เอเจนซีส์ - ภายหลังกลุ่มอิสลามิสต์ชาวอียิปต์หลายแสนคนที่เป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ออกมาชุมนุมแสดงพลังในวันเสาร์(1) ก็มีพวกเขาส่วนหนึ่งจำนวนหลายร้อยคนไปประท้วงอยู่ตลอดคืนที่บริเวณด้านนอกของศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด จนในที่สุดก็บังคับให้คณะผู้พิพากษาต้องแถลงในวันอาทิตย์ (2) เลื่อนการวินิจฉัยตัดสินว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ มอร์ซีได้รีบลงนามรับรองรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการชุดนี้เร่งรัดร่างออกมาแล้ว และประกาศจัดการลงประชามติร่างกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่นี้ในวันที่ 15 ธันวาคม
วันเสาร์ที่ผ่านมา (1) ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีอย่างน้อย 200,000 คน นำโดยสมาชิกขบวนการภราดรภาพมุสลิม และกลุ่มมุสลิมเคร่งจารีต “ซาลาฟิสต์” ได้ชุมนุมตามท้องถนนของกรุงไคโร ภายหลังที่มอร์ซี ได้รีบประกาศรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ครอบงำโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวนิยมอิสลาม ได้เร่งรัดจัดทำออกมา อีกทั้งประธานาธิบดีผู้นี้ยังประกาศให้มีการลงประชามติว่าจะประชาชนจะยอมรับรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ในวันที่ 15 ที่จะถึงนี้ ท่ามกลางวิกฤตการเมืองเลวร้ายที่สุดนับจากที่มอร์ซีได้รับเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน
หลังการปราศรัยของมอร์ซีในการชุมนุมแสดงกำลังเมื่อวันเสาร์ ก็มีผู้สนับสนุนเขาหลายร้อยคนเคลื่อนขบวนไปชุมนุมกดดันหน้าศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด ที่มีกำหนดประกาศคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบธรรมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ (2) โดยขบวนการภราดรภาพมุสลิมซึ่งเป็นผู้ส่งให้มอร์ซีขึ้นสู่อำนาจสูงสุด กล่าวหาฝ่ายต่อต้านว่า ขัดขวางการปฏิวัติอาหรับสปริง ที่โค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค เมื่อปีที่แล้ว
กลุ่มอิสลามิสต์เหล่านี้ซึ่งจำนวนมากมีผ้าห่มคลุมกายและถือโปสเตอร์ภาพของมอร์ซี ได้ค้างแรมตลอดคืนวันเสาร์ ที่บริเวณด้านนอกที่ทำการของศาล และปิดกั้นถนนสายหลักในบริเวณนั้น รวมทั้งพยายามสกัดไม่ให้พวกผู้พิพากษาเข้าไปในอาคารที่ทำการได้
ทางฝ่ายพิพากษาได้ตอบโต้ด้วยการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในวันอาทิตย์ออกไปก่อน เนื่องจากเหตุผลทางด้าน “การบริหาร” ซึ่งก็ทำให้กลุ่มอิสลามิสต์ที่ชุมนุมอยู่จำนวนมากพอใจและเดินทางกลับ
แต่หลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดก็แถลงว่า จะเริ่มการประท้วงนัดหยุดงานโดยไม่มีกำหนด “จนกว่าจะไม่มีแรงบีบคั้นทั้งทางจิตวิทยาและทางกายภาพ” ต่อพวกเขาแล้ว
**ฝ่ายต่อต้านไม่ยอมถอย**
ขณะที่พวกผู้สนับสนุนประธานาธิบดีออกมาชุมนุมกันครั้งใหญ่เมื่อวันเสาร์นั้น ทางอีกฝั่งของแม่น้ำไนล์ ผู้คนหลายร้อยคนยังคงยืนหยัดชุมนุมอยู่ในจัตุรัสตอห์รีร์ ซึ่งยืดเยื้อมานับจากที่มอร์ซีประกาศกฤษฎีกาเพิ่มอำนาจให้ตนเองสามารถตัดสินใจและออกกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของระบบตุลาการเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน
แนวร่วมกู้ชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยโมฮัมเหม็ด เอลบาราเดอี อดีตผู้อำนวยการทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ, อัมร์ มุสซา อดีตประธานสันนิบาตอาหรับ และฮัมดีน ซับบาฮี อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกคนหนึ่ง ได้เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกดดันมอร์ซีต่อไป รวมทั้งต่อต้านกฤษฎีกาที่ขัดต่อกฎหมาย ยกเลิกร่างรัฐธรรมนูญ และยืนยันสิทธิของประชาชนในการประท้วงอย่างสันติ เช่น การนัดหยุดงานทั่วไป และวิธีการแบบอารยขัดขืน
ทางด้าน โจ สตอร์ก จากฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ได้วิจารณ์มอร์ซีว่า การรีบร้อนผลักดันร่างรัฐธรรมนูญขณะที่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนยังไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้ปัญหาลุกลามยิ่งขึ้น
ส่วนองค์การนิรโทษกรรมสากลสำทับว่า ร่างรัฐธรรมนูญกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับความยึดมั่นในสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของอียิปต์ โดยเฉพาะการละเลยสิทธิสตรีและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกด้านศาสนา
อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญที่เร่งรัดผ่านออกมานี้ ยังจำกัดวาระการทำงานของประธานาธิบดีได้เพียง 2 สมัยๆ ละ 4 ปี กำหนดให้การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภา และเปิดโอกาสให้พลเรือนตรวจสอบกองทัพแม้ในระดับที่เล็กน้อยมากก็ตาม
ขณะเดียวกัน ในการจัดการลงประชามติ มอร์ซีจะต้องพึ่งพาคณะผู้พิพากษา ซึ่งมีบางส่วนนัดหยุดงานประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 22 เดือนที่แล้วและขบวนการภราดรภาพมุสลิมเชื่อว่า มีสายสัมพันธ์กับระบอบมูบารัค ทั้งนี้ กฎหมายอียิปต์กำหนดให้คณะผู้พิพากษาทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้ง
มูร์ซีนั้นหวังว่า ผู้สนับสนุนพันธุ์แท้ของขบวนการอิสลามิสต์และชาวอียิปต์ทั่วไปที่เบื่อหน่ายต่อความไร้เสถียรภาพจะลงมติสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ตัวเขาเองได้คะแนนเฉียดฉิวในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ขบวนการอิสลามิสต์ก็กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้งหลังจากมูบารัคตกจากอำนาจ
สำหรับกลุ่มต่อต้านนั้นจะต้องตัดสินใจว่า จะเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการลงประชามติ หรือกา “ไม่” ในการลงประชามติ ซึ่งหากเป็นอย่างหลัง มอร์ซีจะยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามกฤษฎีกาล่าสุด ที่เขาประกาศว่า จะยอมยกเลิกต่อเมื่อมีการรับรองรัฐธรรมนูญแล้วเท่านั้น และการเลือกตั้งสมาชิกรัฐภาก็ไม่สามารถทำได้หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านความเห็นชอบ
ทั้งนี้ อียิปต์ไม่มีสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง นับตั้งแต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดตัดสินเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ขบวนการอิสลามิสต์ได้ครองเสียงข้างมาก