xs
xsm
sm
md
lg

กระแสหวาดผวา‘วันสิ้นโลก’ในประเทศจีน

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Doomsday phobia hits China
By Wu Zhong
11/12/2012

จากการที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง “2012” ในเวอร์ชั่น 3 มิติ ถูกนำออกฉายในประเทศจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เราได้พบเห็นกันอีกคำรบหนึ่ง เกี่ยวกับพฤติกรรมประหลาดๆ ของคนที่เชื่อในคำทำนายอันได้รับแรงบันดาลใจจากปฏิทินของชาวมายา ที่ว่า วันที่ 21 ธันวาคม 2012 คือวันสิ้นโลก เป็นต้นว่า มีรายหนึ่งนำห้องชุดอพาร์ตเมนต์ของเธอไปจำนอง ด้วยความประสงค์จะนำเงินที่ได้ไปทำให้เด็กๆ คนยากจนได้มีความสุขในช่วงไม่กี่วันสุดท้ายของชีวิต ขณะที่อีกหลายๆ คนผลาญเงินออมของครอบครัวไปในการดื่มสุราและรับประหารอาหารชั้นเลิศ ปรากฏการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกัน และถูกประณามว่า มันสะท้อนให้เห็นถึง “สุญญากาศทางความคิดอุดมการณ์” ในแดนมังกรปัจจุบันนี้

ฮ่องกง – หากเราลองตรวจสอบค้นคว้าแนวความคิดของคนจีน ไม่ว่าจะเป็นความคิดอุดมการณ์ชาวคอมมิวนิสต์แบบ เหมา เจ๋อตง หรือทฤษฎีสังคมนิยมที่มีลักษณะพิเศษแบบจีนของ เติ้ง เสี่ยวผิง หรือกระทั่งทัศนะต่อชีวิตของผู้คนแดนมังกรในอดีตโบร่ำโบราณไปกว่านั้น คงยากที่จะค้นพบว่าคนจีนมีความเชื่อในเรื่องวันสิ้นโลก

ทว่านับตั้งแต่ที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูด เรื่อง “2012” ของผู้กำกับ โรแลนด์ เอมเมอริช (Roland Emmerich) ถูกนำออกฉายในประเทศจีนเมื่อปี 2009 ปรากฏว่ามีคนจีนที่ยังมีจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งทว่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดความเชื่อถือในสิ่งที่บอกกันว่าเป็นคำทำนายของชาวมายา ซึ่งระบุว่า วันที่ 21 ธันวาคม ปีนี้จะเป็นวันสิ้นโลก มีการถกเถียงโต้แย้งกันตามเวทีต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ พวกเชื่อถือทฤษฎีวันสิ้นโลกบางคนก็เริ่มประพฤติตนในทางที่ทำให้คนอื่นๆ เห็นว่าเพี้ยนๆ แปลกๆ และเนื่องจากว่านี่คือเมืองจีน จึงทำให้มีนักธุรกิจหัวแหลมคิดไวบางคนมองเห็นว่ามันเป็นโอกาสอันดีที่จะกอบโกยหาเงินทองหากำไร อย่างไรก็ตาม ผู้คนเหล่านี้ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขาส่วนใหญ่แล้วมักถูกละเลยไม่ค่อยได้รับการแยแสยุ่งเกี่ยว จวบจนกระทั่งในระยะหลังๆ มานี้

เวอร์ชั่น 3 มิติของหนังเรื่อง 2012 ถูกนำออกฉายในประเทศจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นั่นก็คือเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะถึงวันซึ่งถูกระบุว่าเป็นวันสิ้นโลก และเรื่องนี้ดูจะเป็นการย้ำเตือนให้พวกที่เชื่อถือทฤษฎีนี้ระลึกได้ว่าความพินาศของโลกกำลังขยับใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็วแล้ว

ปรากฏว่ามีภรรยาของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งในเมืองหนานจิง (นานกิง) นครหลวงของมณฑลเจียงซู อันแสนจะมั่งคั่ง ได้เร่งรีบนำเอาห้องชุดอพาร์ตเมนต์หรูมูลค่า 3 ล้านหยวน (1 หยวนประมาณ 5 บาท) ไปจำนอง แม้จะได้เงินมาเพียงแค่ 1.04 ล้านหยวน จากนั้นก็ถอนเงินออมทั้งหมดของครอบครัวเธอออกจากบัญชีธนาคารทุกบัญชี ตลอดจนหยิบยืมเงินเพิ่มเติมจากพวกเพื่อนร่วมงาน รวมแล้วเธอสามารถรวบรวมเงินสดมาได้ราว 2 ล้านหยวน และกำลังเตรียมที่จะบริจาคเงินเหล่านี้ทั้งหมดให้แก่เด็กๆ ยากจน เพื่อทำให้พวกเขามีความสุข “ในช่วงสองสามวันสุดท้าย”

เมื่อแผนการของเธอถูกค้นพบและถูกยับยั้งไปเสียก่อน เธอก็พูดเพียงแค่ว่า “ไหนๆ โลกก็กำลังจะแตกดับไปแล้ว และพวกเราก็ต้องตายกันไปหมดทุกคนแล้ว เรายังจะเก็บทรัพย์สมบัติและเงินทองของเราเอาไว้เพื่ออะไรอีก”

ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้เป็นแม่บ้านที่ไม่ประสีประสา เธอเป็นวิศวกรระดับอาวุโส เป็นปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาอย่างดี แต่ทำไมคนเก่งคนฉลาดขนาดนี้จึงยังเชื่อถือในสิ่งที่สังคมทั่วไปมองว่าเป็นความเชื่องมงายไร้เหตุผลได้? ด้วยความพิศวงงุนงง สื่อจีนและสาธารณชนจีนจึงเริ่มจับตาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นกับปรากฏการณ์ “วันสิ้นโลก” นี้

นักวิจารณ์บางคนบอกว่า ถึงแม้พฤติกรรมของเธอดูไร้เหตุผลสักเพียงใดก็ตามที แต่มันก็ยังแสดงให้เห็นความเมตตากรุณาและจิตใจที่ดีงาม เพราะเธอยังคงพยายามที่จะช่วยเหลือคนอื่นๆ แม้ในเวลาที่เธอเชื่อว่ากำลังจะเป็นชั่วขณะท้ายๆ แห่งชีวิตของเธอแล้ว เปรียบเทียบกับการกระทำอื่นๆ ของพวกที่เชื่อทฤษฎีวันโลกแตกอีกหลายๆ คนแล้ว การกระทำของเธอต้องถือว่าไม่เห็นแก่ตัวและเห็นแก่คนอื่นจริงๆ

ตัวอย่างเช่น ช่างไม้คนหนึ่งในเขตเทศบาลมหานครฉงชิ่ง เมื่อเชื่อว่าวันสิ้นโลกกำลังใกล้มาถึงเต็มทีแล้ว เขาก็จัดแจงปรนเปรอตัวเองด้วยการดื่มกินอย่างเต็มที่ โดยใช้เงินออมทั้งหมดของครอบครัวที่มีอยู่ประมาณ 110,000 หยวน ทั้งๆ ที่ภรรยาของเขากำลังท้องแก่ใกล้จะคลอดบุตรสาวของพวกเขาอยู่แล้ว ด้วยความโกรธกริ้วในพฤติการณ์ “งี่เง่า” ของเขา ภรรยาจึงตัดสินทิ้งเขาไป โดยนำเอาบุตรสาวที่เพิ่งคลอดไปด้วย

