เทเลกราฟ - กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษย์หันมาพึ่งแผนที่โลกดิจิตอลใหม่ของ "กูเกิล เอิร์ธ" ในการระบุที่ตั้งเครือข่ายขนาดใหญ่ของค่ายเชลยลับ ในชนบทเกาหลีเหนือ ซึ่งคาดว่ากักกันตัวผู้เป็นปรกปักษ์ต่อรัฐบาลเปียงยางไว้มากกว่า 200,000 คน
กลุ่มสิทธิมนุษย์ต่างๆ กำลังเร่งเร้าให้ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีเอชอาร์) เปิดการสอบสวนระดับสากล ในประเด็นสิทธิพลเมืองที่น่าสังเวชของโสมแดง รวมถึงระบบเรือนจำนักโทษการเมือง ซึ่งใช้งานมานานกว่า 50 ปีแล้ว
ขณะที่เปียงยางยืนกรานปฏิเสธว่า ค่ายกักกันดังกล่าวไม่มีอยู่จริง และเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของต่างชาติเท่านั้น ทว่า ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากนอกอวกาศพิสูจน์ว่าข้ออ้างของเกาหลีเหนือนั้นไม่เป็นความจริง
ในวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์นอร์ทโคเรียน อีโคโนมิก วอตช์ประกาศว่า ค่ายเชลยแห่งใหม่เพิ่งถูกระบุสถานที่ตั้ง โดยอยู่ใกล้กับทัณฑสถานเดิมที่มีอยู่แล้วในเมืองแคชอน จังหวัดพย็องอันใต้ ซึ่งเคอร์ทิส เมลวิน นักวิเคราะห์จากสหรัฐฯ ได้อาศัยภาพจากกูเกิล เอิร์ธ สรุปไว้ว่า ค่ายกักกันแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ถัดจาก แคมป์ 14 และมีรั้วรอบนอกยาวเกือบ 13 ไมล์
ค่ายดังกล่าวถูกสร้างขึ้นตั้งแต่มีการเผยแพร่ภาพสถานที่แห่งนี้ในเดือนธันวาคม ปี 2006 โดยรั้วรอบนอกมีจุดตรวจ 2 จุด และป้อมยาม 6 แห่ง ขณะที่ส่วนที่พัก และอาคารสำนักงานจำนวนหนึ่ง ก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในภาพ แต่เมลวินเสริมว่า เหมืองถ่านหินที่ปรากฏในแผนที่นั้นไม่น่าจะยังใช้งานอยู่
ทั้งนี้ ชาวเกาหลีเหนือน้อยคนนักที่จะสามารถหลบหนีออกจากค่ายเชลย และเป็นอิสระภายนอกชายแดนของประเทศ ทว่า ผู้ที่สามารถรอดพ้นมาได้ก็เคยเล่าถึงความยากลำบากแสนสาหัสภายในสถานที่แห่งนั้น
นักโทษ ที่อาจต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตชั่ว 3 อายุคน ด้วยความผิดฐานกระทำการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อรัฐบาล ถูกบังคับให้กินหนูเป็นอาหาร หรือควานหาเมล็ดข้าวโพดจากมูลสัตว์ขึ้นมากิน ตามคำบอกเล่า
นักเคลื่อนไหวระบุว่า ราว 40% ของนักโทษเสียชีวิตเนื่องจากขาดสารอาหาร เป็นโรค ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทรมานกดขี่ข่มเหงโดยผู้คุม หรือไม่ก็ทำงานหนักจนตาย ไม่ว่าชาย หญิง และเด็กต่างต้องทำงานมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน ในงานอันตราย เช่น เหมือง หรือตัดไม้
ใครก็ตามที่ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันแรงงานโสมแดงนั้นยากที่จะได้กลับออกมาอีก และหากพยายามหลบหนี แต่ไม่สำเร็จ โทษที่จะตามมาคือ ประหารชีวิต นักวิเคราะห์เสริม
รายงานชิ้นใหม่ โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชี้ว่า นักโทษส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ถูกจับเนื่องจากพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ เพื่อหาอาหาร หรืองานทำ ไม่ใช่พวกที่ถูกจองจำเพราะอุดมการณ์ทางการเมือง และบางรายก็ต้องขังหลังจากข้ามหน้าข้ามตาไปยกย่องเชิดชูเกาหลีใต้
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษย์ในเกาหลีเหนือได้ทำงานร่วมกับดิจิตอลโกลบ บริษัทผู้นำด้านแผนที่โลก และเคยเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับคุกลับ (Hidden Gulag) ฉบับที่ 2 ในปี 2012 โดยอ้างอิงภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งรายงานดังกล่าวยอมรับความสำคัญของกูเกิล เอิร์ธในการเบิกโลกทัศน์ใหม่เกี่ยวกับระบบค่ายกักกันโสมแดง