เอเอฟพี - บังกลาเทศส่งทหารไปคุ้มกันชุมชนชาวพุทธเมื่อวันจันทร์(1) หลังม็อบมุสลิมเข้าโจมตีวัดและบ้านเรือนหลายระลอกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากความไม่พอใจภาพหมิ่นคัมภีร์อัลกุรอานบนเฟซบุ๊ก ขณะที่หนุ่มชาวพุทธที่ถูกกล่าวหา ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนโพสต์ภาพเหล่านั้น ทางด้านตำรวจระบุว่านี่เป็นการก่อเหตุโจมตีแบบมีการเตรียมการและจงใจ โดยที่ได้เข้าจับกุมผู้กระทำผิดเอาไว้เกือบ 200 คนแล้ว
มีวัดอย่างน้อย 6 แห่งในหลายพื้นที่ของเขตค็อกซ์ บาซาร์ถูกโจมตีเมื่อคืนวันอาทิตย์ (30ก.ย.) โดยผู้ประท้วงนับพันรุมทุบทำลายพระพุทธรูปก่อนที่ตำรวจปราบจลาจลจะใช้กำลังเข้าสลายฝูงชน
ความรุนแรงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศคราวนี้ เริ่มต้นขึ้นในคืนวันเสาร์(29ก.ย.) และจากนั้นก็ขยายตัวลุกลามออกไปสู่ตำบลต่างๆ อย่างน้อย 5 แห่ง และหมู่บ้านสิบกว่าแห่ง ภายหลังมีการกล่าวหากันว่า หนุ่มชาวพุทธผู้หนึ่งได้โพสต์ภาพดูหมิ่นคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม บนสื่อสังคมออนไลน์ “เฟซบุ๊ก”
ฟารุค อาเหม็ด รองผู้บัญชาการตำรวจของเขตตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า การโจมตีดังกล่าวมีการวางแผนเตรียมการมาเป็นอย่างดี และทางการจะลงโทษผู้ที่มีบทบาทในเรื่องนี้โดยไม่มีการยกเว้น โดยที่ได้จับกุมผู้ต้องหาเอาไว้แล้วเกือบ 200 คน
ในหมู่ผู้ถูกจับกุมซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เมืองจิตตะกอง อันเป็นเมืองท่าสำคัญของบังกลาเทศนั้น ปรากฏว่าเป็นคนงาน 25 คนจาก เวสเทิร์น มารีน บริษัทต่อเรือใหญ่ที่สุดของประเทศ และทางบริษัทได้สั่งปิดอู่ต่อเรือของตนในวันจันทร์
นายทหารอาวุโสผู้หนึ่ง บอกกับเอเอฟพีโดยขอให้สงวนนามว่า ทางการได้ส่งทหารจำนวนประมาณ 1,000 คนไปรักษาความสงบในเขตค็อกซ์ บาซาร์ และราว 300 คนในหมู่บ้านรามู ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน โดยที่รามูนี้เองซึ่งฝูงชนชาวมุสลิมราว 25,000 คนได้ก่อการจลาจลขึ้นในคืนวันเสาร์
“เราได้เข้ารักษาความปลอดภัยวัดต่างๆ และย่านที่อยู่อาศัยต่างๆ ของชาวพุทธแล้ว ทีมงานของเขากำลังตั้งเต็นท์เพื่อให้ชาวบ้านที่บ้านถูกเผาได้เข้าไปพักอาศัย” นายทหารผู้นี้กล่าวพร้อมกับยืนยันว่า “เรามีกำลังอย่างเพียงพอ สิ่งต่างๆ กำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
ชาวพุทธที่มีสัดส่วนไม่ถึง 1% จากประชากรทั้งหมดของบังกลาเทศ 153 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ใกล้กับชายแดนพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก
ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งทางศาสนาระอุขึ้นนับจากเดือนมิถุนายน เมื่อมีการปะทะกันระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมโรฮิงยาในรัฐยะไข่ของพม่า
สำหรับเหตุรุนแรงที่ปะทุในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากการกล่าวหาว่า หนุ่มชาวพุทธวัย 30 ปีคนหนึ่งโพสต์ภาพที่ถือเป็นการดูหมิ่นศาสนาอิสลามบนเฟซบุ๊ก โดยชายหนุ่มคนดังกล่าวซึ่งหนีไปกบดานหลังจากเกิดเหตุ ยืนยันกับสื่อท้องถิ่นว่าเขาไม่ได้เป็นคนโพสต์ภาพเหล่านั้น แต่มีคนอื่นแท็กภาพพวกนั้นบนบัญชีเฟซบุ๊กของเขา
เจ้าหน้าที่หลายคนเผยว่า แม่และป้าของชายผู้นี้ก็อยู่ในการอารักขาของตำรวจหลังจากเกิดความรุนแรง
นาจิบุล อิสลาม หัวหน้าตำรวจท้องถิ่นบอกกับเอเอฟพีว่า ภาพหนึ่งที่ปรากฏในบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งเวลานี้ถูกบล็อกแล้วนั้น เป็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งกำลังยืนเหยียบอยู่บนคัมภีร์อัลกุรอานที่เปิดอยู่ ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพอัลกุรอานหน้าหนึ่งกำลังถูกน้ำชำระอยู่ในชักโครก
โมฮิดดิน คาน อลัมกีร์ รัฐมนตรีมหาดไทยบังกลาเทศ ซึ่งเดินทางไปยังตรวจดูสถานการณ์ที่หมู่บ้านรามูในวันอาทิตย์ ได้กล่าวยืนยันกับชาวพุทธว่า ทางการจะสอบสวนเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด รวมทั้งจะจ่ายเงินชดเชยเพื่อให้ประชาชนนำไปซ่อมแซมบ้านและปฏิสังขรณ์วัด
รัฐมนตรีผู้นี้ตั้งข้อสังเกตว่า การโจมตีดูเหมือนมีการไตร่ตรองล่วงหน้า และเป็นการก่อความรุนแรงระดับชุมชนโดยเจตนา
ทั้งนี้ ทีมสืบสวนที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐบาลและตำรวจ เริ่มลงมือสอบสวนแล้วตั้งแต่วันจันทร์
สุนิล บารัว ผู้สื่อข่าวที่อาศัยอยู่ในรามู เผยว่าวัด 2 แห่งที่ถูกโจมตีเมื่อวันเสาร์มีอายุเก่าแก่ถึง 300 ปี นอกจากนั้นยังมีการขโมยพระพุทธรูปในวัด รวมทั้งปล้นร้านค้าของชาวพุทธอีกด้วย
แม้บังกลาเทศที่ประชากรเกือบ 90% เป็นชาวมุสลิม คุ้นเคยกับการปะทะดุเดือดระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดู แต่น้อยมากที่ชาวพุทธจะมีส่วนเกี่ยวข้องในความรุนแรง
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ชาวมุสลิมหลายหมื่นคนยังได้รวมตัวกันบนท้องถนนทั่วทั้งบังกลาเทศ เพื่อประท้วงหนังดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัดซึ่งเป็นผลงานของโปรดิวเซอร์มือสมัครเล่นในสหรัฐฯ