xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ทำความรู้จักพิพิธภัณฑ์รักร้าวแห่งโครเอเชีย : ศูนย์รวมความทรงจำแสนปวดใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อพูดถึงคำว่า “พิพิธภัณฑ์” และคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ของไทยมีความหมายโดยรวมๆ ว่าเป็น “สถาบันถาวรที่ใช้สำหรับเก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญทั้งทางด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ” ขณะที่ คำว่า “museum” ในภาษาอังกฤษนั้น พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับต่างๆ ก็ได้อธิบายขยายความเอาไว้ในทำนองเดียวกันว่า เป็น “สถานที่สำหรับสะสมหรือรวบรวมสงวนรักษาสิ่งของซึ่งมีความสำคัญ มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา ตลอดจนเป็นหลักฐานแสดงถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและความอัจฉริยะของมนุษย์”

อย่างไรก็ดี การถือกำเนิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งภายในกรุงซาเกร็บ ซึ่งเป็นนครหลวง และเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐโครเอเชีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป อาจทำให้ความหมายหรือนิยามของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” หรือ “museum” ตามแบบเดิมๆ ที่เรารับรู้กันมา มีอันต้องเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

พิพิธภัณฑ์แห่งดังกล่าวที่ตั้งอยู่ในกรุงซาเกร็บของโครเอเชียใช้ชื่อที่แสนเรียบง่าย แต่สะดุดหูว่า “Museum of Broken Relationships” หรือพิพิธภัณฑ์แห่งความสัมพันธ์ที่แตกสลายพังทลายนั่นเอง และเชื่อหรือไม่ว่า ในขณะนี้พิพิธภัณฑ์ที่เป็นอนุสรณ์แห่งรักร้าวนี้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ฮอตฮิตติดลมบนที่สุดของดินแดนโครแอต ถึงขั้นที่ว่า “Lonely Planet” ผู้ผลิตหนังสือคู่มือด้านการท่องเที่ยว และสื่อดิจิตอลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของโลกซึ่งมีฐานอยู่ที่นครเมลเบิร์นของออสเตรเลียต้องระบุว่า หากนักท่องเที่ยวรายใดที่เดินทางมาเยือนกรุงซาเกร็บ แต่ยังไม่ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ก็เหมือนกับยัง “มาไม่ถึง” เมืองหลวงของโครเอเชียนั่นเอง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซึ่งมีชื่อในภาษาโครเอเชียนว่า “Muzej prekinutih veza” ถูกก่อตั้งโดย โอลินกา วิสติกา ผู้สร้างภาพยนตร์สาว และดราเซน กรูบิซิช ประติมากรหนุ่มแห่งกรุงซาเกร็บ หลังจากที่ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะยุติความสัมพันธ์ในฐานะคู่สามี-ภรรยาที่ดำเนินมานานกว่า 4 ปีลงเมื่อปี ค.ศ. 2003 ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะนำเอาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เคยเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตคู่อันหวานชื่นของพวกเขาซึ่งกลายเป็นอดีตไปแล้ว มารวบรวมและจัดแสดง แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้อย่างสูญเปล่าในห้องเก็บของ

นอกจากนั้น โอลินกาและดราเซนซึ่งเปลี่ยนสถานะจาก “คู่รัก” กลายเป็น “เพื่อนสนิท” ยังได้เริ่มติดต่อญาติสนิทมิตรสหายรอบตัวที่เคยผ่านการหย่าร้างหรือผิดหวังในความรักมาก่อนให้ช่วยนำสิ่งของต่างๆ ที่กลายเป็น “ขยะความรัก” มาบริจาคเพิ่มเติม จนกระทั่งจำนวนสิ่งของสำหรับจัดแสดงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2006

ในระยะแรกของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์รักร้าวนี้ยังมีสถานะเป็นเพียง “นิทรรศการเคลื่อนที่” ที่มีการตระเวนไปจัดแสดงตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี มาเซโดเนีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา ตุรกี อาร์เจนตินา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ สโลวีเนีย เซอร์เบีย แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาโดยยังไม่มีที่ทำการถาวรนานถึง 5 ปี ระหว่างปี 2006-2010

แต่ถึงกระนั้นการจัดแสดงของโอลินกาและดราเซนก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากจำนวนผู้เข้าชมในประเทศต่างๆรวมกันมากกว่า 200,000 คน และในทุกประเทศที่พวกเขาเดินทางไป ยังได้รับบริจาคสิ่งของที่เป็นอนุสรณ์ของความผิดหวังด้านความรักเพิ่มมาอีกจำนวนมาก จนนำไปสู่ความคิดในการหาสถานที่ถาวรสำหรับจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ ซึ่งในที่สุดโอลินกาและดราเซนได้ตัดสินใจลงทุนด้วยเงินเก็บส่วนตัวของแต่ละคนเพื่อเช่าอาคารขนาดเนื้อที่ 300 ตรางเมตร (3,200 ตารางฟุต) กลางกรุงซาเกร็บ และทำการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนตุลาคม 2010 ซึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งเปิดให้บริการ 7 วันต่อสัปดาห์ก็ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมภายในเวลาอันรวดเร็ว
“ex-axe” ที่ได้รับบริจาคมาจากสตรีรายหนึ่ง ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี
เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว “Museum of Broken Relationships” แห่งนี้ได้รับรางวัล “เคนเน็ธ ฮัดสัน อวอร์ดส์” ซึ่งเป็นรางวัลที่ถูกระบุว่า ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการพิพิธภัณฑ์โลกจากที่ประชุมพิพิธภัณฑ์ยุโรป (EMF) ในฐานะพิพิธภัณฑ์ดีเด่นด้านนวัตกรรม

สำหรับผู้ที่มีโอกาสเดินทางไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ หนึ่งในสิ่งของเครื่องใช้ที่ถือเป็น “ไฮไลต์” ชิ้นสำคัญที่ไม่ควรพลาดชมคือ ขวานเล่มหนึ่งที่ถูกตั้งชื่อว่า “ex-axe” ที่ได้รับบริจาคมาจากสตรีรายหนึ่ง ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี โดยขวานเล่มนี้อดีตเจ้าของของมันเคยใช้ในการทำลายเฟอร์นิเจอร์และของใช้ต่างๆ ของแฟนหนุ่มจนกระจุยกระจาย หลังจากที่เธอทราบว่าตนเองถูกคนรักหนุ่มทิ้งไปอยู่กับผู้หญิงอื่น

การถือกำเนิดของพิพิธภัณฑ์แห่งความรักที่ไม่สมหวังในประเทศโครเอเชียนี้ นอกจากจะเป็นการนำเอาบรรดาสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็น “เศษซากของความรัก” ที่เคยหอมหวานมาจัดแสดงแทนการปล่อยทิ้งไปอย่างไร้ค่าแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังช่วยสะกิดเตือนใจใครต่อใครให้หันมาใส่ใจกับคนรักและครอบครัวของตัวเองให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เพราะไม่แน่ว่า สักวันหนึ่งของที่เคยเป็นสิ่งแทนใจในความรักของเรา อาจต้องกลายไปเป็นส่วนหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ของโอลินกาและดราเซนก็เป็นได้


โอลินกา วิสติกา ผู้สร้างภาพยนตร์สาว และดราเซน กรูบิซิช ประติมากรหนุ่ม ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์

กำลังโหลดความคิดเห็น