เอเอฟพี - รัฐบาลทั่วโลกควรมีมาตรการรองรับอัตราความชราภาพที่จะสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอาจจะพบว่า แรงงานวัยหนุ่มสาวที่มีมากในปัจจุบันจะกลายเป็นภาระหนักในอนาคต
ผลการวิจัยโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และองค์การ เฮลป์เอจ อินเตอร์เนชันนัล ยังขอให้ทุกประเทศเร่งปรับปรุงบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีสุขภาพดียาวนานยิ่งขึ้น
รายงานซึ่งเผยแพร่เนื่องในวันผู้สูงอายุสากลระบุว่า ในจำนวนประชากร 7 พันล้านคนของโลก ร้อยละ 12.8 หรือประมาณ 893 ล้านคนเป็นผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี
ผลการศึกษาประเมินว่า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นราว200 ล้านคนภายในทศวรรษหน้า หรือเท่ากับว่าประชากรกลุ่มนี้จะมีมากกว่า 1 พันล้านคน ซึ่งจะทำให้ระบบสวัสดิการและการแพทย์ทั่วโลกต้องรับภาระหนักขึ้น
หลังแถลงรายงานได้มีการจัดเสวนาว่าด้วยความชราภาพในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราชราภาพสูงที่สุด และมีพลเมืองที่อายุเกิน 65 ปีถึง 1 ใน 4 ขณะที่รัฐบาลพยากรณ์ว่า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 40 ภายในครึ่งศตวรรษหน้า
“ประชาชนไม่ว่าอาศัยอยู่ที่ใดก็ตาม ควรเข้าสู่วัยชราอย่างมีเกียรติและมีความปลอดภัย ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่” บาบาตุนเด โอโซติเมฮิน ผู้อำนวยการกองทุน UNFPA ระบุ
รายงานชี้ว่า ภายในปี 2050 จะมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในปัจจุบันประเทศเหล่านี้ยังมีคนวัยทำงานมากกว่าคนวัยเกษียณ
“ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ปัญหาคือรัฐบาลยังไม่มีนโยบาย หรือแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุในปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ในปี 2050” UNFPA และ เฮลพ์เอจ ระบุในแถลงการณ์ร่วม
รายงานเตือนด้วยว่า ทักษะและความรู้ความสามารถที่ผู้สูงวัยมีอยู่อาจสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักไม่ได้รับการว่าจ้างอย่างเหมาะสมกับศักยภาพที่มีอยู่ หรือถูกกีดกัน, ละเมิด และตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน
องค์กรทั้งสองแห่งเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยยุติ “พฤติกรรมบ่อนทำลายเหล่านี้ และหันมาลงทุนกับผู้สูงวัย”
“ควรมีการจัดเตรียมแผนในระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อให้ประชากรที่อายุเกินกว่า 60 ปีได้มีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโต และเป็นผู้สรรค์สร้างคุณค่าแก่สังคม” ริชาร์ด เบลวิตต์ ผู้บริหารองค์การเฮลป์เอจ อินเตอร์เนชันนัล ระบุ