“อภิสิทธิ์” พบ “ซูจี” คุยการเปลี่ยนแปลงในพม่า,แรงงานในไทย และปฏิรูปเศรษฐกิจ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรค เผยผู้นำพรรคเอ็นแอลดีห่วงปัญหาเจ้าหน้าที่ไทยเล่นชาวหม่อง ชูไทยเพื่อนบ้านใกล้ชิด ลั่นค้านเลื่อนพิจารณาวาระกฏหมายปรองดอง รับเสียดายรัฐจัดประชุมเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรัม แต่กลับเอาเวลาไปเสนอกฏหมายสร้างความขัดแย้ง จี้ถอนออก
วันนี้ (30 พ.ค.) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา เมื่อเวลา 15.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าพบ นางอองซาน ซูจี โดยได้เปิดเผยภายหลังการเข้าพบว่า มีการแลกเปลี่ยนเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า และความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยสิ่งที่แลกเปลี่ยนเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษคือ เรื่องอนาคตแรงงานพม่าในประเทศไทย ซึ่งการจัดระเบียบจะเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน เนื่องจากทางอองซาน ซูจีได้พบคนพม่าในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้มีการแลกเปลี่ยนความคิดในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจในพม่าซึ่งถือเป็นความท้าทาย เพราะธุรกิจต่างๆ สนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพม่ามาก จึงต้องมีการปฏิรูปกฎหมายที่มีความโปร่งใสรองรับ เพื่อจะได้เป็นกรอบพัฒนาที่ดี รวมทั้งมีการพูดคุยถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคซึ่งจะมีการแปลกเปลี่ยนบุคลากรในการพูดคุยทำความร่วมมือระหว่างกัน
“อองซาน ซูจี มีความเป็นห่วงเรื่องแรงงานพม่าจากที่ได้รับเสียงสะท้อนว่ามีปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่เป็นครั้งคราว และการไหลเข้าออกของแรงงานพม่าต่อจากนี้ไปจะมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อพม่าเปิดประเทศก็ต้องการแรงงานมากขึ้น แต่ก็มีปัจจัยเรื่องค่าแรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รัฐบาลต้องเตรียมรับมือด้วย” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวถึงการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของ นางอองซาน ซูจี ที่เดินทางมาประเทศไทยว่า มีความหมายสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งนางอองซาน ซูจี ก็ยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดก็ดีใจที่ได้มาเยือนไทย
นอกจากนี้ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังกล่าวด้วยว่า ตนยืนยันที่จะคัดค้านการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองฯในสภา โดยจะเริ่มจากการแสดงความไม่เห็นด้วยในการบรรจุระเบียบวาระการประชุม รวมทั้งจะชี้ให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ เนื่องจากจะมีผลผูกพันทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทหรือมากกว่านั้น โดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเลื่อนระเบียบวาระในบรรยากาศที่ยังมีความคิดแตกต่างอย่างนี้
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังแสดงความเสียดายต่อโอกาสของประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม แต่รัฐบาลกลับเลือกเอาห้วงเวลานี้เสนอกฎหมายที่สร้างความขัดแย้งในบ้านเมือง จึงอยากให้รัฐบาลแสดงจุดยืนว่าเมื่อบรรยากาศบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ถ้าไม่อยากให้เป็นปัญหากับประเทศก็ควรถอนกฎหมายออกไป
“ภาพที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบด้วย ผมเสียดายโอกาสแทนเพราะเวทีนี้ที่มาประชุมที่ประเทศไทย ในสมัยที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีเราใช้เวลานานมากกว่าจะดึงเขามาประชุมที่นี่ได้ แต่พอเขามารัฐบาลก็มาสร้างบรรยากาศบ้านเมืองอย่างนี้ ซึี่งความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีเพราะเป็นการตอกย้ำว่าปัญหาต่างๆ ยังไม่มีแนวทางที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ” นายอภิสิทธิ์กล่าว