xs
xsm
sm
md
lg

IMF กระทุ้งชาติมั่งคั่งเร่งแก้ปัญหา ย้ำ ศก.ทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ซ้าย) และนายโคริกิ โจจิมา รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น ระหว่างร่วมระชุมประจำปีไอเอ็มเอฟ-ธนาคารโลก
เอเจนซีส์ - “ไอเอ็มเอฟ” กระทุ้งชาติรวยเร่งแก้ไขปัญหา ขณะที่วิกฤตหนี้ยุโรปยังคงลากยาว อเมริกาและญี่ปุ่นแทบไม่มีความคืบหน้าในการจัดการการขาดดุลงบประมาณ “ลาการ์ด” ยังแสดงความหวังว่าจีนและญี่ปุ่นจะคลี่คลายข้อพิพาทหมู่เกาะอย่างรวดเร็วและราบรื่น เนื่องจากต่างเป็นผู้เล่นที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (11) ว่า การโต้เถียงทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจโลกยิ่งไร้ความแน่นอน ชะลอการเติบโตในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่

“เราคาดหวังการดำเนินการที่กล้าหาญและร่วมมือร่วมใจจากสมาชิกของเรา” ลาการ์ดให้สัมภาษณ์จากโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมประจำปีไอเอ็มเอฟ-ธนาคารโลกในขณะนี้

ขณะเดียวกัน จิมยองคิม ประธานธนาคารโลก เตือนว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเครื่องจักรหนุนนำการเติบโตมาตลอดในช่วงหลังๆ นี้จะไม่มีภูมิคุ้มกันจากเศรษฐกิจโลกที่ไร้ความแน่นอนมากขึ้น

ไอเอ็มเอฟนั้นแสดงความไม่พอใจในการรับมือวิกฤตหนี้แบบกะพร่องกะแพร่งของยุโรป และเตือนว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงของประเทศที่เป็นหนี้ เช่น สเปน อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว เว้นแต่ผู้นำยูโรโซนจะมีแผนการที่ครอบคลุมและน่าเชื่อถือออกมาเท่านั้น

ในรายงานว่าด้วยเสถียรภาพทางการเงินที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (10) ไอเอ็มเอฟระบุว่า หากปราศจากมาตรการเชิงที่เด็ดขาดรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการเริ่มโครงการเข้าซื้อพันธบัตร อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสเปนและอิตาลีอาจทะยานขึ้นเกือบ 2 เท่า

อนึ่ง วันเดียวกัน สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้แดนกระทิงดุลงเฉียดระดับขยะ และมีแนวโน้มว่ามูดี้ส์อาจเดินรอยตามในไม่ช้า

ไอเอ็มเอฟประกาศว่า พร้อมให้การสนับสนุนยุโรปเข้าอุ้มเศรษฐกิจสเปน หากมาดริดร้องขอ โดยมีรายงานออกมาเมื่อต้นเดือนว่า สเปนพร้อมขอความช่วยเหลือ แต่ถูกเยอรมนียับยั้ง เพราะต้องการรวมมาตรการอุ้มสเปนเป็นแพกเกจเดียวกับการอัดฉีดเพิ่มเติมให้ประเทศที่มีปัญหา เช่น กรีซ

โฮเซ ไวนัลส์ หัวหน้าแผนกตลาดเงินและตลาดทุนไอเอ็มเอฟ เตือนว่า ประเทศต่างๆ ไม่ควรขัดขวาง หากสเปนขอให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซื้อพันธบัตรภายใต้โปรแกรมรับการอัดฉีดใหม่ที่เรียกกันว่า OMT หรือการทำธุรกรรมการเงินโดยสมบูรณ์

ทางด้านลาการ์ดแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศยุโรปที่มีปัญหาอย่างสเปนและกรีซ ควรได้รับการขยายเวลาในการลดการขาดดุลงบประมาณออกไปอีก 2 ปี

ทั้งสองประเทศนี้เป็นศูนย์กลางวิกฤตหนี้ยูโรโซนในปัจจุบัน โดยกรีซนั้นกำลังพากเพียรกับโครงการลดหนี้ ขณะที่มีแนวโน้มมากขึ้นว่า สเปนจะต้องขอรับความช่วยเหลือสำหรับเศรษฐกิจทั้งระบบ หลังจากรับเงินอัดฉีดเพื่อเพิ่มทุนแบงก์ 100,000 ล้านยูโรไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โคริกิ โจจิมะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ระบุว่าปัญหาหนี้และภาคการเงินของยูโรโซนเป็นความเสี่ยงใหญ่สุดของเศรษฐกิจโลก และสิ่งสำคัญคือยุโรปต้องเร่งดำเนินการขั้นตอนที่ตกลงกันไว้เพื่อคลี่คลายวิกฤต

กระนั้น โตเกียวเองถูกไอเอ็มเอฟวิจารณ์เช่นเดียวกันกรณีไม่มีแผนแก้ปัญหาหนี้ระยะกลาง โดยในรายงานเสถียรภาพการเงิน ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ปัญหาของยุโรปควรเป็นบทเรียนสำหรับญี่ปุ่นว่า ไม่ควรรั้งรอที่จะสะสางหนี้ที่คาดว่ามีมากกว่ามูลค่าเศรษฐกิจกว่า 2 เท่า เนื่องจากอาจนำมาซึ่งความเสียหายมหาศาล

เจ้าหน้าที่ยุโรปนั้นต้องการให้ที่ประชุมเบนความสนใจจากวิกฤตยูโรโซนไปที่ “หน้าผาทางการคลัง” ของอเมริกา ซึ่งหมายถึงการที่สหรัฐฯจะต้องใช้มาตรการลดการใช้จ่ายอย่างมโหฬารและขึ้นภาษีโดยอัตโนมัติต้นปีหน้าหากรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถประนีประนอมหาทางออกใหม่ๆ ได้

ไอเอ็มเอฟคาดว่า การถดถอยทางการเงินจะมีมูลค่ากว่า 4% ของเศรษฐกิจแดนอินทรี และฉุดประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกแห่งนี้กลับเข้าสู่ภาวะถดถอย

นอกจากนี้ ลาการ์ดยังแสดงความหวังว่า จีนและญี่ปุ่น ชาติเศรษฐกิจอันดับ 2 และ 3 ของโลกตามลำดับ จะสามารถแก้ไขข้อพิพาทด้านอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลังจีนงดเดินทางเข้าร่วมประชุมไอเอ็มเอฟ-เวิลด์แบงก์โดยไม่ให้เหตุผลอย่างเป็นทางการ ทำให้ถูกตีความอย่างกว้างขวางว่า มูลเหตุมาจากความขัดแย้งกรณีหมู่เกาะเซงกากุหรือเตี้ยวอี๋ว์ในภาษาจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น