xs
xsm
sm
md
lg

ตราหน้า “ญี่ปุ่น” เป็นปีศาจปั่นค่าเงิน แถมตลาดยังไม่เชื่อคำแถลงกลุ่มจี 7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ญี่ปุ่นกำลังถูกมองว่าเป็นปีศาจร้ายในดรามาศึกค่าเงินดุเด็ดเผ็ดร้อน โดยเจอข้อกล่าวหากดค่าเงินเยนลงต่ำเพื่อกระตุ้นส่งเสริมเศรษฐกิจที่อ่อนแอมากของตน ขณะที่คำแถลงเมื่อวันอังคาร (12 ก.พ.) จากพวกบิ๊กมหาอำนาจทางการเงินเจ้าเก่าทั้ง 7 ล้มเหลวไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดได้ ก่อนที่เวทีกลุ่มจี20 จะรูดม่านเปิดประชุมกันในปลายสัปดาห์นี้แล้ว

สงครามปะทะคารมระดับโลกคราวนี้ รัฐบาลใหม่ในโตเกียวปฏิเสธข้อกล่าวหาปั่นค่าเงิน และยืนกรานอีกครั้งว่า มาตรการใช้จ่ายชุดใหม่ตลอดจนการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกของตนมีเป้าหมายอยู่ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เติบโตจืดชืดและเผชิญภาวะเงินฝืดมา 2 ทศวรรษ

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำพูดและท่าทีของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ เป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดค่าเงินเยนดำดิ่งลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งสร้างความขุ่นเคืองแก่เจ้าหน้าที่ยุโรปบางคนที่ส่งสัญญาณว่า อาจงัดมาตรการแทรกแซงมาใช้บ้างเพื่อดึงเงินยูโรให้อ่อนค่าด้วยเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้ส่งออกของยุโรป

ในขณะที่เสียงพูดถึงสงครามค่าเงินตรากำลังดังอื้ออึงไปทั่วนี้เอง บรรดารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญของโลก (จี7) ก็ได้ออกคำแถลงสั้นๆ เตือนว่า ความปั่นป่วนในตลาดเงินตราอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน พร้อมกับยืนยันพันธสัญญาที่มีมายาวนานในการปล่อยให้ตลาดเป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งระบุว่าจะปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการลงมือปฏิบัติการในตลาดปริวรรตเงินตรา

จี7 ซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และแคนาดา ยังระบุในคำแถลงว่า จะดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพียงเพื่อตอบสนองเป้าหมายต่างๆ ภายในประเทศของพวกตนเท่านั้น ไม่ใช่ที่อัตราแลกเปลี่ยน

ตลาดซึ่งสับสนไม่แน่ใจว่าคำแถลงของจี7 คราวนี้แปลว่าอะไรแน่ ในตอนต้นๆ ได้ดึงเยนอ่อนลง โดยเดิมพันว่า มหาอำนาจกลุ่มนี้สนับสนุนความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจของโตเกียว แต่ไม่นานนักสกุลเงินของญี่ปุ่นก็กลับดีดขึ้น

พวกนักวิเคราะห์มองใหม่ว่า คำแถลงของจี7 แท้จริงแล้วต้องการตำหนิโตเกียว ในบรรยากาศที่มีการพูดถึงประเด็นสงครามค่าเงินของโลกอย่างดุเดือดเพิ่มขึ้น ก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ของโลก (จี20 ) ที่กรุงมอสโก ปลายสัปดาห์นี้

ทั้งนี้เห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ตั้งคำถามตรงไปตรงมาต่อนโยบายของโตเกียว ขณะที่ฝรั่งเศสก็เรียกร้องให้ยูโรโซนหารือและออกมาตรการปกป้องการส่งออกของเขตสกุลเงินยูโร

กระนั้น มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กลับแสดงท่าทีประณีประนอมโดยบอกว่า เรื่องสงครามค่าเงินเป็นการพูดเกินเลยความจริง

ด้าน ทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น พยายามเสนอการตีความว่า คำแถลงของจี7 จริงๆ แล้วเป็นการประณามพวกที่กล่าวหาโตเกียวปั่นค่าเงินต่างหาก

ทว่าแบงก์ชาติออสเตรเลีย (เอ็นเอบี) สวนกลับทันควันว่า คำแถลงดังกล่าวเป็นการปรามญี่ปุ่นโดยตรง ในเวลาเดียวกับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กำลังเริ่มการประชุมนโยบายเป็นเวลาสองวัน ซึ่งเป็นที่จับจ้องของตลาดว่า จะมีการประกาศมาตรการผ่อนคลายใหม่ๆ เพื่อดึงเงินเยนให้อ่อนลงต่ออีกหรือไม่

ฮิโรมิชิ ชิรากาวะ นักวิเคราะห์ของเครดิต สวิสในโตเกียว มองว่า เวลานี้ยุโรปมีท่าทีคัดค้านญี่ปุ่นอย่างรุนแรงกว่าที่เคยคิดไว้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่อาวุโสของโตเกียวคงจะไม่กล้าออกมาพูดทีเล่นทีจริงเกี่ยวกับเงินเยน ชนิดที่ส่งอิทธิพลต่อนโยบายในอนาคตบ่อยๆ เหมือนเดิมแล้ว

เวลานี้ค่าเงินญี่ปุ่นอ่อนลงมาจนอยู่แถวๆ 93 เยนแลกได้ 1 ดอลลาร์ และ 125 เยนแลกได้ 1 ยูโร ซึ่งเท่ากับลดลง 17% และ 25% ตามลำดับ จากช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ตอนที่ญี่ปุ่นมีการประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า ชัยชนะจะตกเป็นของอาเบะที่เป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น

การอ่อนตัวของเยนขณะนี้ช่วยส่งเสริมผู้ส่งออกญี่ปุ่นที่ปีที่แล้วร้องเรียนว่า ได้รับความเสียหายจากเยนแข็ง

เคอิชิ โคบายาชิ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิในโตเกียว สำทับว่า ญี่ปุ่นไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เยนอ่อนค่าเป็นที่ปรารถนาของภาคส่งออก

อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเยนเวลานี้ก็เปรียบเสมือนเป็นดาบสองคม เนื่องจากทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าและการลงทุนในต่างประเทศล้วนแต่แพงขึ้น กระทั่งผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดยังไม่ปลาบปลื้ม โดยผู้บริหารโซนี่และซูซูกิ มอเตอร์ ต่างออกมาเตือนว่า ไม่ว่าโตเกียวจะต้องการอย่างไร เยนก็ไม่อาจอ่อนค่าได้ยาวนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น