xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ชาวฮินดู 100 ล้านหลั่งไหลร่วมพิธี อาบน้ำล้างบาป “มหากุมภะเมลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผู้แสวงบุญชาวฮินดูหลายสิบล้านคนกำลังทยอยเดินทางไปยังริมฝั่งแม่น้ำคงคาในเมืองอัลลาฮาบาด รัฐอุตตรประเทศของอินเดีย เพื่อร่วมประกอบพิธีอาบน้ำล้างบาป “มหากุมภะเมลา” ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ 12 ปี และถือเป็นเทศกาลทางศาสนาที่มีศาสนิกชนเข้าร่วมมากที่สุดในโลก

นาคสาธุ (Naga Sadhu) หรือนักบวชเปลือยในลัทธิไศวนิกายซึ่งกวัดแกว่งดาบและตรีศูล เป็นผู้แสวงบุญกลุ่มแรกที่วิ่งลงไปชำระล้างร่างกายในสายน้ำอันเย็บเฉียบของแม่น้ำคงคาเมื่อเช้ามืดของวันที่ 14 มกราคม ขณะที่ทางการอินเดียประเมินว่า เฉพาะวันแรกมีผู้ประกอบพิธีอาบน้ำล้างบาปมากถึง 8 ล้านคน และคาดว่าตลอด 55 วันของเทศกาลมหากุมภเมลาจะมีชาวฮินดูเดินทางไปประกอบพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อชำระล้างบาปและเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิตไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน

“ผมตื่นเต้นจริงๆ พอก้าวลงไปสัมผัสแม่น้ำคงคา ผมรู้สึกมีความสุขมาก มันเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายได้” โมกษนันท์ นักบวชเครายาวผู้สวมเพียงกางเกงชั้นในย้อมฝาด เผยหลังก้าวขึ้นจากน้ำด้วยเนื้อตัวสั่นเทา

สำหรับชาวฮินดู มหากุมภะเมลาถือเป็นเทศกาลสำคัญที่ญาติสนิทมิตรสหายจะได้สวดมนต์ขอพรพระเจ้า และเดินทางไปแสวงบุญร่วมกันยังริมฝั่งแม่น้ำคงคาในเมืองอัลลาฮาบาด หรือ “ประยาค” ผู้แสวงบุญต่างเต็มใจเผชิญความยากลำบากนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการเบียดเสียดกับฝูงชนนับล้านที่มุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกัน เสียงตะคอกของตำรวจนับหมื่นนายที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพิธี รวมถึงสภาพอากาศหนาวเย็นจัดในเดือนมกราคม เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีชำระล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์

มหากุมภะเมลามีที่มาจากตำนานการกวนเกษียรสมุทรในศาสนาฮินดู โดยว่ากันว่า ขณะที่เทวดาและอสูรกำลังแย่งชิงน้ำอมฤตซึ่งได้จากการกวนเกษียรสมุทรนั้น หยดน้ำอมฤตได้กระเด็นตกลงมายัง 4 เมืองบนโลกมนุษย์ ได้แก่ อัลลาฮาบาด นาสิก อุชเชนี และหริทวาร

พิธีมหากุมภะเมลาในเมืองอัลลาฮาบาดถือเป็นเทศกาลอาบน้ำล้างบาปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอินเดีย โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุก 12 ปี ขณะที่เมืองอื่นๆ ก็จะมีพิธีอาบน้ำล้างบาปขนาดย่อมๆทุกปี

ชาวอินเดียถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นประหนึ่งเทพเจ้าที่ให้ชีวิตและเรียกคืนลมหายใจของมนุษย์ ผู้มีศรัทธาจะจุ่มศีรษะลงในแม่น้ำ บ้างก็ดื่มกิน หรือนำขวดมาบรรจุน้ำกลับไปเป็นของขวัญแก่ญาติมิตรที่ไม่มีโอกาสเดินทางมาด้วย

