xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลงรอผลประชุมแก้วิกฤตหนี้กรีซ หุ้นสหรัฐฯ-ทองคำทรงตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ราคาน้ำมันวานนี้(26) ขยับลงเล็กน้อย รอผลประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศยูโรโซนในประเด็นเงินกู้กรีซ ส่วนวอลล์สตรีททรงตัว แม้ยอดจับจ่ายใช้สอยแบล็คฟรายเดย์คึกคัก ขณะที่ทองคำ ปิดลบในกรอบแคบ นักลงทุนรอดูข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญที่จะเปิดเผยในช่วงปลายสัปดาห์

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนมกราคม ลดลง 54 เซนต์ ปิดที่ 87.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 46 เซนต์ ปิดที่ 110.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

มิชาเอล ลินซ์ นักวิเคราะห์กล่าวว่าการซื้อขายเป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากนักลงทุนเฝ้ารอสัญญาณแห่งความคืบหน้าบางอย่างจากการเจรจาแก้วิกฤตหนี้กรีซ ที่เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศยูโรโซนเตรียมหารือตกลงกันเกี่ยวกับการปลดล็อคเงินกู้งวดใหม่แก่เอเธนส์ในวันอังคาร(27)

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯวานนี้(26) ปิดลบในกรอบแคบๆ หลังความคึกคักต่อตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในมหกรรมแบล็คฟรายเดย์ หรือวันเริ่มต้นการออกมาจับจ่ายครั้งใหญ่ก่อนเทศกาลคริสต์มาส ถูกกลบด้วยกระแสความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหน้าผาการคลัง

อย่างไรก็ตาม แนสแดค เป็นดัชนีตัวเดียวที่ขยับขึ้น หลังจากได้แรงผลักจากหุ้นแอปเปิล เฟซบุ๊คและหุ้นหลักอื่นๆในกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ลดลง 42.31 จุด (0.33 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 12,967.37 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 9.93 จุด (0.33 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,976.78 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 2.86 จุด (2.20 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,406.29 จุด

เหล่าธุรกิจห้างร้านเผยว่าสุดสัปดาห์แรกของเทศกาลจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเริ่มต้นในวันแบล็คฟรายเดย์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว(23) มีความคึกคักอย่างยิ่ง แต่หลายฝ่ายยังแสดงความกังวลว่าภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจไม่สามารถยืนระยะได้ในเดือนหน้า

ขณะเดียวกันความกังวลต่อวิกฤตหน้าผาการคลังยังคงปกคลุมทั่วทั้งตลาด หลังพบว่าการเจรจาระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกันยังติดขัดอยู่ในหลายประเด็น 5สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การตัดรายจ่ายและขึ้นภาษีโดยอัตโนมัติ ที่อาจฉุดเศรษฐกิจหมายเลข 1 ของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

ส่วนราคาทองคำวานนี้(26) ทรงตัว หลังนักลงทุนรอดูกลุ่มข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญที่จะเปิดเผยในช่วงปลายสัปดาห์ โดยราคาทองคำตลาดโคเมกซ์ของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 1.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,749.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
กำลังโหลดความคิดเห็น