Far Eastern history and China) เน้นหนักเรื่องเกาหลี วิทยานิพนธ์ของเขาโฟกัสที่เรื่องการแตกแยกเป็นฝักฝ่ายต่างๆ ในสมัยราชวงศ์อี (Yi Dynasty) เขามีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือและบทความว่าด้วยเกาหลีและเอเชียเหนือจำนวนหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น