เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์- “Aramco” บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย แถลงยอมรับเป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ (9) ว่า เคยตกเป็นเป้าของการจู่โจมไซเบอร์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้คอมพิวเตอร์ของบริษัทได้รับความเสียหายนับหมื่นเครื่อง พร้อมเผย เป้าหมายของการโจมตีดังกล่าวคือการทำให้การผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของซาอุดีอาระเบีย ที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มโอเปก เป็นอัมพาต
คำแถลงของ “Aramco” ซึ่งผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 10 ยืนยันว่า เหตุโจมตีที่บริษัทของตนตกเป็นเหยื่อนั้น ถือเป็นการจู่โจมไซเบอร์ที่รุนแรงที่สุดที่กระทำต่อภาคธุรกิจ
ด้านอับดุลเลาะห์ อัล ซาดาน รองประธานฝ่ายวางแผนองค์กรของบริษัทระบุว่า เป้าหมายหลักของกลุ่มแฮ็คเกอร์ที่ลงมือก่อเหตุเมื่อเดือนสิงหาคม คือ หยุดยั้งการผลิต และการส่งออกน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียสู่ตลาดโลก แต่เคราะห์ดีที่แผนของกลุ่มคนร้ายดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ
รายงานข่าวระบุว่า ผู้บริหารของบริษัท รวมถึง กระทรวงมหาดไทยซาอุดีอาระเบีย ได้เปิดการสืบสวนเหตุจู่โจมดังกล่าวและพบข้อมูลว่า พวกแฮ็คเกอร์ที่ลงมือโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท เป็นสมาชิกกลุ่มอาชญากรใหญ่ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในหลายประเทศใน 4 ทวีปทั่วโลกที่เปิดการโจมตีพร้อมๆกันเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาโดยใช้ไวรัสคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า “ชามูน” เป็นอาวุธสำคัญในการโจมตี จนบริษัทต้องปิดระบบเมนเฟรมนานกว่า 1 สัปดาห์ แต่โชคยังดีที่ระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ควบคุมกระบวนการผลิตและส่งออกน้ำมันไม่ได้รับความเสียหายมากนัก และยังคงสามารถใช้การได้ตามปกติ
นักวิเคราะห์ชี้ว่า เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียซึ่งพึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง80-90 เปอร์เซ็นต์จากรายได้จากการส่งออกทั้งหมดจะได้รับความเสียหายอย่างมิอาจประเมินค่าได้หากไม่สามารถผลิตและส่งออกน้ำมันได้ตามปกติ
หลังเกิดเหตุจู่โจมเมื่อเดือนสิงหาคมไม่นาน กลุ่มนักเจาะระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกตัวเองว่า “คมดาบแห่งความยุติธรรม” ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบ โดยยืนยันจุดประสงค์หลักของการก่อเหตุเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางด้านการเมือง ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองของซาอุดีอาระเบียเผยว่า สมาชิกของกลุ่มแฮ็คเกอร์ดังกล่าวบางส่วนมาจากซีเรียและบาห์เรน ชาติเพื่อนบ้านในภูมิภาคตะวันออกกลางนั่นเอง
ทั้งนี้ คาดว่า สาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่เหตุโจมตีดังกล่าว เกิดจากความไม่พอใจที่ซาอุดีอาระเบียส่งทหารของตนเข้าไปในบาห์เรนเพื่อให้การคุ้มครองคณะผู้ปกครองของบาห์เรน ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี เหมือนกับตน หลังเกิดการลุกฮือของกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ส่วนใหญ่เป็นพวกมุสลิมนิกายชีอะห์ รวมถึง บทบาทของซาอุดีอาระเบียที่พยายามช่วยเหลือฝ่ายกบฏในซีเรียอย่างลับๆ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลภายใต้การนำของบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำซีเรียที่เป็นพวกมุสลิมอะลาวิต