คณะผู้จัดงานคาดว่าปีนี้จะมีผู้แสวงบุญหลั่งไหลมาไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน เช่นเดียวกับเมื่อปี 2001 โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ซึ่งถือเป็นวันมงคลสูงสุด อาจมีผู้ประกอบพิธีอาบน้ำพร้อมกันถึง 20 ล้านคนทีเดียว

อโศก กุมาร เจ้าหน้าที่ข้อมูลประจำรัฐอุตตรประเทศ เปิดเผยว่า ทางการอินเดียทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่ 12,000 นาย และงบประมาณอีก 16 ล้านล้านรูปี เพื่อให้เทศกาลมหากุมภะเมลาในปีนี้มีความปลอดภัยและสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยสิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องป้องกันการเหยียบกันตาย ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในเทศกาลต่างๆของอินเดีย

ผู้จัดงานยังเตรียมสุขา 35,000 ห้องและศูนย์พยาบาลอีก 14 จุดไว้อำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญซึ่งจะเดินทางมาจากทุกสารทิศ นอกจากนี้ยังติดตั้งหลอดไฟ 22,000 ดวง ตัดถนนชั่วคราวความยาวกว่า 150 กิโลเมตร สร้างสะพาน 18 แห่ง และปรับปรุงท่อระบายน้ำใหม่ด้วย

รถไฟขบวนพิเศษและรถประจำทางเกือบ 7,000 คันถูกจัดเตรียมไว้รับส่งผู้แสวงบุญมายัง “สังคัม” หรือ “จุฬาตรีคูณ” ซึ่งหมายถึงจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ ยมุนา, คงคา และสุรัสวดี ทว่าในทางกายภาพผู้ไปเยือนจะเห็นเพียงแม่น้ำคงคาและยมุนาไหลมาบรรจบกันเท่านั้น เนื่องจากแม่น้ำสุรัสวดีเป็นแม่น้ำในตำนานที่ไม่สามารถมองเห็นได้

นักวิจัยชี้ “กุมภะเมลา” เป็นผลดีต่อสุขภาพ

ภาพที่ชาวอินเดียลงไปอาบน้ำริมฝั่งแม่น้ำคงคาพร้อมกันนับล้านคนอาจทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกกังขาเรื่องสุขอนามัยอยู่บ้าง แต่นักวิจัยทั้งในอังกฤษและอินเดียยืนยันแล้วว่า พิธีอาบน้ำล้างบาป “มหากุมภะเมลา” เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้แสวงบุญเอง

งานวิจัยชื่อว่า “ความเข้าใจในประสบการณ์แสวงบุญ” (Understanding the Pilgrim Experience) ซึ่งจัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์สังคมจากมหาวิทยาลัย 4 แห่งในอังกฤษ และอีก 5 แห่งในอินเดีย ระบุว่า ชาวฮินดูผู้ศรัทธาที่ยอมอดทนกับสภาพอากาศหนาวเย็น เสียงอึกทึก การกินอยู่หลับนอนที่ไม่สุขสบาย และความเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นหลังประกอบพิธี

“แม้จะมีบางคนล้มป่วยหรือรู้สึกไม่สบาย แต่ส่วนใหญ่แล้วพิธีกุมภะเมลาจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้แสวงบุญ” งานวิจัยระบุ

จากการสำรวจความคิดเห็นผู้แสวงบุญ 416 คน และผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมพิธีกุมภะเมลาอีก 127 คนในช่วงปี 2010 และ 2011 ได้ข้อสรุปว่า การได้อดทนต่อความยากลำบากต่างๆและทำกิจกรรมร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้แสวงบุญเหนือกว่าความลำบากทางด้านร่างกาย

“การได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้แสวงบุญชาวฮินดูที่มีความใกล้ชิดและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะช่วยให้คนเราได้ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากยิ่งขึ้น” ผลวิจัยชี้

ผลการศึกษาชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Plos One

กำลังโหลดความคิดเห็น