xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯออสซี่จ่อปฏิรูปการศึกษา-ส่งเสริมพลเมืองเรียน “ภาษาเอเชีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลออสเตรเลียส่งเสริมให้พลเมืองเรียนรู้ภาษาเอเชียเพิ่มขึ้น
เอเอฟพี - ออสเตรเลียเตรียมปรับยุทธศาสตร์การศึกษาใหม่โดยเน้นส่งเสริมให้พลเมืองรู้ภาษาเอเชีย และตั้งเป้าให้ทุกโรงเรียนสานความร่วมมือกับสถานศึกษาในเอเชียภายในปี 2025

นายกรัฐมนตรี จูเลีย กิลลาร์ด ระบุว่า การให้ความสำคัญกับภาษาเอเชียคือส่วนหนึ่งของนโยบายยกระดับออสเตรเลียให้เป็นประเทศร่ำรวย 1 ใน 10 ของโลกภายใน 13 ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลจะมุ่งกระชับความสัมพันธ์ทั้งกับจีนและประเทศเพื่อนบ้าน

เอกสารนโยบาย “ออสเตรเลียในศตวรรษเอเชีย” (Australia in Asian Century) ซึ่งแคนเบอร์รานำออกแถลงเมื่อวานนี้(28) วางเป้าหมายใหญ่ๆทั้งในด้านการศึกษาและธุรกิจกับประเทศคู่ค้าในเอเชียอย่างจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย และอินเดีย

กิลลาร์ด สนับสนุนให้มีการเปิดสอนภาษาจีนกลาง, ฮินดี, อินโดนีเซีย และญี่ปุ่นในโรงเรียน โดยจะให้โรงเรียนทุกแห่งจัดห้องเรียนออนไลน์ร่วมกับสถานศึกษาในเอเชียภายในปี 2025

“เรามีแผนพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วประเทศ โดยจะเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาเอเชีย” กิลลาร์ด ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีวิทยุเอบีซี วันนี้(29) พร้อมรับปากว่า รัฐบาลจะส่งเสริมการเรียนภาษาเอเชียอย่างกว้างขวางและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

สถิติเมื่อปี 2008 พบว่า มีนักเรียนออสเตรเลียเพียงไม่ถึง 6% ที่เรียนภาษาอินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี หรือจีนกลาง ในปีสุดท้ายก่อนจบจากโรงเรียน

“โอกาสที่ชาวออสเตรเลียจะได้สานสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภูมิภาคเอเชียจะลดน้อยลง หากเราไม่มีศักยภาพในการใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษ... ความสามารถใช้ภาษาได้มากกว่า 1 ภาษาถือเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับศตวรรษที่ 21” เอกสารนโยบาย ระบุ

กิลลาร์ด ชี้ว่า โครงการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN) ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังให้ครัวเรือนร้อยละ 93 เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในปี 2017 ถือเป็นกุญเจสำคัญที่จะช่วยเชื่อมบุคลากรทางการศึกษาระหว่างออสเตรเลียและประเทศในเอเชีย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เปิดห้องเรียนออนไลน์ร่วมกับโรงเรียนในเกาหลีใต้ และนักเรียนทั้ง 2 ชาติก็ยังสานต่อมิตรภาพในเครือข่ายสังคมออนไลน์รูปแบบอื่นๆด้วย

จากผลสำรวจประชากรล่าสุดเมื่อปีที่แล้วพบว่า ชาวออสเตรเลีย 76.8% ยังใช้เพียงภาษาอังกฤษสื่อสารที่บ้าน ส่วนภาษาต่างประเทศที่มีผู้ใช้ในบ้านรองลงมาได้แก่ จีนกลาง 1.6%, อิตาเลียน 1.4%, อาหรับ 1.3%, จีนกวางตุ้งและกรีก 1.2%
กำลังโหลดความคิดเห็น