(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Blaze-hit Kabul stores race deep freeze
By Ali M Latifi
14/01/2013
พวกพ่อค้าจำนวนมากในกรุงคาบูล ทั้งต้องสูญเสียสินค้าที่พวกเขามีอยู่จนหมดสิ้นเกลี้ยงสต็อก และทั้งเงินสดเป็นฟ่อนๆ ที่พวกเขาเก็บงำเอาในตู้เซฟภายในร้าน จากเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดครั้งใหญ่อันสร้างความหายนะอย่างกว้างขวาง เวลานี้พวกเขายังต้องซ่อมแซมร้านขึ้นมาใหม่พร้อมๆ กับแสวงหาข้าวของมาวางจำหน่ายให้ครบครัน การดำเนินการเหล่านี้ต้องกระทำอย่างรีบเร่งแข่งขันกับฤดูหนาวอันแสนทารุณซึ่งกำลังเย็นยะเยือกเพิ่มขึ้นทุกขณะ สิ่งที่เพิ่มความเจ็บปวดให้แก่พวกเขาก็คือ รัฐบาลนอกจากไม่ได้ช่วยเหลืออะไรพวกเขาแล้ว ยังกำลังเรียกร้องให้พวกเจ้าของร้านค้าต้องซื้อกรมทรัพย์ประกันภัยอีกด้วย
คาบูล – ท่ามกลางคนงานเป็นร้อยๆ ที่จับกลุ่มทำงานอย่างวุ่นวายอยู่รอบๆ ตัวเขา ไซดุลเลาะห์ (Zaidullah) ยืนอยู่ภายในร้านค้าแห่งหนึ่งของครอบครัวของเขาในตลาดกรุงคาบูล ร้านดังกล่าวนี้ยังอยู่ในสภาพเศษซากที่หลงเหลือจากฤทธิ์เดชความกราดเกรี้ยวของพระเพลิง อาคารร้านรวงหลายหลังที่เป็นทรัพย์สมบัติของไซดุลเลาะห์ ได้แก่ ร้านขายปลีก 2 ร้าน และร้านขายส่งอีกร้านหนึ่ง ต่างก็ประสบอัคคีภัยที่เผาผลาญอย่างรุนแรงไปทั่วตลาดมันดาวี (Mandawi) หนึ่งในตลาดที่คึกคักจอแจที่สุดของเมืองหลวงอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ไซดุลเลาะบอกว่า เพลิงไหม้คราวนี้ ซึ่งเชื่อกันว่ามีสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เขาต้องเสียหายไปกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปของสินค้าที่ถูกเผาและธนบัตรที่ถูกพระเพลิงทำลาย
พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของท้องถิ่น ประณามกล่าวโทษสิ่งของ 2 อย่างที่สามารถพบเห็นได้ทั่วทั้งตลาดแห่งนี้ ว่าเป็นตัวการสร้างความเสียหายย่อยยับให้แก่ร้านรวงมากกว่า 600 ร้าน ซึ่งก็คือ ถังแก๊สที่พวกพ่อค้าใช้ทำความร้อน และกองผ้าที่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำข้าวของจำนวนมากซึ่งเป็นผลผลิตของตลาดแห่งนี้
ตอนที่เขาได้รับอนุญาตในที่สุด ให้เข้าไปตรวจประเมินความเสียหายต่างๆ ด้วยตนเองนั้น ไซดุลเลาะห์สังเกตเห็นว่า ประตูเข้าออกร้านค้าแต่ละร้านของเขาต่างอยู่ในสภาพเปิดอ้า เมื่อเขาออกเดินสำรวจไปทั่วๆ ตลาด พ่อค้าวัย 25 ปีผู้นี้พบว่า ไม่ใช่เฉพาะร้านค้าของเขาเท่านั้นหรอกซึ่งถูกทิ้งเอาไว้ในสภาพที่ไม่ได้ใส่กุญแจ
“มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมาแน่ๆ มันดูเหมือนกับมีการวางแผนกันไว้ล่วงหน้าแล้ว” ไซดุลเลาะห์บอก ในขณะที่พวกคนงานช่วยกันเข็นรถบรรทุกแผ่นคอนกรีต และเลื่อยไม้อยู่รอบๆ ตัวเขา
อย่างไรก็ตาม ไซดุลเลาะห์บอกว่า สิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่พวกพ่อค้ามากกว่าสินค้าที่สูญเสียไปเสียอีก ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าเซฟเก็บเงินของพวกเขาก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักในท่ามกลางกองเพลิง “ที่เสียหายยิ่งกว่าพวกสินค้าเสียอีกก็คือ เงินจริงๆ แบงก์จริงๆ ของพวกเราก็เสียหายไปด้วย” เขากล่าว
