xs
xsm
sm
md
lg

“ไซ” ผนึกกำลังยักษ์ใหญ่ “ซัมซุง” สรรค์สร้างปีทอง“แบรนด์ โคเรีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ไซ-ซัมซุง ร่วมสร้างสรรค์ปีทองของ “แบรนด์โคเรีย” ส่งเสริมความพยายามในการโปรโมตประเทศที่แม้สบความสำเร็จงดงาม แต่ยังรู้สึกว่าเป็นแค่ตัวสำรอง ถูกเพื่อนบ้านบดบังความสำคัญ ไม่เป็นที่ชื่นชอบ และถูกเหมารวมผิดๆ

แม้บางคนอาจตั้งคำถามถึงประโยชน์ที่ได้จากแร็ปเปอร์วัย 30 กับท่าควบม้าที่กลายเป็นสินค้าออกทางวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด แต่ที่แน่ๆ ปรากฏการณ์ “กังนัมสไปตล์” ทำให้ชื่อเสียงของเกาหลีใต้เลื่องลือขึ้นอีกหลายเท่าโดยไม่ต้องสงสัย

การถูกกล่าวขานถึงและถูกลอกเลียนแบบโดยทุกคน ตั้งแต่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จนถึง อ้ายเว่ยเว่ย ศิลปินขบถที่ลุกขึ้นท้าทายอำนาจปักกิ่ง กระทั่งป็อบไอคอนตัวแม่อย่างมาดอนนา ส่งให้ไซและท่าควบม้าในจินตนาการของเขากลายเป็นปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่อลังการแห่งโลกดนตรีประจำปี 2012 โดยปริยาย

คลิปกังนัมสไตล์เป็นคลิปที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาลบนยูทิวบ์ในขณะนี้ โดยที่ยอดการเข้าชมทะลุ 1,000 ล้านครั้งไปแล้วในช่วงสิ้นปี 2012 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าตัวกลับรู้สึกเฝือกับตัวเอง

“บอกตามตรงบางครั้งผมก็เบื่อเหมือนกัน" แรปเปอร์แดนกิมจิให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ขณะอยู่ที่สิงคโปร์ หนึ่งในจุดแวะโชว์คอนเสิร์ตระหว่างการทัวร์โปรโมตนอกประเทศที่ยังไม่มีกำหนดจบสิ้น

ที่บ้านเกิด ไซได้เหรียญเชิดชูเกียรติฐานทำให้โลกสนใจเกาหลีใต้มากขึ้น

กระนั้น ชื่อเสียงมักมาพร้อมปัญหา เมื่อสื่อขุดคุ้ยเจอว่า ระหว่างคอนเสิร์ตปี 2004 ที่จัดขึ้นเพื่อต่อต้านการรุกรานอิรักของอเมริกา ไซ ได้แรปสาปส่งให้ทหารอเมริกันถูกสังหารอย่าง “ช้าๆ และเจ็บปวดทรมาน”

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เขารู้สึกว่าจำเป็นต้องขอโทษและแสดงความเสียใจต่อ “ความเจ็บปวด” ที่ตนเองอาจก่อขึ้น

แม้ประสบความสำเร็จเหมือนฝันและภายในระยะเวลารวดเร็วเหลือเชื่อ เกาหลีใต้ยังคงเป็นตัวสำรองบนเวทีโลกเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่เป็นผู้เล่นแถวหน้าอย่างจีนและญี่ปุ่น

การเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจากระบอบเผด็จการสู่ประชาธิปไตยเจิดจรัส และจากประเทศที่เผชิญสงคราม ซึมเซา ยากไร้ กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 4 ของเอเชีย คือสิ่งที่เกาหลีใต้ภาคภูมิใจอย่างมาก

แต่บ่อยครั้งที่โลกภายนอกติดตากับภาพภัตตาคารที่เสิร์ฟเนื้อสุนัขและเหมารวมคนเกาหลีทั้งประเทศ แม้กระทั่งเรื่องราวความสำเร็จในการส่งออกที่ชัดเจนยังถูกมองข้ามจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มิหนำซ้ำยังมีหลายคนคิดว่า ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และแอลจี ถือสัญชาติญี่ปุ่นหรือไต้หวัน

