xs
xsm
sm
md
lg

สิ้น‘สีหนุ’สิ้นคนที่สามารถทัดทาน‘ฮุนเซน’

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด เอส เอห์รลิช

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A royal check removed in Cambodia
By Richard S Ehrlich
16/10/2012

การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชา เท่ากับเป็นการดับสูญของบุคคลเพียงผู้เดียวที่มีอิทธิพลสามารถทัดทานคัดง้างประดานโยบายกดขี่ปราบปรามทั้งหลายของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ในเวลานี้ผู้นำของรัฐบาลเขมรซึ่งครองตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องยาวนานผู้นี้ ยังสามารถที่จะต่อยอดขยายผลจากสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดสนิทสนมกับจีนที่สมเด็จสีหนุได้ทรงบ่มเพาะปลูกฝังเอาไว้ ด้วยการเร่งเครื่องกระบวนการในการยื่นหมูยื่นแมว ซึ่งพนมเปญจะเป็นฝ่ายได้รับเงินสดๆ จากพวกข้อตกลงขายทรัพยากรธรรมชาติและให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งมีมูลค่ามหึมา พร้อมๆ กับที่ยินยอมให้ความสนับสนุนทางการเมืองต่อปักกิ่ง จากดินแดนกัมพูชาซึ่งอยู่ตรงตำแหน่งที่เป็นประดุจหัวใจทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กรุงเทพฯ – การที่สมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชา เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาในกรุงปักกิ่ง นับเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เห็นว่า จีนได้ถวายความอุปถัมภ์สนับสนุนแด่พระราชาธิบดีเขมรพระองค์นี้อย่างมากมายขนาดไหน ไม่ว่าในเรื่องการจัดหาคฤหาสน์หรูในเมืองหลวงแดนมังกรมาถวายเป็นพระราชวังที่ประทับ หรือความสนับสนุนทั้งในด้านการถวายการบำบัดรักษาพระอาการประชวร, การถวายความช่วยเหลือทางการทูต, และการถวายความช่วยเหลือทางการเงิน ตลอดทั่วทั้งรัชกาลของพระองค์ซึ่งมักเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

ทางฝ่ายปักกิ่งเองก็ได้รับประโยชน์เยอะแยะจากการสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์สนับสนุนเช่นนี้กับสมเด็จสีหนุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1970 และทศวรรษที่ 1980 อย่างไรก็ตาม การเสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุ 89 พรรษาของอดีตกษัตริย์พระองค์นี้ มิได้หมายความว่าอิทธิพลทั้งในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในกัมพูชา จะเกิดการชะลอตัวเชื่องช้าลง

ในเวลาเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนกับพระราชาธิบดีซึ่งทรงมีกิตติศัพท์เลื่องลือในเรื่องความหงุดหงิดเจ้าอารมณ์และเปลี่ยนพระทัยไปมาอย่างวูบวาบรวดเร็วพระองค์นี้ พร้อมๆ กับที่เขาน่าจะสามารถสร้างสมเพิ่มพูนอำนาจของเขาในประเทศนี้ขึ้นไปอีก ถึงแม้มันจะอยู่ในระดับที่เป็นอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างแข็งแกร่งเรียบร้อยแล้วก็ตามที

ฮุนเซนนั้นขึ้นสู่อำนาจปกครองกัมพูชามาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนเป็นเวลา 27 ปีแล้ว ถือเป็นผู้นำทางการเมืองระดับชาติซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนานที่สุดของทวีปเอเชีย เขายังสามารถที่จะหาประโยชน์ทางการเมือง จากการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนโรดมสีหนุผู้ทรงจากไป ทั้งในระหว่างงานพระราชพิธีพระบรมศพและในห้วงเวลาภายหลังจากนั้น ขณะที่ปิดปากเงียบไม่เอ่ยถึงรายละเอียดต่างๆ แห่งอดีตอันมีรอยมลทินของสมเด็จสีหนุ

ริช แกเรลลา (Rich Garella) โปรดิวเซอร์สร้างภาพยนตร์ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย, มลรัฐเพนซิลเวเนีย, สหรัฐอเมริกา และก็เป็นที่ปรึกษาทางการเมือง โดยที่เคยเป็นบรรณาธิการอำนวยการ (managing editor) ของหนังสือพิมพ์ แคมโบเดีย เดลี่ (Cambodia Daily) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนในกัมพูชาเอาไว้ว่า “มีคนกัมพูชาจำนวนมากทีเดียวที่บังเกิดความซาบซึ้งขอบคุณจีน สืบเนื่องจากการที่จีนมีการติดต่อสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสมเด็จสีหนุมาเป็นเวลายาวนาน”