พวกพ่อค้าคนอื่นๆ ในพื้นที่แถบนี้ ต่างก็ประพฤติตนในทำนองเดียวกับไซดุลเลาะห์ พวกเขาต่างเก็บเงินทองของพวกเขาเอาไว้ในตู้เซฟที่พวกเขาได้รับคำบอกเล่าว่าเป็นตู้เซฟที่ผลิตในประเทศจีน อันที่จริงธุรกิจต่างๆ ภายในอาคารศูนย์ช็อปปิ้งแห่งนี้เกือบทั้งหมดล้วนเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าต่างประเทศอยู่แล้ว “ราว 90% เป็นสินค้าที่มาจากจีน อีก 10% ที่เหลือมาจากอินเดีย, อิหร่าน, และปากีสถาน” พ่อค้าท้องถิ่นอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
พวกพ่อค้าและเจ้าของธุรกิจต่างคร่ำครวญกันมานานแล้ว ในเรื่องที่สินค้าซึ่งผลิตในอัฟกานิสถานถูกเรียกเก็บภาษีอากรอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพวกสินค้าขนส่งมาจากประเทศเอเชียอื่นๆ ทั้งนี้สินค้านำเข้าอัฟกานิสถานถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราระหว่าง 3 ถึง 5% แต่ภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าซึ่งผลิตในประเทศนี้เอง บางรายการอาจจะสูงลิบลิ่วถึง 30% ทีเดียว
**การตอบสนองที่แสนเชื่องช้า**
จากเหตุอัคคีภัยคราวนี้ ไซดุลเลาะห์และพ่อค้าคนอื่นๆ ต่างรู้สึกว่าพวกตนถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า ไซดุลเลาะห์เล่าว่า รัฐบาล “จัดหาคนงานนิดๆ หน่อยๆ มาช่วยเหลือเรื่องงานเก็บกวาดทำความสะอาดอยู่สักสองสามวัน” หลังจากนั้นก็ไม่มีความช่วยเหลืออะไรกันอีก และถึงตอนนี้พวกเจ้าของร้านกับลูกจ้างก็ต้องใช้สิ่งต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่มาปลูกสร้างซ่อมแซมร้านรวงขึ้นใหม่ เนื่องจากอัฟกานิสถานไม่ได้มีอุตสาหกรรมประกันภัยที่เป็นเรื่องเป็นราวอะไร ไซดุลเลาะห์บอกว่า พวกพ่อค้าจึงต่างได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะจัดหาความช่วยเหลือทางการเงินในบางรูปแบบมาช่วยพวกเขาบ้าง แต่ “จนถึงเวลานี้ยังไม่มีเงินสักสตางค์มาให้เห็นเลย” เขากล่าว
อัคตาร์ โมฮาเหม็ด (Akhtar Mohamed) คนขับรถผู้หนึ่งซึ่งบอกว่าเขาเป็นสารถีคอยรับส่งพ่อค้าและลูกค้าที่ตลาดแห่งนี้เป็นประจำทุกวัน กล่าวว่าความเสียหายในคราวนี้อยู่ในระดับ “เป็นล้านๆ”
เขากล่าวต่อไปว่า รัฐบาลจะประณามกล่าวโทษใครไม่ได้ทั้งนั้นนอกจากตนเอง สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นมาในบริเวณที่มีการสัญจรคึกคักจอแจที่สุดบริเวณหนึ่งของกรุงคาบูล “พวกเขาได้รับคำเตือนมาสักพักใหญ่แล้วว่า ยังไม่มีการตระเตรียมอะไรกันเลย” เพื่อรับมือกับภัยพิบัติ คนขับรถวัย 42 ปีผู้นี้กล่าวจากรถแท็กซี่ของเขาซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคาบูล
ภายหลังเกิดอัคคีภัยใหญ่คราวนี้แล้ว มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลอัฟกานิสถานคิดค้นออกมารับมือ ก็คือการสั่งให้ธุรกิจทุกๆ แห่งในประเทศต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอาคารพาณิชย์ของพวกเขาภายในเวลา 2 เดือน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกสั่งปิดไม่ให้ใช้งาน ทางด้านกรมกิจการประกันภัย ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง ก็เริ่มต้นวางแผนจัดทำนโยบายชุดหนึ่งซึ่งจะได้เห็นการจัดระเบียบเพิ่มการควบคุมอุตสาหกรรมประกันภัยของประเทศ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ทำนองเดียวกันขึ้นมา บริษัทประกันภัยก็จะต้องหาทางทำประกันต่อ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าของพวกเขาจะได้ค่าสินไหมทดแทนอย่างทันท่วงที
สำหรับบรรดาพ่อค้าในตลาดมานดาวี การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่สายเกินไปแล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ใช่มีเพียงพวกเจ้าหน้าที่ชาวอัฟกันเท่านั้นหรอกที่กำลังสร้างความเดือดดาลให้แก่พวกเขา เฉกเช่นเดียวกับแง่มุมอื่นๆ จำนวนมากในวิถีชีวิตของชาวอัฟกันในปัจจุบัน พวกพ่อค้าเหล่านี้คิดว่าพวกเขาสามารถหันไปพึ่งพาขอความสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์ของพวกประเทศเพื่อนบ้านได้
เนื่องจาก 90% ของสินค้าที่พวกเขาวางขายนั้นมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน พ่อค้าเหล่านี้จึงคิดว่าพวกเขารู้จักคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงของจีนเป็นอย่างดี แต่แล้วพวกเขาบอกว่า “พวกงานฝีมือ” จากเมืองจีนนี่แหละกำลังทำให้พวกเขาต้องประสบความเสียหายอย่างร้ายแรงขนาดนี้
“เราได้ยินมาว่าสินค้าพวกนี้มาจากจีน เราก็เลยทึกทักเอาว่ามันจะต้องใช้การได้” ไซดุลเลาะห์พูดถึงตู้เซฟของเขา
เวลานี้พวกพ่อค้าต่างคาดหมายประมาณการกันว่า จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 อาทิตย์ครึ่ง ในการซ่อมแซมร้านรวงของพวกเขา และอีกอย่างน้อย 1 เดือนในการเตรียมการเพื่อให้สามารถเปิดร้านได้อีกครั้ง
“มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เรายังต้องทาสี เรายังต้องรอให้สินค้าขนส่งมาจากจีน, อินเดีย, และอิหร่าน นี่ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยไปได้อย่างรวดเร็ว” คนขายของในท้องถิ่นผู้หนึ่ง กล่าว
ในระหว่างที่ยังต้องรอคอยกันไป พวกพ่อค้าบอกว่าพวกเขาจะรีบเร่งเดินหน้าเรื่องงานซ่อมแซมต่างๆ ทว่าในแต่ละวันที่ผ่านพ้นไป อากาศฤดูหนาวของคาบูลก็กำลังเย็นยะเยือกมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอากาศฤดูหนาวจะเพิ่มความทารุณมากขึ้นในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มันก็จะเป็นเรื่องลำบากเพิ่มขึ้นไม่เพียงในเรื่องการใช้ค้อนตอกและการเลื่อยไม้เท่านั้น แต่ยังในเรื่องการชักชวนดึงดูดลูกค้าให้ออกจากบ้านมายังท้องถนนของคาบูล ซึ่งก็เปียกแฉะจากน้ำแข็งและดินโคลนอยู่แล้ว
อาลี เอ็ม ลาติฟี เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวอัฟกัน ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์