หรือกรณีของลูกพี่ลูกน้อง 2 คนในมณฑลเจ้อเจียง ภายหลังอ่านจากอินเทอร์เน็ตในเรื่องที่ว่า “โลกจะแตกดับไปในปี 2012” แล้ว พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะออกลักขโมยและเอาเงินทองที่ได้มาจับจ่ายใช้สอยให้สำราญบานใจ พวกเขาออกจากงานที่ทำอยู่ และภายในเวลา 2 เดือนก็ก่อคดีลักขโมยไป 12 คดี แล้วนำเงินทองที่ได้ไปดื่มสุรากินอาหารดีๆ จวบจนกระทั่งถูกตำรวจจับกุม

ที่เมืองฮูฮอต เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน หญิงสาวคนหนึ่งโยนข้าวของมีค่าของเธอออกมาทางหน้าต่างห้องพักของเธอ เนื่องจากเธอเชื่อว่ามันไม่มีความหมายอะไรที่จะเก็บรักษาของเหล่านี้เอาไว้อีกแล้ว ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะถูกทำลายดับสูญไปหมด

ในเขตซินเจียงอันไกลโพ้น ชายผู้หนึ่งใช้จ่ายเงินออมของครอบครัวของเขาที่มีอยู่กว่า 1 ล้านหยวน เพื่อสร้าง “เรืออาร์ก” (ชื่อเรือของโนอาห์ในคัมภีร์ไบเบิล) ด้วยความหวังว่าครอบครัวของเขาจะโชคดีสามารถรอดชีวิตได้ในที่สุด ในทำนองเดียวกัน ชาวนาคนหนึ่งในมณฑลเหอหนานก็ได้สร้างเรือลำหนึ่งซึ่งสามารถบรรทุกสมาชิกในครอบครัว, ทรัพย์สินมีค่า, เป็ดไก่และปศุสัตว์ ของเขา

นักธุรกิจหัวแหลมคนหนึ่งในเจ้อเจียงมองเรื่องนี้ว่าเป็นโอกาสอันดี จึงเริ่มโฆษณารับสร้าง “เรืออาร์กของโนอาห์ยุคใหม่” โดยคุยว่าเรืออาร์กสมัยใหม่ดังกล่าวนี้มีศักยภาพที่จะนำพาผู้พักอาศัยให้รอดชีวิตจากภัยพิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟระเบิด, คลื่นสึนามิ, น้ำท่วม, แผ่นดินไหว, หรือกระทั่งรังสีนิวเคลียร์ สนนราคามีตั้งแต่ 1 ล้าน ไปจนถึง 5 ล้านหยวน ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบและ “ลูกเล่น” ต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการให้มีอยู่ในเรือ เขาบอกว่าได้รับออร์เดอร์ซื้อเรืออาร์กแบบนี้มาแล้ว 21 ลำ

ส่วนในเมืองลาซา เมืองหลวงของทิเบต มีผู้พบเห็นแผงขายของตรงด้านหน้าพระราชวังโปตาลา กำลังขายโปสการ์ดซึ่งทำเป็นตั๋วสำหรับใช้โดยสารใน “เรืออาร์กของโนอาห์” ในราคาใบละ 2 หยวน ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว โปตาลาเป็นศาสนสถานของชาวพุทธ ขณะที่ เรืออาร์กของโนอาห์ เป็นเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์

ปรากฏการณ์วันสิ้นโลกนี้ ทำให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันอย่างมีชีวิตชีวาในสื่อมวลชนจีน ถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้คนในจีนทุกวันนี้ รวมทั้งพวกที่มีการศึกษาสูงๆ อย่างเช่นวิศวกรหญิงที่หนานจิงด้วย ตกอยู่ในอิทธิพลของความเชื่อแบบงมงายไร้เหตุผลได้อย่างง่ายดายเช่นนี้

