เอเอฟพี - คณะกรรมการเลือกตั้งของอียิปต์ยืนยันเมื่อวันอังคาร (25) รัฐธรรมนูญใหม่ที่หนุนหลังโดยฝ่ายอิสลามิสต์ ผ่านประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชนร้อยละ 64 พร้อมปฏิเสธคำกล่าวหาจากฝ่ายค้านที่อ้างว่ามีการโกงคะแนนเสียง
ผลอย่างเป็นทางการดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมของประธานาธิบดีโมฮาเมด มอร์ซี คาดหมายไว้ในทันทีที่เสร็จสิ้นการลงคะแนนโหวตรอบสุดท้ายของการลงประชามติ 2 รอบเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เนชันแนล ซัลเวชัน ฟรอนต์ กลุ่มฝ่ายค้านหลัก ปฏิเสธประชามติดังกล่าวและประกาศต่อสู้เพื่อประชาชนชาวอียิปต์ต่อไป
คำประกาศกร้าวของฝ่ายต่อต้าน น่าเชื่อว่าประเทศแห่งนี้จะยังคงไร้เสถียรภาพต่อไป หลังก่อนหน้านี้มีการประท้วงต่อต้านการทำประชามติมานานนับเดือนและบางครั้งก็เลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรง ในนั้นรวมถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 8 รายและบาดเจ็บหลายร้อยคน ขณะที่เหล่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว พากันละทิ้งอียิปต์ สืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงที่รุมเร้าประเทศแห่งนี้มาตั้งแต่เหตุลุกฮือโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค
ซามีร์ อาบูล มาตี ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง แถลงข่าวที่กรุงไคโรเมื่อช่วงค่ำวันอังคาร (25) ผู้ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงลงประชามติครั้งนี้แค่ร้อยละ 32.9 และรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับการสนับสนุนด้วยคะแนนร้อยละ 63.8 พร้อมระบุข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลและมีผู้พิพากษาตัวปลอมเข้าร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยนั้นไม่มีมูล
ด้านฝ่ายต่อต้าน ยกเอากรณีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนน้อยท้าทายความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญนี้ แม้จะยอมรับผลอย่างเป็นทางการของการทำประชามติครั้งนี้ก็ตาม
โมฮาเมด เอลบาราได เจ้าของรางวัลโนเบล และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ยอมรับตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (24) ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะผ่านความเห็นชอบ “แต่ตามมุมมองของผม ผมคือวันที่น่าเศร้าของชาวอียิปต์ เพราะมันรังแต่จะซ้ำเติมความไร้เสถียรภาพ” พร้อมแนะว่ารัฐธรรมใหม่นี้ควรเป็นแค่ฉบับชั่วคราวเท่านั้น จนกว่าฉบับที่แท้จริงจะถูกเขียนขึ้นด้วยความเห็นพ้องต้องกันของประชาชน
ผู้สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมอย่างเนชันแนล ซัลเวชัน ฟรอนต์ กล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญที่สนับสนุนโดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและซาลาฟิสต์ เขียนขึ้นโดยใช้ภาษาที่น่าเคลือบแคลงสงสัยและแอบแฝงเพื่อนำกฎหมายชารีอะห์ของศาสนาอิสลามมาใช้เป็นกฎหมายของประเทศและไม่ปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับเป็นการหักหลังเป้าหมายของการปฏิวัติโค่นล้มมูบารัค ผู้นำจอมเผด็จการ อย่างไรก็ตามทางกลุ่มภารดรภาพมุสลิม อ้างว่ารัฐธรรมนูญนี้มีความจำเป็นเพื่อคืนเสถียรภาพแก่ประเทศ
กระนั้นก็ดี ตัวเลขของผู้ออกมาใช้สิทธิอันน้อยนิดก็คงก่อความกังวลต่อฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญพอสมควร “อะไรก็ตามที่น้อยกว่าร้อยละ 70 ล้วนแต่ไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น” อัมร์ ดาร์รัก สมาชิกระดับอาวุโสของพรรคฟรีดอมแอนด์จัสติก ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งมีส่วนช่วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้บอกไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม
จากนี้ไปทุกความสนใจจะหันสู่ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังรัฐสภาชุดก่อนหน้านี้ถูกยุบตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน