xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’กับ‘เนทันยาฮู’หลังปาเลสไตน์มีชัยในยูเอ็น

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Obama urged to rein in Netanyahu
By Jim Lobe
06/12/2012

มีเสียงซึ่งทรงความสำคัญจำนวนหนึ่งในวอชิงตัน ออกมาเรียกร้อง บารัค โอบามา ให้ใช้แรงบีบคั้นกดดันต่อนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ภายหลังจากที่เขาประกาศแผนการล่าสุดในการขยายเขตตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในดินแดนเวสต์แบงก์ ด้วยความโกรธกริ้วที่ปาเลสไตน์มีชัยในทางการทูตครั้งสำคัญ โดยได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติให้ยกฐานะจากการเป็นองค์กรผู้สังเกตการณ์ ขึ้นเป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ แต่ปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาวกลับเป็นความนิ่งเฉย ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่าประธานาธิบดีอเมริกันไม่มีเจตนารมณ์ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องนี้ซึ่งสามารถกลายเป็นศึกใหญ่ศึกหนึ่งในสมัยที่สองแห่งการเป็นผู้นำสหรัฐฯของเขา ตรงกันข้าม โอบามาตั้งใจที่จะมุ่งเน้นความสนใจไปยังปัญหาน่าหนักใจภายในประเทศทั้งหลาย, ลดทอนบทบาทของสหรัฐฯในตะวันออกกลางให้น้อยลงไปเรื่อยๆ, และรวมศูนย์เพ่งเล็งไปที่ยุทธศาสตร์แห่งการหวนกลับไปให้ความสำคัญต่อเอเชีย-แปซิฟิก

วอชิงตัน – ขณะนี้กำลังมีความคับข้องกังวลใจกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับผลพวงต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นมา จากที่อิสราเอลออกมาตรการเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมุ่งที่จะลงโทษองค์การบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority หรือ PA) และในเวลาเดียวกันก็เป็นการเข้ายึดครองดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (เวสต์แบงก์) เอาไว้อย่างแน่นหนายิ่งขึ้นไปด้วยในตัว ดังนั้น จึงมีเสียงซึ่งทรงความสำคัญจำนวนหนึ่งในวอชิงตัน ออกมาเรียกร้องเร่งรัดประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้ใช้แรงกดดันบีบคั้นอย่างจริงจังต่อนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) แห่งอิสราเอล เพื่อให้ยินยอมเปลี่ยนแปลงนโยบาย

ทั้งนี้รัฐบาลของเนทันยาฮูประกาศเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า จะสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ๆ 3,000 หน่วย ขึ้นในเขตตะวันออกของนครเยรูซาเลม (East Jerusalem) และในเขตเวสต์แบงก์ รวมทั้งยังจะเร่งรัดจัดทำแผนการเพื่อพัฒนาพื้นที่ที่เรียกขานกันว่า อี-1 (E-1) ซึ่งเป็นพื้นที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบริเวณซึ่งเชื่อมโยงส่วนตอนเหนือและส่วนตอนใต้ของเขตเวสต์แบงก์เข้าด้วยกัน แผนการนี้ได้รับการจับตามองในวอชิงตันว่าเป็นความเคลื่อนไหวมุ่งยั่วยุที่สามารถสร้างความเสียหายใหญ่โตทั้งต่อฝ่ายปาเลสไตน์และต่อคณะรัฐบาลโอบามา

“การก่อสร้างในพื้นที่ อี-1 จะทำให้แทบเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ที่จะจัดให้รัฐปาเลสไตน์ซึ่งจะเกิดขึ้นมาในอนาคต สามารถมีดินแดนต่างๆ ที่ต่อเชื่อมติดกัน อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงคงอยู่ต่อไปได้ รวมทั้งยังจะทำให้รัฐในอนาคตนี้ถูกตัดขาดจากเยรูซาเลมตะวันออกอีกด้วย” เดบรา เดอลี (Debra DeLee) กล่าวเตือน เธอมีตำแหน่งเป็นประธานของกลุ่มสันติภาพชาวยิวที่มีชื่อว่า กลุ่มชาวอเมริกันเพื่อสันติภาพเดี๋ยวนี้ (Americans for Peace Now หรือ APN)

“หากไม่มีรัฐของชาวปาเลสไตน์ที่ดำรงคงอยู่ได้ในดินแดนเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา (Gaza Strip) อิสราเอลเองก็จะต้องประสบเคราะห์กลายเป็นรัฐที่มีสองเชื้อชาติ ซึ่งหมายความถึงการจบสิ้นของวิสัยทัศน์แห่งชาวลัทธิไซออนนิสต์ (Zionist) ที่ว่า อิสราเอลควรที่จะต้องเป็นทั้งรัฐของชาวยิวและเป็นทั้งรัฐประชาธิปไตย” เธอกล่าวในหนังสือที่มีเนื้อหาขอร้องให้โอบามา “ดำเนินการแทรกแซงอย่างเป็นการส่วนตัวกับ ... เนทันยาฮู และเรียกร้องให้รัฐบาลของเขากลับมติในเรื่องนี้”

เสียงของเธอนับเป็น 1 ในเสียงจำนวนหนึ่ง ซึ่งกำลังเรียกร้องเร่งรัดให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดำเนินปฏิบัติการอันแข็งขันยิ่งขึ้นไปอีกเพื่อคัดค้านทัดทานผู้นำอิสราเอล ทั้งนี้นอกจากการประกาศโครงการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้นแล้ว เนทันยาฮูยังกำลังยึดเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่ยอมส่งต่อให้องค์การบริหารปาเลสไตน์ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะกระเสือกกระสนขาดแคลนเงินใช้จ่าย เพื่อเป็นการตอบโต้ที่องค์การบริหารปาเลสไตน์ยื่นเรื่องและก็ประสบความสำเร็จได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้มีฐานะเป็น รัฐผู้สังเกตการณ์ที่มิใช่สมาชิก (non-Member Observer State status) จากที่เคยเป็นแค่ องค์กรผู้สังเกตการณ์ที่มิใช่สมาชิก (non-Member Observer Entity status)

สหรัฐฯนั้นเป็นเพียง 1 ใน 9 ประเทศ (จากจำนวนทั้งสิ้น 188 ประเทศ) ที่ออกเสียงคัดค้านญัตติยกระดับฐานะทางการทูตขององค์การบริหารปาเลสไตน์ในสหประชาชาติคราวนี้ ไม่เพียงเท่านั้น เกี่ยวกับพฤติการณ์ของอิสราเอลภายหลังจากนั้น สหรัฐฯก็ยังไม่ได้แสดงการประท้วงอย่างเป็นทางการเลย ซึ่งแตกต่างไปจากพวกประเทศยุโรปจำนวนมาก แม้กระทั่งประเทศอย่าง อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, เดนมาร์ก, และสวีเดน

แท้ที่จริงแล้ว ปฏิกิริยาในเบื้องต้นของวอชิงตันต่อการประกาศมาตรการต่างๆ ของอิสราเอล คือการแสดงท่าทีชนิดค่อนข้างปิดปากเงียบ ทำเนียบขาวถึงแม้ออกมาแถลงเรียกความเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่าเป็น “การกระทำที่จะส่งผลทางลบ” ต่อเป้าหมายที่จะฟื้นฟูการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ขึ้นมาใหม่ แต่เนื้อความของคำแถลงก็เพียงแค่ “เรียกร้องบรรดาผู้นำอิสราเอลให้พิจารณาทบทวนการตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียวเหล่านี้เสียใหม่ ...” เท่านั้นเอง หลังจากนั้นอีก 3 วัน กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า การก่อสร้างในพื้นที่ อี-1 จะ “สร้างความเสียหายอย่างชัดเจนต่อความพยายามต่างๆ เพื่อที่จะบรรลุหนทางแก้ไขปัญหาแบบ 2 รัฐ (two-state solution นั่นคือ ให้มีทั้งรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์อยู่เคียงคู่กัน)” ขณะที่ตัวโอบามาเองไม่เอ่ยถึงเรื่องนี้เลย

การตอบโต้ของสหรัฐฯซึ่งจวบจนถึงเวลานี้ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างเบาโหวงมากเช่นนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากในวอชิงตันอ่านกันว่า ประธานาธิบดีโอบามาไม่มีเจตนารมณ์ที่จะสู้รบปรบมือกับผู้นำอิสราเอลผู้นี้ เพื่อเริ่มความพยายามกันใหม่อีกคำรบหนึ่งในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพ ถึงแม้เป้าหมายนี้เองคือสิ่งที่เขาเคยแสดงความกระตือรือร้นอย่างมากมายเพื่อไขว่คว้าให้ได้มาในระหว่างช่วงเวลา 18 เดือนแรกแห่งการบริหารประเทศของเขา ก่อนจะวางมือไม่ค่อยได้ยุ่งเกี่ยวอะไรจริงจัง สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในปีนี้

เมื่อพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของกลุ่มล็อบบี้รักษาผลประโยชน์ของอิสราเอล ซึ่งทรงอิทธิพลยิ่งในหมู่สมาชิกรัฐสภาอเมริกันทั้งในฝ่ายรีพับลิกันและในฝ่ายเดโมแครตแล้ว โอบามาคงปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ต้องการให้สมัยที่สองแห่งการดำรงตำแหน่งของเขาต้องเกิดศึกใหญ่ขึ้นมาอีกกับ เนทันยาฮู ซึ่งได้รับการคาดหมายกันโดยทั่วไปว่าพันธมิตรฝ่ายขวาของเขาน่าจะที่เป็นฝ่ายชนะในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของอิสราเอลเดือนหน้า และยังคงได้รับการหนุนหลังจากเหล่าผู้สนับสนุนที่ทรงอำนาจของเขาในวอชิงตันต่อไป ตรงกันข้าม โอบามาอาจปรารถนาที่จะมุ่งเน้นความสนใจไปยังประดาปัญหาน่าหนักใจภายในประเทศทั้งหลาย, ลดทอนบทบาทของสหรัฐฯในตะวันออกกลางให้น้อยลงไปอีก, และรวมศูนย์เพ่งเล็งไปที่ยุทธศาสตร์แห่งการหวนกลับไปให้ความสำคัญต่อเอเชีย-แปซิฟิก

กระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้แทบไม่ได้ทำให้ โอบามา กับ เนทันยาฮู “รัก” กันน้อยลงเลย เพราะตั้งแต่ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯแล้ว ผู้นำอิสราเอลผู้นี้ก็แสดงตัวชัดเจนแจ่มแจ้ง ยังขาดอยู่ก็เพียงการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในที่สาธารณะเท่านั้น ว่าตัวเขารับรองสนับสนุน มิตต์ รอมนีย์ แห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นคู่แข่งของโอบามา

มีร่องรอยด้วยซ้ำว่าความเกลียดชังไม่พอใจกันระหว่างผู้นำสองคนนี้ ยังได้ปรากฏให้เห็นกันอีกในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางรายงานข่าวหลายกระแสที่ว่า ในระหว่างการประชุมหารืออันทรงอิทธิพลและเป็นการภายใน ระหว่างชาวอิสราเอลคนสำคัญๆ กับผู้สนับสนุนระดับบิ๊กๆ ของพวกเขาในสหรัฐฯ ณ ศูนย์แซบันเซนเตอร์ (Saban Center) ของสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว อดีตประธานคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ราห์ม เอมานูเอล (Rahm Emanuel) ผู้ซึ่งยังคงใกล้ชิดสนิทสนมกับโอบามา ได้เอ่ยปากกล่าวหา เนทันยาฮู ว่า กระทำการ “ทรยศครั้งแล้วครั้งเล่า” ต่อประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้

เอมานูเอล ซึ่งเวลานี้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของนครชิคาโก ได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลเนทันยาฮูที่มุ่งต่อต้านองค์การบริหารปาเลสไตน์ของอิสราเอล โดยเขาใช้คำว่า เป็นการกระทำที่น่าขุ่นเคืองรำคาญใจ เมื่อพิจารณาถึงการที่วอชิงตันสู้อุตส่าห์แสดงท่าทีสนับสนุนอิสราเอลในระหว่างที่ทำสงครามช่วงสั้นๆ กับพวกฮามาส (Hamas) ในฉนวนกาซาเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งการที่สหรัฐฯคัดค้านอย่างโดดเดี่ยวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ไม่ให้ยอมรับการยกระดับฐานะทางการทูตของฝ่ายปาเลสไตน์

มีบางคนเชื่อว่าโอบามาอาจจะกำลังรอจังหวะในการดำเนินปฏิบัติการต่ออิสราเอล โดยน่าจะเป็นเวลาหลังจากที่สามารถแก้ไขคลี่คลายกิจการที่มีความเร่งด่วนมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลบหลีกออกจากภาวะที่เรียกกันว่า “หน้าผาการคลัง” (fiscal cliff) ในตอนสิ้นเดือนนี้ จากนั้นก็คือการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณโดยองค์รวมในช่วงต้นปีหน้า ตลอดจนการสรรหาทีมงานด้านการต่างประเทศทีมใหม่ให้เสร็จสิ้นและปฏิบัติงานกันได้

