รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-สองนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน แอลวิน อี. รอธ และลอยด์ สโตเวลล์ เชพลีย์ คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2012 มาครองร่วมกันเมื่อวันจันทร์ (15) จากผลงานของพวกเขาว่าด้วยวิธีที่ดีที่สุดในการจับคู่ระหว่างตัวกระทำทางเศรษฐกิจ (economic agents) ต่างๆ เป็นต้นว่า นักศึกษากับสถาบันการศึกษา, ผู้บริจาคอวัยวะกับคนไข้ หรือก็คือวิธีที่ดีที่สุดในการจับคู่ระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน
ราชบัณฑิตวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน(RSAS) หนึ่งในองค์กรในสังกัดของราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดน (RA) ซึ่งเป็นผู้พิจารณารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประกาศว่า แอลวิน อี. รอธ วัย 60 ปี ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ ลอยด์ สโตเวลล์ เชพลีย์วัย 89ศาสตราจารย์กิตติคุณและผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแองเจลิส (ยูซีแอลเอ) ได้รับรางวัลจากการสร้าง “ทฤษฎีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีเสถียรภาพ และการออกแบบลักษณะของตลาด” โดยการประยุกต์ทฤษฎีเกม และวิธีการทางคณิตศาสตร์ มาใช้ในการศึกษาและเปรียบเทียบวิธีการจับคู่ทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย ได้ก่อให้เกิดคุณูปการต่อแวดวงเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ จนเกิดการยอมรับและนำไปสู่การสร้างสรรค์ระบบกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจแบบพิเศษ
ทั้งนี้ ทรัพยากรต่างๆ มักได้รับการจัดสรรโดยผ่านกลไกด้านราคา เป็นต้นว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคประหยัดพลังงาน และค่าจ้างที่สูงในบางอาชีพก็ดึงดูดคนงานให้เข้าไปทำงาน ทว่าในตลาดจำนวนมาก ระดับราคาอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ตัวกระทำทางเศรษฐกิจต่างๆ มาจับคู่กัน ดังเช่น เงินไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้แพทย์ตัดสินใจเข้าทำงานในโรงพยาบาลแห่งนั้นๆ หรือทำให้มหาวิทยาลัยได้นักศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดมาเล่าเรียน
ประกาศของคณะกรรมการพิจารณาให้รางวัลของ RSAS ระบุว่า เชพลีย์ ได้ใช้ทฤษฎีเกม มาทำการศึกษาและเปรียบเทียบวิธีในการจับคู่อันหลากหลายนานา และหาวิธีที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าการจับคู่จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่มาจับคู่กัน ทั้งนี้โดยรวมถึงการประดิษฐ์สร้างขั้นตอนวิธีทางคณิตศาสตร์ (algorithm) แบบพิเศษขึ้นมา
ในเวลาต่อมา รอธได้ต่อยอดผลงานการวิจัยของเชพลีย์ โดยทำการศึกษาเชิงประจักษ์ (empirical studies) และช่วยออกแบบสถาบันทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วเสียใหม่ เพื่อหาแนวทางที่ช่วยให้ตัวกระทำต่างๆที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจสามารถแสดงบทบาททางเศรษฐกิจของตนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น การเชื่อมโยงบทบาทของแพทย์กับโรงพยาบาล นักศึกษากับสถาบันการศึกษา หรือผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะกับผู้บริจาคอวัยวะ เป็นต้น
“รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ ได้มอบให้แก่ผลงานอันโดดเด่นที่เป็นตัวอย่างของวิศวกรรมทางเศรษฐกิจ” คำแถลงของ RSAS ระบุ
ทั้งนี้ รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1968 โดยธนาคารกลางแห่งสวีเดน(Sveriges Riksbank) แต่มิได้ถูกกำหนดไว้แต่แรกเริ่มตามเจตนารมณ์ของอัลเฟรด โนเบล เมื่อปี 1895 ที่ระบุมอบรางวัลไว้เพียง 5 สาขา คือ ฟิสิกส์ การแพทย์ เคมี วรรณกรรมและสันติภาพ
สำหรับเงินรางวัลโนเบลในปีนี้ แต่ละสาขาต่างได้เท่ากัน คือ 8 ล้านโครนา (คิดเป็นเงินไทยราว 36.7 ล้านบาท)