Blaze-hit Kabul stores race deep freeze
By Ali M Latifi
14/01/2013
พวกพ่อค้าจำนวนมากในกรุงคาบูล ทั้งต้องสูญเสียสินค้าที่พวกเขามีอยู่จนหมดสิ้นเกลี้ยงสต็อก และทั้งเงินสดเป็นฟ่อนๆ ที่พวกเขาเก็บงำเอาในตู้เซฟภายในร้าน จากเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดครั้งใหญ่อันสร้างความหายนะอย่างกว้างขวาง เวลานี้พวกเขายังต้องซ่อมแซมร้านขึ้นมาใหม่พร้อมๆ กับแสวงหาข้าวของมาวางจำหน่ายให้ครบครัน การดำเนินการเหล่านี้ต้องกระทำอย่างรีบเร่งแข่งขันกับฤดูหนาวอันแสนทารุณซึ่งกำลังเย็นยะเยือกเพิ่มขึ้นทุกขณะ สิ่งที่เพิ่มความเจ็บปวดให้แก่พวกเขาก็คือ รัฐบาลนอกจากไม่ได้ช่วยเหลืออะไรพวกเขาแล้ว ยังกำลังเรียกร้องให้พวกเจ้าของร้านค้าต้องซื้อกรมทรัพย์ประกันภัยอีกด้วย
คาบูล – ท่ามกลางคนงานเป็นร้อยๆ ที่จับกลุ่มทำงานอย่างวุ่นวายอยู่รอบๆ ตัวเขา ไซดุลเลาะห์ (Zaidullah) ยืนอยู่ภายในร้านค้าแห่งหนึ่งของครอบครัวของเขาในตลาดกรุงคาบูล ร้านดังกล่าวนี้ยังอยู่ในสภาพเศษซากที่หลงเหลือจากฤทธิ์เดชความกราดเกรี้ยวของพระเพลิง อาคารร้านรวงหลายหลังที่เป็นทรัพย์สมบัติของไซดุลเลาะห์ ได้แก่ ร้านขายปลีก 2 ร้าน และร้านขายส่งอีกร้านหนึ่ง ต่างก็ประสบอัคคีภัยที่เผาผลาญอย่างรุนแรงไปทั่วตลาดมันดาวี (Mandawi) หนึ่งในตลาดที่คึกคักจอแจที่สุดของเมืองหลวงอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ไซดุลเลาะบอกว่า เพลิงไหม้คราวนี้ ซึ่งเชื่อกันว่ามีสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เขาต้องเสียหายไปกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปของสินค้าที่ถูกเผาและธนบัตรที่ถูกพระเพลิงทำลาย
พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของท้องถิ่น ประณามกล่าวโทษสิ่งของ 2 อย่างที่สามารถพบเห็นได้ทั่วทั้งตลาดแห่งนี้ ว่าเป็นตัวการสร้างความเสียหายย่อยยับให้แก่ร้านรวงมากกว่า 600 ร้าน ซึ่งก็คือ ถังแก๊สที่พวกพ่อค้าใช้ทำความร้อน และกองผ้าที่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำข้าวของจำนวนมากซึ่งเป็นผลผลิตของตลาดแห่งนี้
ตอนที่เขาได้รับอนุญาตในที่สุด ให้เข้าไปตรวจประเมินความเสียหายต่างๆ ด้วยตนเองนั้น ไซดุลเลาะห์สังเกตเห็นว่า ประตูเข้าออกร้านค้าแต่ละร้านของเขาต่างอยู่ในสภาพเปิดอ้า เมื่อเขาออกเดินสำรวจไปทั่วๆ ตลาด พ่อค้าวัย 25 ปีผู้นี้พบว่า ไม่ใช่เฉพาะร้านค้าของเขาเท่านั้นหรอกซึ่งถูกทิ้งเอาไว้ในสภาพที่ไม่ได้ใส่กุญแจ
“มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมาแน่ๆ มันดูเหมือนกับมีการวางแผนกันไว้ล่วงหน้าแล้ว” ไซดุลเลาะห์บอก ในขณะที่พวกคนงานช่วยกันเข็นรถบรรทุกแผ่นคอนกรีต และเลื่อยไม้อยู่รอบๆ ตัวเขา
อย่างไรก็ตาม ไซดุลเลาะห์บอกว่า สิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่พวกพ่อค้ามากกว่าสินค้าที่สูญเสียไปเสียอีก ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าเซฟเก็บเงินของพวกเขาก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักในท่ามกลางกองเพลิง “ที่เสียหายยิ่งกว่าพวกสินค้าเสียอีกก็คือ เงินจริงๆ แบงก์จริงๆ ของพวกเราก็เสียหายไปด้วย” เขากล่าว