“ถึงแม้อิทธิพลของสมเด็จสีหนุได้ลดทอนหดหายไปมากมายแล้วในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่การเสด็จสวรรคตของพระองค์ก็จะยังเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงสำหรับพวกพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งเมื่อก่อนยังเคยวาดหวังพึ่งพิงอาศัยพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นอิทธิพลที่สามารถลดหย่อนนโยบายกดขี่ปราบปรามต่างๆ ของฮุนเซนลงมาได้” แกเรลลากล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางอีเมล ไม่กี่ชั่วโมงภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ และชี้ต่อไปว่า “ฮุนเซนนั้นได้ลอกเลียนแบบสมเด็จสีหนุไปเรียบร้อยแล้ว ในเรื่องการยอมรับเป็นนัยๆ ถึงฐานะความเป็นพี่เบิ้มของจีนในภูมิภาคแถบนี้ และในเรื่องที่ต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับปักกิ่งให้ใกล้ชิดสนิทสนม”

ทั้งนี้แดนมังกรได้สัญญาให้ความช่วยเหลือเป็นมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์แก่กัมพูชาในปี 2010 หลังจากที่รัฐบาลฮุนเซนตกลงยินยอมเนรเทศชาวจีนเชื้อชาติอุยกูร์ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในแดนมังกร จำนวนรวม 20 คน ให้กลับไปรับโทษทัณฑ์ในจีนซึ่งกล่าวหาบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ขณะที่พวกเขากำลังพยายามที่จะขอลี้ภัยทางการเมืองในแดนเขมร

“มาถึงเวลานี้ ฮุนเซนจะต้องรู้สึกมีเสรีภาพ ที่จะทำการเจรจาต่อรองกับจีนตามความปรารถนาของตนเองแต่เพียงผู้เดียว อีกทั้งจะถูกมองว่าเป็นผู้แบกรับความรับผิดชอบทั้งหมดสำหรับความสัมพันธ์ดังกล่าว” แกเรลลาวิเคราะห์ต่อ “มาถึงตอนนี้ เขาอาจจะต้องแสดงให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ว่าตัวเขาเองก็ต่อต้านอิทธิพลของจีน ทว่าเป็นการต่อต้านแบบอ่อนปวกเบาบาง โดยที่สามารถคาดหมายได้ว่าปักกิ่งจะเป็นคู่หูที่น่าพอใจของเขาในการแสดงดังกล่าวเหล่านี้”

ทางด้าน เนต เธเยอร์ (Nate Thayer) นักหนังสือพิมพ์ระดับชนะรางวัลอันทรงเกียรติมาแล้ว ก็แสดงทัศนะว่า กัมพูชาอยู่ในฐานะที่เป็น “เวทีส่วนหน้าอันมั่นคงของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยที่ปักกิ่งสามารถสร้างอิทธิพลอย่างมหาศาลในประเทศที่อ่อนแอและมีพรมแดนประชิดติดกับเวียดนาม, ลาว, และไทยแห่งนี้ ตลอดจนใช้ประโยชน์จากชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของกัมพูชาที่แผ่ออกไปตามความยาวเหยียดของอ่าวไทย ทั้งนี้เธเยอร์เป็นผู้ที่ติดตามรายงานข่าวเกี่ยวกับกัมพูชาอย่างกว้างขวางเจาะลึก รวมถึงการได้สัมภาษณ์พิเศษ โปล โป้ต (Pol Pot) ก่อนที่ผู้นำเขมรแดงผู้นี้จะสิ้นชีวิตในเขตป่าเขาในปี 1997

“ขนาดของอิทธิพลและการควบคุมทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่พวกเขา (จีน) ไขว่คว้ามาได้ในกัมพูชาในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ต้องถือว่าอยู่ในระดับน่ามหัศจรรย์ และทำให้สหรัฐฯเกิดความตื่นตัวระแวดระวังขึ้นมา” เธเยอร์ ซึ่งปัจจุบันตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน กล่าวในอีเมลซึ่งเขียนขึ้นไม่กี่ชั่วโมงภายหลังการสวรรคตของสมเด็จสีหนุ “ขนาดของสัมปทานทั้งในด้านการใช้ที่ดิน, เหมืองแร่, และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ซึ่งพวกเขา (จีน) คว้าเอาไปได้นั้น ทำให้เราต้องตะลึงงงงันกันเลย”

พวกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ กำลังเพ่งความสนใจมาที่การไหลทะลักเข้าสู่กัมพูชาของกลุ่มทุนจีน ท่ามกลางเสียงกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวกัมพูชาผู้ประท้วงคัดค้านการที่ระบบนิเวศของประเทศของพวกเขากำลังเสื่อมโทรมลงไปอย่างรวดเร็ว พวกบริษัทจีนยังมีความเกี่ยวข้องโยงใยกับกระแสการรีบเร่งแย่งยึดที่ดินในกัมพูชาที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ นี้ โดยที่การยึดที่ดินเหล่านี้มักได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐของเขมร

“มีเพียงสมเด็จสีหนุเท่านั้นที่สามารถพูดจาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทุจริตฉ้อโกงกันอย่างโจ๋งครึ่มที่เกิดขึ้นภายในกัมพูชาโดยไม่ต้องหวาดวิตกว่าจะถูกตอบโต้ถูกแก้แค้น ถึงแม้บทบาทดังกล่าวนี้ของพระองค์ก็ริบหรี่ลงไปมากแล้วในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ นี้” เธเยอร์กล่าว เมื่อไม่มีสมเด็จสีหนุเสียแล้ว กัมพูชา “ก็จะกลายเป็นถังขยะสำหรับพวกตัวแสดงเลวๆ ในทางการเงิน, พวกมาเฟียระหว่างประเทศ, และอาชญากรตัวเล็กตัวน้อย” ซึ่งจะสามารถ “ออกปฏิบัติการได้โดยไม่ต้องกลัวถูกแทรกแซงถูกจับกุม” เขาบอก

กลุ่มบุคคลเลวร้ายเหล่านี้ อาจจะจับมือเป็นหุ้นส่วน หรือไม่อาจจะเป็นคู่แก่งแย่งแข่งขัน กับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเงินของจีน ซึ่งมีอิทธิพลใหญ่โตกว้างขวางอยู่ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนโครงการเพื่อการพัฒนาอื่นๆ ที่มีงบประมาณสูงๆ ของกัมพูชา โดยที่โครงการเหล่านี้ในช่วงหลังๆ นี้ยังสามารถดึงดูดพวกนักลงทุนชาติอื่นๆ ทั้งจากเกาหลีใต้, ไทย, ญี่ปุ่น, อเมริกา, และอื่นๆ เฉพาะของทางจีนนั้นมีรายงานว่าได้ลงทุนไปในกัมพูชาคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

สัมปทานด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนข้อตกลงด้านการก่อสร้างต่างๆ ที่จีนได้รับจากกัมพูชาในช่วงหลังๆ มานี้ ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องของการที่แดนมังกรพึ่งพาอาศัยสมเด็จสีหนุ อันที่จริงแล้วคุณค่าแท้จริงของสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพระราชาธิบดีพระองค์นี้ได้บรรลุถึงขีดสูงสุดไปตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 หรือต้นทศวรรษ 1980 ขณะที่สมเด็จพระนโรดมสีหมุนี กษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบันซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จสีหนุ และทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี 2004 นั้น ไม่ได้เห็นกันว่าจะทรงมีอำนาจอิทธิพลและบารมีอย่างล้นพ้นในระดับเดียวกับที่พระราชบิดาของพระองค์ทรงมีอยู่

“ผมไม่คิดว่าจีนสูญเสียอะไรไปเลยจากการสวรรคตของสมเด็จสีหนุ” แบรดลีย์ ค็อกซ์ (Bradley Cox) ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีแนวสืบสวนสอบสวนในกัมพูชามาแล้ว 2 เรื่อง แต่ตัวเขาเองใช้กรุงเทพฯเป็นฐาน กล่าวให้ความเห็น “จีนกับกัมพูชานั้นโดยพื้นฐานแล้วก็คือกำลังทำธุรกิจด้วยกัน จีนได้อิทธิพลและได้การลงทุนไป ขณะที่พวกชนชั้นนำของกัมพูชาก็ได้เงินทองเป็นการตอบแทน”

“สิ่งที่เป็นตัวคอยตรวจสอบและคอยทัดทาน ‘อย่างไม่เป็นทางการ’ ต่ออำนาจอันมากมายมหาศาลของฮุนเซนนั้น มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นก็คือสมเด็จสีหนุ สมเด็จสีหนุเป็นที่รักของประชาชน ดังนั้นพระองค์ซึ่งทรงสามารถขัดขวางโครงการอะไรต่างๆ ได้ถ้าหากพระองค์มีพระประสงค์เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เอง ฮุนเซนจึงมักคอยขอให้พระองค์ทรงรับรองอนุมัติ และระมัดระวังในการวางตัวเมื่ออยู่ใกล้ๆ พระองค์” ค็อกซ์บอก “แต่เมื่อสมเด็จสีหนุไม่อยู่แล้วเช่นนี้ ก็ไม่มีใครอีกแล้วที่จะสามารถทัดทานเหนี่ยวรั้งฮุนเซนได้”

ริชาร์ด เอส เอห์รลิช เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มาจากนครซานฟรานซิสโก, มลรัฐแคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เขารายงานข่าวจากเอเชียมาตั้งแต่ปี 1978 และเคยได้รับรางวัลผู้สื่อข่าวต่างประเทศดีเด่น “Foreign Correspondent's Award” ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ติดตามเว็บไซต์ของเขาได้ที่ http://www.asia-correspondent.110mb.com และ http://www.flickr.com/photos/animists/sets
กำลังโหลดความคิดเห็น