พวกที่แสดงความคิดเห็นบางคนกล่าวโทษ “สุญญากาศทางความคิดอุดมการณ์” ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากขาดไร้ความคิดอุดมการณ์ระดับชาติอันใหม่ ซึ่งจะเข้าแทนที่ลัทธิมาร์กซ์และลัทธิเหมาแบบเคร่งคัมภีร์ที่ได้ถูกทอดทิ้งไปแล้ว ผลก็คือ ขณะที่ประชาชนอาจจะมีชีวิตทางวัตถุดีขึ้นกว่าในอดีต แต่พวกเขากลับยากจนในทางจิตใจหรือกระทั่งว่างเปล่าในทางจิตใจทีเดียว ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงมีความโน้มเอียงที่จะซึมซับยอมรับความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ อะไรก็ตามได้อย่างง่ายดาย เหมือนกับฟองน้ำแห้งๆ ก้อนหนึ่งกำลังดูดซับน้ำ

นักวิเคราะห์คนอื่นๆ มองว่า สิ่งนี้อาจมีอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่ว่าสังคมทุกวันนี้ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย อารมณ์ความรู้สึกลึกๆ เช่นนี้กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนั้น ขณะที่มีโอกาสมันก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน และชีวิตในทุกวันนี้ก็ดูจะเต็มไปด้วยวิกฤตในยุคใหม่

เมื่อคุณรับประทานอะไรก็ตามที คุณก็ต้องเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางด้านอาหาร เมื่อคุณลงทุน คุณก็ต้องวิตกกังวลว่าคุณอาจจะสูญเงินทองทั้งหมดของคุณไป เมื่อคุณเดินทาง คุณก็ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุบัติเหตุถึงบาดเจ็บล้มตาย เมื่อคุณเปิดทีวี คุณก็จะเห็นสงครามและภัยพิบัตินานา เมื่อคุณแต่งงาน คุณก็จะต้องวิตกกังวลว่าคุณคงไม่สามารถหาเงินทองเพียงพอที่จะซื้อบ้านได้ เมื่อคุณล้มป่วย คุณก็ต้องวิตกกังวลว่าคุณคงไม่สามารถรับการรักษาพยาบาลอย่างดีเพียงพอได้ ... ดังนั้น คนบางคนจึงรู้สึกหงุดหงิดผิดหวังและกระวนกระวายใจมากขึ้นเรื่อยๆ คิดอยู่แต่ว่าโลกเราซึ่งช่างเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และวิกฤตต่างๆ กำลังใกล้ที่จะแตกดับแล้ว

คำอธิบายแต่ละอย่างเหล่านี้อาจจะดูมีอะไรที่น่ารับฟัง ทว่าเมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองในอีกทางหนึ่งแล้ว เราก็น่าที่จะพูดได้เช่นกันว่า ข้อเท็จจริงที่ว่า “ความหวาดผวาปี 2012” สามารถแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางในประเทศจีนได้เช่นนี้ คือสัญญาณเครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งว่า สังคมจีนในเวลานี้มีความเปิดกว้างยิ่งกว่าในอดีต แนวความคิดต่างๆ หลากหลายจำนวนมากสามารถแพร่กระจายไปทั่วทั้งสังคมจีนทุกวันนี้ได้แล้ว

จากทัศนะมุมมองเช่นนี้ เรายังอาจกล่าวต่อไปได้ด้วยว่า มันเป็นความก้าวหน้าที่ปัจจุบันไม่มีการเรียกร้องหรือการบังคับให้ประชาชนต้องเชื่อในแนวความคิดอย่างเดียวกันอีกต่อไปแล้ว ถึงแม้ยังคงมีการจำกัดเข้มงวดในเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่ก็ตามที นอกจากนั้นมันก็เป็นเรื่องดีเช่นกันที่เราได้พบเห็นว่า จวบจนถึงเวลานี้บทวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ในสื่อมวลชนของทางการเกี่ยวกับความหวาดผวาปี 2012 ยังคงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบใช้เหตุใช้ผล, สมเหตุสมผล, มุ่งชักชวนโน้มน้าวและให้การศึกษา โดยปราศจากความพยายามใดๆ ที่จะทำให้การวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิด “อันไม่ถูกต้อง” ที่มาจากต่างแดนนี้ กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไป
อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น