พวกพ่อค้าคนอื่นๆ ในพื้นที่แถบนี้ ต่างก็ประพฤติตนในทำนองเดียวกับไซดุลเลาะห์ พวกเขาต่างเก็บเงินทองของพวกเขาเอาไว้ในตู้เซฟที่พวกเขาได้รับคำบอกเล่าว่าเป็นตู้เซฟที่ผลิตในประเทศจีน อันที่จริงธุรกิจต่างๆ ภายในอาคารศูนย์ช็อปปิ้งแห่งนี้เกือบทั้งหมดล้วนเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าต่างประเทศอยู่แล้ว “ราว 90% เป็นสินค้าที่มาจากจีน อีก 10% ที่เหลือมาจากอินเดีย, อิหร่าน, และปากีสถาน” พ่อค้าท้องถิ่นอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
พวกพ่อค้าและเจ้าของธุรกิจต่างคร่ำครวญกันมานานแล้ว ในเรื่องที่สินค้าซึ่งผลิตในอัฟกานิสถานถูกเรียกเก็บภาษีอากรอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพวกสินค้าขนส่งมาจากประเทศเอเชียอื่นๆ ทั้งนี้สินค้านำเข้าอัฟกานิสถานถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราระหว่าง 3 ถึง 5% แต่ภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าซึ่งผลิตในประเทศนี้เอง บางรายการอาจจะสูงลิบลิ่วถึง 30% ทีเดียว
**การตอบสนองที่แสนเชื่องช้า**
จากเหตุอัคคีภัยคราวนี้ ไซดุลเลาะห์และพ่อค้าคนอื่นๆ ต่างรู้สึกว่าพวกตนถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า ไซดุลเลาะห์เล่าว่า รัฐบาล “จัดหาคนงานนิดๆ หน่อยๆ มาช่วยเหลือเรื่องงานเก็บกวาดทำความสะอาดอยู่สักสองสามวัน” หลังจากนั้นก็ไม่มีความช่วยเหลืออะไรกันอีก และถึงตอนนี้พวกเจ้าของร้านกับลูกจ้างก็ต้องใช้สิ่งต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่มาปลูกสร้างซ่อมแซมร้านรวงขึ้นใหม่ เนื่องจากอัฟกานิสถานไม่ได้มีอุตสาหกรรมประกันภัยที่เป็นเรื่องเป็นราวอะไร ไซดุลเลาะห์บอกว่า พวกพ่อค้าจึงต่างได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะจัดหาความช่วยเหลือทางการเงินในบางรูปแบบมาช่วยพวกเขาบ้าง แต่ “จนถึงเวลานี้ยังไม่มีเงินสักสตางค์มาให้เห็นเลย” เขากล่าว
อัคตาร์ โมฮาเหม็ด (Akhtar Mohamed) คนขับรถผู้หนึ่งซึ่งบอกว่าเขาเป็นสารถีคอยรับส่งพ่อค้าและลูกค้าที่ตลาดแห่งนี้เป็นประจำทุกวัน กล่าวว่าความเสียหายในคราวนี้อยู่ในระดับ “เป็นล้านๆ”
เขากล่าวต่อไปว่า รัฐบาลจะประณามกล่าวโทษใครไม่ได้ทั้งนั้นนอกจากตนเอง สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นมาในบริเวณที่มีการสัญจรคึกคักจอแจที่สุดบริเวณหนึ่งของกรุงคาบูล “พวกเขาได้รับคำเตือนมาสักพักใหญ่แล้วว่า ยังไม่มีการตระเตรียมอะไรกันเลย” เพื่อรับมือกับภัยพิบัติ คนขับรถวัย 42 ปีผู้นี้กล่าวจากรถแท็กซี่ของเขาซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคาบูล
ภายหลังเกิดอัคคีภัยใหญ่คราวนี้แล้ว มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลอัฟกานิสถานคิดค้นออกมารับมือ ก็คือการสั่งให้ธุรกิจทุกๆ แห่งในประเทศต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอาคารพาณิชย์ของพวกเขาภายในเวลา 2 เดือน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกสั่งปิดไม่ให้ใช้งาน ทางด้านกรมกิจการประกันภัย ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง ก็เริ่มต้นวางแผนจัดทำนโยบายชุดหนึ่งซึ่งจะได้เห็นการจัดระเบียบเพิ่มการควบคุมอุตสาหกรรมประกันภัยของประเทศ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ทำนองเดียวกันขึ้นมา บริษัทประกันภัยก็จะต้องหาทางทำประกันต่อ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าของพวกเขาจะได้ค่าสินไหมทดแทนอย่างทันท่วงที
สำหรับบรรดาพ่อค้าในตลาดมานดาวี การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่สายเกินไปแล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ใช่มีเพียงพวกเจ้าหน้าที่ชาวอัฟกันเท่านั้นหรอกที่กำลังสร้างความเดือดดาลให้แก่พวกเขา เฉกเช่นเดียวกับแง่มุมอื่นๆ จำนวนมากในวิถีชีวิตของชาวอัฟกันในปัจจุบัน พวกพ่อค้าเหล่านี้คิดว่าพวกเขาสามารถหันไปพึ่งพาขอความสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์ของพวกประเทศเพื่อนบ้านได้
เนื่องจาก 90% ของสินค้าที่พวกเขาวางขายนั้นมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน พ่อค้าเหล่านี้จึงคิดว่าพวกเขารู้จักคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงของจีนเป็นอย่างดี แต่แล้วพวกเขาบอกว่า “พวกงานฝีมือ” จากเมืองจีนนี่แหละกำลังทำให้พวกเขาต้องประสบความเสียหายอย่างร้ายแรงขนาดนี้
“เราได้ยินมาว่าสินค้าพวกนี้มาจากจีน เราก็เลยทึกทักเอาว่ามันจะต้องใช้การได้” ไซดุลเลาะห์พูดถึงตู้เซฟของเขา
เวลานี้พวกพ่อค้าต่างคาดหมายประมาณการกันว่า จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 อาทิตย์ครึ่ง ในการซ่อมแซมร้านรวงของพวกเขา และอีกอย่างน้อย 1 เดือนในการเตรียมการเพื่อให้สามารถเปิดร้านได้อีกครั้ง
“มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เรายังต้องทาสี เรายังต้องรอให้สินค้าขนส่งมาจากจีน, อินเดีย, และอิหร่าน นี่ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยไปได้อย่างรวดเร็ว” คนขายของในท้องถิ่นผู้หนึ่ง กล่าว
ในระหว่างที่ยังต้องรอคอยกันไป พวกพ่อค้าบอกว่าพวกเขาจะรีบเร่งเดินหน้าเรื่องงานซ่อมแซมต่างๆ ทว่าในแต่ละวันที่ผ่านพ้นไป อากาศฤดูหนาวของคาบูลก็กำลังเย็นยะเยือกมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอากาศฤดูหนาวจะเพิ่มความทารุณมากขึ้นในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มันก็จะเป็นเรื่องลำบากเพิ่มขึ้นไม่เพียงในเรื่องการใช้ค้อนตอกและการเลื่อยไม้เท่านั้น แต่ยังในเรื่องการชักชวนดึงดูดลูกค้าให้ออกจากบ้านมายังท้องถนนของคาบูล ซึ่งก็เปียกแฉะจากน้ำแข็งและดินโคลนอยู่แล้ว
อาลี เอ็ม ลาติฟี เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวอัฟกัน ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์