แต่ก็มีคนอื่นๆ รวมทั้ง เอลเลียต อะบรามส์ (Elliott Abrams) อดีตผู้ช่วยระดับท็อปทางด้านตะวันออกกลางของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และหนึ่งในผู้สนับสนุนที่เหนียวแน่นยิ่งของเนทันยาฮู คนเหล่านี้เชื่อว่า โอบามาอาจจะกำลังเล่นเกมแบบสองหน้า โดยที่ด้านหนึ่งปิดปากไม่เอ่ยถึงความไม่พอใจที่สหรัฐฯมีต่ออิสราเอล ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็สนับสนุนพวกพันธมิตรในยุโรปของวอชิงตันให้ถอยห่างทำให้อิสราเอลอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว เหมือนกับที่ชาติยุโรปเหล่านี้ได้กระทำในการออกเสียงของสมัชชาใหญ่ยูเอ็นสัปดาห์ที่แล้ว

การที่เยอรมนี ซึ่งเท่าที่ผ่านมาได้เคยปกป้องแก้ต่างให้แก่การกระทำต่างๆ ของรัฐยิวแห่งนี้ตามเวทีโลกทั้งหลายมาโดยตลอด ทว่าพอมาถึงญัตติการยกฐานะของปาเลสไตน์ในคราวนี้ กลับงดออกเสียงนั้น มีรายงานว่าก่อให้เกิดความรู้สึกช็อกอย่างรุนแรงเป็นพิเศษ แท้ที่จริงแล้วชาติยุโรปที่เข้าร่วมกับสหรัฐฯ ในการออกเสียง “ปฏิเสธ” อย่างโดดเดี่ยวในคราวนี้ ก็คือ สาธารณรัฐเช็ก เพียงชาติเดียวเท่านั้น

“ความรู้สึกที่ว่าพันธมิตรเนทันยาฮู ไม่สามารถที่จะเข้าขากับยุโรปหรือกระทั่งกับสหรัฐฯเช่นนี้ อาจส่งผลเสียหายต่อเนทันยาฮูในสายตาของผู้ออกเสียงชาวอิสราเอล – ซึ่งบางทีนี่แหละคือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของความพยายามทั้งหมดในคราวนี้” อะบรามส์เขียนวิเคราะห์เอาไว้เช่นนี้ใน เนชั่นแนล รีวิว ออนไลน์ (National Review Online)

ขณะที่ยุทธศาสตร์นี้ทำท่าว่าจะบังเกิดผลขึ้นมาจริงๆ แต่ก็มีบางคนยืนยันว่าไม่ควรที่จะนำมาใช้ด้วยเหตุผลที่ว่า สหรัฐฯมีเดิมพันสูงลิ่วเกินกว่าที่จะยอมสละทอดทิ้งการใช้ยุทธวิธีกดดันอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นต่อคณะผู้นำอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากกระแสความตื่นตัวที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ ตลอดจนการที่ศาสนาอิสลามกำลังมีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง

“กระแสแนวโน้มที่เห็นได้อย่างชัดเจน (ในบรรดาชาติมุสลิมในตะวันออกกลาง) คือ การมีความเลื่อมใสศรัทธาในทางศาสนาเพิ่มขึ้นมาก และการแสดงตัวเข้ากับอุดมการณ์การต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นมาก” นี่เป็นข้อสังเกตของ เชส ฟรีแมน (Chas Freeman) อดีตเอกอัครราชทูตเกษียณอายุที่ปัจจุบันยังคงเป็นผู้ชำนาญการด้านตะวันออกกลางระดับท็อปคนหนึ่งของสหรัฐฯ ในระหว่างที่เขาไปแสดงปาฐกถาเมื่อไม่นานมานี้ โดยที่เขายังเสนอด้วยว่า “การ (ที่อิสราเอล) เข้าโจมตีกาซาในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีแต่จะเป็นการเพิ่มพลังเติมความเข้มแข็งให้แก่ทัศนะซึ่งปรากฏแพร่หลายในภูมิภาคแถบนี้ที่ว่า อิสราเอลคือศัตรู ชนิดซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” และการที่อิสราเอลแย่งยึดดินแดนไปจากชาวปาเลสไตน์ก็กำลังทำให้หนทางแก้ไขปัญหาด้วยการมี 2 รัฐคู่เคียงกัน กลายเป็นหนทางที่ไม่อาจเป็นไปได้มากขึ้นทุกทีๆ

