xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยเผยปะการัง “เกรทแบริเออร์รีฟ” หายไปกว่าครึ่งในเวลา 27 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวปะการัง เกรทแบริเออร์รีฟ ในออสเตรเลีย
เอเอฟพี - แนวปะการัง เกรทแบริเออร์รีฟ ในออสเตรเลีย สูญหายไปกว่าครึ่งภายในเวลา 27 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ลมพายุ, การรุกรานของปลาดาว และปะการังฟอกขาวซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อน ผลการศึกษาที่เผยแพร่วันนี้(2) ระบุ

งานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย (AIMS) และมหาวิทยาลัยวอลลอนกอง เตือนด้วยว่า ปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลซึ่งได้รับยกย่องเป็นมรดกโลก อาจลดลงไปอีกครึ่งหนึ่งภายในปี 2022 หากแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบัน

สาเหตุร้อยละ 48ที่ปะการังถูกทำลายเกิดจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน ขณะที่ร้อยละ 42 เกิดจากการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของดาวมงกุฎหนาม (crown of thorns starfish) ที่กัดกินปะการังเป็นอาหาร

อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นจนเป็นเหตุให้ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงเมื่อปี 1998 และ 2002 เป็นอีกปัจจัยที่ทำลายแนวปะการังทางตอนกลางและเหนือของเกรทแบริเออร์รีฟ ซึ่งเมื่อคำนวณความเสียหายคิดเป็นร้อยละ 10

นักวิจัย ฮิวจ์ สเวทแมน ซึ่งใช้เวลาออกทะเลสำรวจปะการังนานกว่า 2,700 วัน พบว่า แนวปะการังสามารถฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งได้

“แต่การฟื้นตัวต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี ในขณะนี้ปรากฎการณ์รบกวนต่างๆมักเกิดขึ้นถี่เกินกว่าที่แนวปะการังจะฟื้นตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเท่ากับเป็นความสูญเสียระยะยาว” สเวทแมน กล่าว

จอห์น กันน์ ผู้อำนวยการสถาบัน AIMS ชี้ว่า เป็นการยากที่จะหยุดยั้งพายุหรือการฟอกขาวของปะการัง แต่นักวิจัยอาจควบคุมประชากรดาวมงกุฎหนามที่กัดกินโพลิปปะการัง และทำให้แนวปะการังเสียหายอย่างถาวรได้

นักวิจัยเชื่อว่า จำนวนสัตว์ผู้ล่าในธรรมชาติที่ลดลงเป็นเหตุให้ดาวมงกุฎหนามแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ของเสียจากภาคเกษตรกรรม เช่น ปุ๋ย ที่ถูกปล่อยออกสู่ทะเล ก็ทำให้เกิดการสะพรั่งของสาหร่ายที่เป็นอาหารของตัวอ่อนดาวมงกุฎหนาม

“เราไม่สามารถหยุดยั้งพายุได้ แต่เราอาจจะหยุดดาวมงกุฎหนามได้... ซึ่งถ้าสำเร็จ แนวปะการังจะมีโอกาสปรับตัวให้อยู่รอดจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นและภาวะทะเลเป็นกรดได้” กันน์ ระบุ

ผลวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า ปะการังสามารถฟื้นตัวได้ราว 0.89% ทุกปี หากปราศจากการรบกวนของฝูงปลาดาว

องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กำลังพิจารณาว่าจะจัดให้ เกรทแบริเออร์รีฟ เป็นหนึ่งในมรดกโลกที่เสี่ยงต่อการถูกทำลายหรือไม่ หลังการสำรวจก๊าซธรรมชาติและถ่านหินทางภาคใต้ของออสเตรเลียเฟื่องฟูสุดขีด ไม่รวมโครงการพัฒนาแนวชายฝั่งอื่นๆที่กำลังผุดขึ้นเรื่อยๆ
ดาวมงกุฎหนาม (crown of thorns starfish)
กำลังโหลดความคิดเห็น