เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - เครือข่ายองค์กรด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนชื่อดัง “โอเพน โซไซตี้ ฟาวเดชันส์” หรือ “โอเอสเอฟ” ที่มี จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินชื่อก้องโลกเป็นประธาน เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดเมื่อวันอังคาร (5) โดยระบุว่ามีอย่างน้อย 54 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่แอบให้ความช่วยเหลือแบบลับๆ ต่อสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ในการจัดตั้ง “คุกลับ” ไว้กักขังและทรมานผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้าย
รายงานฉบับล่าสุดที่จัดทำโดยองค์กรโอเอสเอฟของนายจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินวัย 82 ปีชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี และมีการเผยแพร่ที่สำนักงานใหญ่ในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (5) ระบุว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 54 ประเทศทั่วโลกที่ให้ความช่วยเหลือต่อซีไอเอในโครงการจัดตั้งคุกลับในดินแดนของตนเพื่อใช้สอบสวนและทรมานผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายของซีไอเอ รวมถึงยังให้ความช่วยเหลือในลักษณะของการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยใช้ “วิธีการพิเศษ” ที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติของกฎหมาย
โอเอสเอฟซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1993 ยืนยันพบข้อมูลว่า ในจำนวน 54 ประเทศทั่วโลกที่รู้เห็นเป็นใจกับซีไอเอนั้น มีประเทศไทย ออสเตรเลีย ไอซ์แลนด์ อิตาลี มาเซโดเนีย และโมร็อกโก รวมอยู่ด้วย ซึ่งรัฐบาลของหลายประเทศในกลุ่มนี้อนุญาตให้เครื่องบินของซีไอเอใช้น่านฟ้าของตนได้อย่างเสรี และมี “บางประเทศ” ที่ถึงขั้นยอมให้เจ้าหน้าที่และสายลับซีไอเอตั้ง “คุกลับ” ในดินแดนอธิปไตยของตนสำหรับใช้เป็นสถานที่คุมขังบุคคลที่ซีไอเอ สงสัยว่าพัวพันกับการก่อการร้าย
รายงานของโอเอสเอฟยังอ้างว่า ที่ผ่านมามีผู้ที่ถูกควบคุมตัวในคุกลับของซีไอเอในประเทศต่างๆ รวม 136 คน และรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ต่างรู้เห็นเป็นใจอย่างดีกับการสอบสวนและการทรมานผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ของซีไอเอ โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขัดต่อหลักจริยธรรม
รายงานฉบับดังกล่าวยังประณามความร่วมมืออย่างโจ่งแจ้งของรัฐบาล 54 ประเทศกับซีไอเอดังกล่าวว่าเป็นการจงใจกระทำปฏิบัติการต่างๆมากมายที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และเป็นการบ่อนทำลายความเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเลวร้าย
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าขณะนี้ได้มีการยื่นฟ้องร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (EctHR) ที่เมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส โดยผู้ที่ยื่นฟ้องก็คือ บรรดาอดีตผู้ที่ถูกควบคุมตัวในคุกลับของซีไอเอในประเทศต่างๆนั่นเองและเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลฯ ได้มีคำตัดสินว่ารัฐบาลของประเทศมาเซโดเนียในคาบสมุทรบอลข่านกระทำการละเมิดสิทธิของนาย “คาเลด เอล มาสรี” ชาวเลบานอน ซึ่งเกิดที่คูเวตและถือสัญชาติเยอรมนี ด้วยการรู้เห็นเป็นใจกับซีไอเอในการคุมขังเขาไว้ในคุกลับแห่งหนึ่ง
ส่วนในอิตาลีก็มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอของสหรัฐฯ รวมถึงเจ้าหน้าที่หลายนายของหน่วยงานความมั่นคงของอิตาลี ในคดีที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นการยืนยันว่า “คุกลับ” ของซีไอเอในต่างประเทศนั้นมีอยู่จริง