xs
xsm
sm
md
lg

พรรคร่วมรบ.กรีซเริ่มแตกแยก ไม่เห็นด้วย ตัดลดค่าใช้จ่ายเพิ่มด้านแรงงาน ตามข้อเรียกร้อง “ทรอยกา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยานนิส สตูร์นาราส รัฐมนตรีคลังกรีซ
เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์- แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังกรีซเผย รัฐบาลเอเธนส์จะยังคงยึดมั่นในการเดินหน้ามาตรการพิเศษเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป แม้จะยังไม่มีความแน่นอนว่า บรรดาเจ้าหนี้จะพึงพอใจและยินยอมให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่หรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีแรงต้านจากภายในรัฐบาลกรีซเองเกิดขึ้น ต่อข้อเรียกร้องเพิ่มเติมจากชาติเจ้าหนี้ให้ตัดลดการใช้จ่ายด้านแรงงาน

รายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวภายในกระทรวงการคลังของกรีซระบุว่า รัฐบาลเอเธนส์ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราสได้ใช้ความพยายามอย่างหนักตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อหาข้อสรุปต่อมาตรการรัดเข็มขัดมูลค่า 13,500 ล้านยูโร (ราว 538,363 ล้านบาท) และนำเสนอต่อคณะผู้แทนเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย หรือ “ทรอยกา” ที่ประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

แต่ถึงแม้มาตรการรัดเข็มขัดดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบในการหารือรอบล่าสุดกับทางทรอยกาแล้ว แต่ดูเหมือนทางกลุ่มเจ้าหนี้จะยังคงเรียกร้องให้กรีซเพิ่มการปฏิรูปด้านแรงงานเข้าไปอีก ซึ่งเป็นจุดยืนที่ก่อให้เกิดแรงต้านอย่างหนักจากภายใน 3 พรรคร่วมรัฐบาลของกรีซ

รายงานข่าวล่าสุดยืนยันว่าพรรคการเมืองสายกลางร่วมรัฐบาลอย่างพรรค “เดโมเครติก เลฟต์” หรือพรรค “ดิมาร์” ภายใต้การนำของนายโฟติส ฟานูริโอส คูเวลิส ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการตัดลดการใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มเติมตามการร้องขอของเจ้าหนี้กลุ่มทรอยกา โดยให้เหตุผลว่า การตัดลดดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อภาคแรงงานของประเทศ และซ้ำเติมภาวะการจ้างงานของกรีซให้เลวร้ายลงกว่าเดิม ขณะที่ตัวเลขการว่างงานล่าสุดของกรีซพุ่งแตะระดับร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ

“เนื้อหาหลักของแพ็คเกจดังกล่าวได้ข้อยุติแล้ว เหลือเพียงประเด็นด้านแรงงานเท่านั้น และหากเราสามารถหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้ ก็จะเป็นการปลดล็อกเงินกู้ยืมรอบใหม่จำนวน 31,200 ล้านยูโรทันที” แหล่งข่าวเผย

ก่อนหน้านี้มีข่าวลือแพร่สะพัดเมื่อวันพุธ (24) ว่า ยานนิส สตูร์นาราส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกรีซบรรลุข้อตกลงด้านแพ็คเกจช่วยเหลือครั้งใหม่มูลค่าหลายหมื่นล้านยูโรกับเหล่าเจ้าหนี้นานาชาติแล้วและยังได้รับอนุมัติขยายกรอบเวลาอีก 2 ปีจนถึงปี 2016 จากเดิมกำหนดเส้นตายไว้ในปี 2014 สำหรับลดขาดดุลงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 3 ของจีดีพี ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่มีความจำเป็นสำหรับปลดล็อกเงินกู้ยืมรอบใหม่จากนานาชาติ

แต่ทว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียู ไอเอ็มเอฟ และอีซีบี ต่างทยอยกันออกมาปฏิเสธโดยพร้อมเพรียงในวันพฤหัสบดี (25) โดยทั้ง 3 องค์กรต่างยืนยันยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆกับทางรัฐบาลเอเธนส์ทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น