ทางด้าน ซบิกนิว เบรซินสกี (Zbigniew Brzezinski) ซึ่งเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ให้อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ก็เสนอแนะว่า โอบามาควรที่จะแย่งยึดฐานะการเป็นผู้ริเริ่ม ออกมาจากอิทธิพลของกลุ่มล็อบบี้เพื่ออิสราเอลในรัฐสภาอเมริกัน โดยเขายืนยันว่า โอบามาสามารถที่จะเอาชนะเสียงคัดค้านได้แน่นอน “ถ้าหากเขายืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อ ‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ ของสหรัฐฯ”

เบรซินสกี ชี้ว่า การออกเสียงของยูเอ็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “เป็นหลักหมายแสดงถึงจุดตกต่ำที่สุดของความยอมรับนับถือศักยภาพของสหรัฐฯในระดับทั่วโลกที่กำลังลดน้อยถอยลงอย่างฮวบฮาบ เป็นความยอมรับนับถือในศักยภาพของสหรัฐฯที่จะจัดการกับประเด็นปัญหาซึ่งในทุกวันนี้กำลังสร้างความลำบากยุ่งยากในทางศีลธรรม และในระยะยาวแล้วก็เป็นประเด็นปัญหาซึ่งง่ายที่จะระเบิดตูมตามขึ้นมา” เขากล่าวต่อไปอีกว่า โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับโอบามาในการดำเนินปฏิบัติการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือในช่วงปีแรกแห่งสมัยที่สองของการดำรงตำแหน่งของเขา

ในทำนองเดียวกัน พอล พิลลาร์ (Paul Pillar) ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์มืออาชีพที่ทำงานกับซีไอเอมานาน และยังเคยรับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแห่งชาติดูแลด้านตะวันออกใกล้ (National Intelligence Officer for the Near East) ในช่วงระหว่างปี 2000 – 2005 ก็เรียกร้องเอาไว้ในบล็อก nationalinterest.org ของเขาในสัปดาห์นี้ว่า โอบามาควรที่จะต้องปฏิบัติต่อ เนทันยาฮู ด้วยวิธีการเดียวกับที่เขากำลังรับมือกับพวกรีพับลิกันในรัฐสภาในเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ นั่นก็คือ “ด้วยการประกาศป่าวร้องข้อความที่เขาต้องการแจ้งให้ประเทศชาติทราบ โดยใช้วิธีการแบบการรณรงค์หาเสียง”

“การที่เขารณรงค์เรียกร้องต่อประชาชนชนิดข้ามศีรษะของพวกสมาชิกรัฐสภาเช่นนี้ คือการยอมรับความเป็นจริงที่ว่า พรรคฝ่ายค้านพรรคนี้เข้าใจแต่ภาษาแห่งการใช้กำลังทางการเมืองเท่านั้น ทว่ามิสเตอร์โอบามายังมีประสบการณ์อันขมขื่นและน่าหงุดหงิดผิดหวังพอๆ กันกับ เนทันยาฮู อีกด้วย จนน่าที่จะบรรลุข้อสรุปในทำนองเดียวกันนี้ในเรื่องเกี่ยวกับการรับมือกับอิสราเอล” พิลลาร์เขียนเอาไว้ในบล็อกของเขา พร้อมกันนั้นเขายังชี้ด้วยว่า นโยบายของสหรัฐฯต่ออิสราเอล ได้กลายเป็น “ประเด็นภายในประเทศมากพอๆ กับเรื่องงบประมาณไปเรียบร้อยแล้ว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่ตัวนายกรัฐมนตรีอิสราเอลผู้นี้เองก็เคยพยายามส่งอิทธิพลแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯมาแล้ว

เขาตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า การสำรวจความคิดเห็นเมื่อเร็วๆ นี้เองที่ดำเนินการโดย ชิบลีย์ เทลฮามี (Shibley Telhami) แห่งศูนย์แซบันเซนเตอร์ ได้พบว่า ผู้ออกเสียงชาวยิวในอิสราเอล 62% มีความคิดเห็นในเชิงบวกต่อโอบามา เรื่องนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ถ้าหากประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้จะใช้ “การรุกด้วยมนตร์เสน่ห์” ต่อผู้ออกเสียงในอิสราเอลแล้ว ก็น่าที่จะบังเกิดดอกผลบางอย่างบางประการได้เหมือนกัน

จิม โล้บ จัดทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.lobelog.com.

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น