รอยเตอร์ - ชาวต่างชาติอีกมากกว่า 20 คนยังคงถูกจับ หรือสูญหายไปในพื้นที่โรงก๊าซของแอลจีเรีย วันนี้ (19) เป็นเวลาเกือบ 2 วันหลังจากกองทัพรัฐบาลใช้กำลังบุกจู่โจมกลุ่มติดอาวุธ เพื่อช่วยเหลือตัวประกัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก โดยถือเป็นหนึ่งในวิกฤตตัวประกันนานาชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี
วิกฤตตัวประกันซึ่งทำให้กลุ่มติดอาวุธในทะเลทรายสะฮาราที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์กลายเป็นวาระสำคัญของโลก ยืดเยื้อเข้าสู่วันที่ 4 แล้ว ขณะที่จำนวนของเหยื่อ และชะตากรรมของพวกเขายังไม่ได้รับการยืนยัน อีกทั้งรัฐบาลแอลจีเรียก็ไม่อนุญาติให้เจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกอื่นๆ เข้าไปยังพื้นที่ทั้งที่พลเรือนของพวกเขากำลังตกอยู่ในอันตราย
รายงานหลายชิ้นระบุว่า จำนวนตัวประกันที่เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 12-30 ราย และเป็นไปได้ว่ายังมีชาวต่างชาติที่ยังไม่ทราบชะตากรรมอีกหลายสิบคน ในจำนวนนั้นเป็นชาวนอร์เวย์ ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกัน และอื่นๆ โดยในวันศุกร์ (18) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันแล้วว่ามีพลเมืองอเมริกันเสียชีวิต 1 ราย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม
ในวันนี้กองทัพแอลจีเรียได้เข้าควบคุมค่ายพักอาศัยขนาดใหญ่ของแหล่งผลิตก๊าซอินอามีนาส ขณะที่กลุ่มมือปืนยังซ่อนตัวอยู่ในตัวโรงงานแยกก๊าซ พร้อมกับตัวประกันไม่ทราบจำนวน ทำให้กองกำลังพิเศษของรัฐบาลแทรกแซงเข้าไปได้ยาก
สถานีวิทยุทางการแอลจีเรียรายงาน โดยอ้างผู้สื่อข่าวที่อยู่ในเมืองอินอามีนาสว่า กองทัพได้ล้อมโรงงานดังกล่าวไว้แล้ว ทั้งยังมีเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจอยู่เหนือบริเวณดังกล่าวด้วย
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของแอลจีเรียระบุว่า ตัวประกัน 30 ราย ซึ่งเป็นชาวตะวันตกอย่างน้อย 7 คน เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติการจู่โจมของรัฐบาลเมื่อวันพฤหัสบดี (17) เช่นเดียวกับคนร้ายอีกไม่ต่ำกว่า 18 คน ในจำนวนตัวประกันที่เสียชีวิตเป็นชาวแอลจีเรีย 8 คน ส่วนสัญชาติของเหยื่อที่เหลือยังไม่ปรากฏชัดเจน
ขณะที่สำนักข่าวเอพีเอสของทางการแอลจีเรียรายงานว่า จำนวนตัวประกันที่เสียชีวิตนั้นมี 12ราย เป็นทั้งชาวต่างชาติ และคนท้องถิ่น
สถานที่เกิดเหตุนั้นเป็นบ้านพักของคนงานจากบริษัทบีพีของอังกฤษ บริษัทสแตทออล์ของนอร์เวย์ บริษัทก่อสร้าง เจจีซี คอร์ปของญี่ปุ่น และอื่นๆ โดยทางการนอร์เวย์ระบุว่าคนงานอีก 8 คนยังคงสูญหาย ขณะที่เจจีซีก็มีพนักงานหายตัวไปอีก 10 คน ส่วนอังกฤษ และสหรัฐฯ เผยว่ามีพลเมืองที่ไม่ทราบชะตากรรมหลายราย แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นจำนวนเท่าไร
การบุกโจมตีดังกล่าวของกองทัพแอลจีเรียสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้นำหลายประเทศ เนื่องจากเป็นการจู่โจมโดยไม่มีการปรึกษาหารือล่วงหน้า อีกทั้งยังขาดข้อมูลสำคัญ ขณะที่หลายประเทศยังปกปิดรายละเอียดจำนวนพลเมืองที่หายตัวไป เพื่อไม่ให้เป็นการปล่อยข้อมูลที่อาจช่วยเหลือเหล่าคนร้ายได้