xs
xsm
sm
md
lg

“เต็งเส่ง” บอกกับ BBC ว่ายอมรับได้ ถ้า “ซูจี” จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่า ขณะร่วมรายการ “ฮาร์ด ทอล์ก” ของสถานีโทรทัศน์บีบีซี ของอังกฤษ ซึ่งเขาระบุว่าเขายอมรับได้ถ้าหาก อองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านจะขึ้นเป็นประธานาธิบดี บีซีซีนำรายการนี้ออกอากาศเผยแพร่เมื่อวันเสาร์(29ก.ย.)
เอเอฟพี - “เต็งเส่ง” ลั่นพร้อมยอมรับ “อองซานซูจี” ในตำแหน่งประธานาธิบดี หากประชาชนเลือกเธอ แต่อดีตนายทหารใหญ่ที่ร่วมอยู่ในคณะผู้ปกครองเผด็จการทหารของพม่าก่อนขึ้นเป็นประมุขของประเทศและหันมาดำเนินนโยบายปฏิรูปจำนวนมากผู้นี้ ก็ออกตัวด้วยว่าลำพังตัวเขาคนเดียวคงไม่สามารถแก้ไขกฎหมายเพื่อปูทางให้ผู้นำฝ่ายค้านเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้ขึ้นครองอำนาจ

เต็งเส่ง ผู้นำพม่า ให้การยกย่องอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านแบบที่ไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก ระหว่างการเยือนสหรัฐฯครั้งประวัติศาสตร์คราวนี้ ซึ่งเขาสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ตัวเองด้วยการยืนยันว่า พม่าจะยังคงเดินหน้าบนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยภายหลังอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารนานหลายสิบปี

ประธานาธิบดีเต็งเส่งซึ่งได้พบกับซูจีที่นิวยอร์ก อันสะท้อนสัญญาณล่าสุดของความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างผู้นำประเทศกับอดีตนักโทษการเมืองผู้เป็นที่รู้จักมากที่สุด กล่าวในรายการฮาร์ด ทอล์ก ของสถานีโทรทัศน์บีบีซี ที่ออกอากาศแพร่ภาพเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (29 ก.ย.) ว่า เขากับซูจี “ไม่มีปัญหา” อะไรกัน

“ถ้าประชาชนยอมรับเธอ ผมจะต้องยอมรับเธอด้วยเช่นกัน อย่างที่พูดไปแล้ว เรากำลังทำงานร่วมกัน”

กระนั้น เต็งเส่งยืนยันว่าตนเพียงคนเดียวไม่สามารถขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางเส้นทางสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของซูจี ในขณะที่กำหนดการเลือกตั้งสำคัญๆ ของพม่า จะมาถึงในปี 2015
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่าห้ามผู้ที่มีญาติใกล้ชิดเป็นชาวต่างชาติรับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งซูจีนั้นแต่งงานกับนักวิชาการชาวอังกฤษและมีบุตรด้วยกัน 2 คนที่อาศัยอยู่ในโลกตะวันตก

“ลำพังผมเพียงคนเดียวไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนและสมาชิกรัฐสภา”

นอกจากนั้น เต็งเส่งยังย้ำถึงความสำคัญของทหารในระบบการเมืองของพม่า โดยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กองทัพมีตัวแทน 1 ใน 4 ในรัฐสภา อีกทั้งยังมีสิทธิยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 75% ของสมาชิกรัฐสภา

“รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างชัดเจนถึงความรับผิดชอบของกองทัพและทุกภาคส่วนของสภา เราไม่สามารถตัดทหารออกจากการเมืองได้”

การดำเนินการปฏิรูปของเต็งเส่งนั้นได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ และเหล่าชาติตะวันตกพากันระงับใช้หรือยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่า เพื่อแสดงการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในพม่านับจากที่เขาขึ้นบริหารประเทศต่อจากระบอบเผด็จการทหารเมื่อปีที่แล้ว
นับจนถึงเวลานี้ มีนักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวแล้วหลายร้อยคน และซูจี ที่ถูกกักขังให้อยู่แต่ภายในบ้านพักนาน 15 ปี ได้เข้าสู่สภาอย่างสมเกียรติ หลังจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของเธอกวาดชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ทางด้าน ออน เจียง (Ohn Kyaing) ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้พรรคเอ็นแอลดี ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อท่าทีเช่นนี้ของเต็งเส่ง และย้ำว่า เอ็นแอลดีต้องการให้ประธานาธิบดีมีความชอบธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

“หากนั่นเป็นทัศนคติที่แท้จริงของท่านประธานาธิบดี เราก็จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมิติ” เขากล่าวและเสริมว่า “เราคิดว่าเขาจะยอมรับ หากเราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

เขาสำทับว่า พล.ท.หลา มิ้น (Hla Min) อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ก็เคยระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กองทัพยินดีเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

เต็งเส่ง ซึ่งเป็นสมาชิกระดับอาวุโสในคณะผู้ปกครองเผด็จการทหารของพม่า ได้พบปะหารือกับซูจีหลายต่อหลายครั้ง ท่ามกลางความพยายามในการนำพาประเทศที่เคยถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติมานานให้เคลื่อนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและความมั่งคั่งรุ่งเรือง

ในการปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เต็งเส่งก็ได้กล่าวยกย่องซูจีที่ได้รับการชื่นชมทั้งในและต่างประเทศจากการต่อสู้เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้แก่บ้านเกิด

“ในฐานะพลเมืองพม่า ผมขอแสดงความยินดีที่เธอได้รับเกียรติและการยกย่องจากสหรัฐฯ จากความพยายามส่งเสริมประชาธิปไตย” เขาระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น