สำหรับซัมซุง ปี 2012 เป็นปีแห่งการพลิกผันสำคัญ ทั้งด้วยการแซงหน้า แอปเปิล ในฐานะผู้นำตลาดโมบายล์คอมพิวติ้งโลก และการครอบครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนเพิ่มจาก 3.3% ช่วงปลายปี 2009 เป็น 31.3% ในไตรมาส 3 ขณะที่ยอดขายของแอปเปิลในไตรมาสเดียวกันมีเพียงครึ่งเดียวของซัมซุง และมีส่วนแบ่งตลาดแค่ 15% และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น โนเกียยังปิดฉากการเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ของโลกที่ครอบครองมายาวนาน 14 ปี

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ทุ่มงบและเวลามากมายเพื่อยกระดับโปรไฟล์ประเทศ โดยเฉพาะผ่านการสนับสนุน “คลื่นเกาหลี” หรือละครทีวีและเพลงป็อปที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ

สำหรับไซมอน แอลฮอลต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกแบรนด์ ความสำเร็จของไซ พิสูจน์ให้เห็นว่า ผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสนับสนุนหรือควบคุมโดยรัฐบาล ไม่สามารถมีศักยภาพหรือแรงดึงดูดเทียบเท่าการแสดงออกของปัจเจกบุคคล

“ประเทศต่างๆ จะถูกตัดสินจากสิ่งที่ทำ ไม่ใช่สิ่งที่โฆษณาตัวเอง

“ถ้าอยากเป็นที่ชื่นชอบ ประเทศนั้นๆ ต้องน่าชื่นชอบ และมีลักษณะที่ดึงดูดจินตนาการของผู้คน”

เช่นเดียวกัน ซามูเอล คู ประธานคณะกรรมการการสร้างแบรนด์แห่งชาติของเกาหลีใต้ ตระหนักถึงหลุมพรางของการทำตัวเป็น “คณะกรรมการบริหารสูงสุดด้านประชาสัมพันธ์” ที่เพียงป่าวร้องความสำเร็จของประเทศเท่านั้น

ด้วยความที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากประธานาธิบดี คณะกรรมการชุดนี้จึงมีอิทธิพลอย่างแท้จริง ซึ่ง คู นำมาใช้เพื่อผลักดันการกระตุ้นการรับรู้ถึงความช่วยเหลือในการพัฒนาในต่างประเทศ (โอดีเอ) และนโยบายสีเขียว ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับสถานะของเกาหลีใต้ในประชาคมระหว่างประเทศ

แต่แทนที่จะทุ่มเทความพยายามทั้งหมดให้กับแคมเปญใดแคมเปญหนึ่งโดยเฉพาะ คู มองว่า คณะกรรมการของเขามีบทบาทในการเป็นหนึ่งใน “จุดเชื่อมต่อ” และนำเสนอ “ภาพโมเสก” ที่สะท้อนความหลากหลายของเกาหลีใต้

อุตสาหกรรมภาพยนตร์แดนกิมจิประสบความสำเร็จงดงามในปี 2012 เมื่อหนังต่อต้านลัทธิทุนนิยมของผู้กำกับ คิม คี-ดุ๊ก เรื่อง “เปียตา” คว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เวนิส

กระนั้น เกาหลีใต้ยังคงประสบปัญหาในการสร้างชื่อด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรมของแท้ เพราะแม้แต่ความสำเร็จของ ซัมซุง ยังแปดเปื้อนจากข้อกล่าวหาลอกเลียนแบบและเป็นความขึ้นโรงขึ้นศาลกับ แอปเปิล ในคดีละเมิดสิทธิบัตร

แต่สำหรับ คู เขามองการเปลี่ยนแปลงในชั่วอายุคนที่ได้รับการส่งเสริมจากการเติบโตทางเศรษฐกิจว่า สามารถมอบอิสระทางการเงินเพื่อให้คนหนุ่มสาวได้เดินตามเส้นทางแห่งการสร้างสรรค์ชนิดซึ่งยังคงมีความใกล้ชิดกับคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย

“นี่แหละคือแหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงมีคนอย่าง ไซ ในวันนี้ สำหรับคนรุ่นผมนั้น ถ้าลูกชายหรือลูกสาวของใครสักคนนึงต้องการเป็น ป๊อป สตาร์ แล้ว พวกเขาก็จะต้องถูกยิง เอ้อ อาจจะไม่ถึงกับถูกยิงหรอก แต่อย่างน้อยก็สุด ก็จะถูกบิดแขนจนกระทั่งพวกเขายอมเปลี่ยนใจ

“ในตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (paradigm shift) กันทีเดียว และก็เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี คนเกาหลีจะไม่สามารถเป็นคนเกาหลีได้หรอกถ้าหากพวกเขาขาดความเป็นปัจเจกบุคคลไป” คู ยืนยัน
กำลังโหลดความคิดเห็น