xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็มเอฟเล็งหั่นจีดีพี ศก.โลก จี 20 เร่งรัฐดันแผนกระตุ้นเติบโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ไอเอ็มเอฟเล็งหั่นตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในรายงานอัปเดตที่จะนำออกเผยแพร่เดือนหน้า ชี้วิกฤตยูโรโซนเป็นความเสี่ยงหลัก ขณะที่สถานการณ์ในอเมริกาเป็นภัยคุกคามสำคัญเช่นกัน ลาการ์ดระบุปัจจัยเหล่านี้ฉุดตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวแล้ว ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการคลังกลุ่มจี 20 ก็บอกว่า มาตรการกระตุ้นของแบงก์ชาติประเทศต่างๆ ยังไม่เพียงพอ โดยภาครัฐบาลต้องเพิ่มความพยายามเพื่อผลักดันการเติบโตตามที่รับปากไว้

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวเมื่อวันจันทร์ (24) ว่า ไอเอ็มเอฟยังคงคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มว่าการเติบโตจะอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ในเดือนกรกฎาคมเล็กน้อย

ทั้งนี้ ในเดือนดังกล่าว ไอเอ็มเอฟได้ลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกสำหรับปีหน้าอยู่ที่ 3.9% แต่คงตัวเลขสำหรับปี 2012 ไว้ที่ 3.5%

ลาการ์ดแจงว่า วิกฤตหนี้ยูโรโซนเป็นความเสี่ยงใหญ่สุดต่อเศรษฐกิจโลก แต่ “หน้าผาทางการคลัง” (fiscal cliff) ของสหรัฐฯ ก็ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงเช่นเดียวกัน และขณะนี้ความไม่แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่จะจัดการปัญหาใหญ่เหล่านี้ได้หรือไม่ ได้ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอื่นๆ แล้ว

ทั้งนี้ “หน้าผาทางการคลัง” เป็นวลีที่พวกนักเศรษฐศาสตร์นำมาใช้อธิบายภาวะหดตัวทางการคลังที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ในเมื่อมาตรการสำคัญๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้ให้คู่สมรส, การยกเลิกภาษีมรดก, การลดภาษีที่เก็บจากรายได้ของมนุษย์เงินเดือน กำลังจะหมดอายุลงโดยไม่มีมาตรการใหม่ๆ มาทดแทน ขณะที่มาตรการใหม่ๆ ในการเข้มงวดงบประมาณ เช่น การปรับลดงบประมาณภาครัฐระยะ 10 ปี, การลดสวัสดิการแก่ผู้ว่างงาน กำลังจะเริ่มมีผลบังคับใช้ เห็นกันว่าภาวะหดตัวทางการคลังเช่นนี้ จะส่งผลชะลออัตราเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นายใหญ่ไอเอ็มเอฟแจกแจงต่อไปว่า สำหรับเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ก็อยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับประเทศยากจน ก็คือปัญหาราคาอาหารแพงและความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีสัญญาณความสับสนเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลาง

ลาการ์ดเสริมว่า ตลาดการเงินสามารถฟื้นเสถียรภาพในระยะสั้นจากการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อเร็วๆ นี้ในการจัดการกับวิกฤตหนี้ด้วยแผนการเข้าซื้อพันธบัตรประเทศที่มีปัญหา แต่สำหรับระยะยาวแล้ว ผู้วางนโยบายในยูโรโซนต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสามารถร่วมมือกันผลักดันให้มาตรการดังกล่าวสัมฤทธิผลได้จริง นอกจากนี้ตลาดยังกังวลกับแนวโน้มการถดถอยของภูมิภาคนี้ รวมทั้งทิศทางการปฏิรูปเศรษฐกิจและงบประมาณในอิตาลีและฝรั่งศส

ลาการ์ดชี้ว่า ประเทศที่เผชิญวิกฤตในยูโรโซนจำเป็นต้องปรับโครงสร้างและปรับนโยบายการคลัง โดยไอเอ็มเอฟสนับสนุนการขยายเวลาให้โปรตุเกสและสเปน ในการปฏิรูปงบประมาณและด้านอื่นๆ และยืนกรานว่า ยุโรปจำเป็นต้องก่อตั้งสหภาพการธนาคารเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทรุดตามแบงก์ที่มีปัญหา

ในส่วนตลาดเกิดใหม่นั้น จำเป็นต้องดำเนินมาตรการคุมเข้มการเงินและการคลัง หรือกระทั่งควรต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ดังเช่นในกรณีจีน เพื่อปกป้องเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เธอบอกด้วยว่า มาตรการสนับสนุนการเติบโตที่จีนดำเนินมา จะส่งผลในระยะสั้นเท่านั้น แต่ระยะยาวปักกิ่งต้องกระตุ้นการบริโภคและอุปสงค์ภายในประเทศแทนการส่งออก

ขณะเดียวกัน ที่เม็กซิโก ซิตี บรรดารัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติของกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลก (จี20 )ได้หารือกันเมื่อวันอาทิตย์และจันทร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อึมครึมขึ้นทุกขณะ แม้กระทั่ง ปิเอร์ คาร์โล ปาโดน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์องค์การเพื่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ยังออกปากว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกขณะนี้เลวร้ายที่สุดนับจากการประชุมสุดยอดครั้งที่แล้ว

เจอราร์โด โรดริเกซ รัฐมนตรีช่วยการคลังของเม็กซิโก ชี้ว่า แผนการเข้าซื้อสินทรัพย์ของอีซีบี ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ช่วยให้ตลาดสงบลงแต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ขณะที่ มานูเอล รามอส สมาชิกคณะกรรมการแบงก์ชาติแดนกระทิงดุขานรับว่า มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ไม่ได้ขจัดความเสี่ยงขาลงจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน การคุมเข้มทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นในอเมริกา และการเติบโตชะลอตัวในตลาดเกิดใหม่

โรดริเกซเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งขั้นตอนที่ให้สัญญาไว้ในซัมมิตจี 20 เมื่อเดือนมิถุนายน ในการกระตุ้นอุปสงค์ สนับสนุนการเติบโต และลดอัตราว่างงาน แต่ยอมรับว่าในบางประเทศอาจมีช่องทางจำกัด

ตัวอย่างเช่นอิตาลีที่ถูกบีบให้เพิ่มการคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก หลังการทบทวนอัตราเติบโตบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัว 2.4% ในปีนี้ หรือเพิ่มจากตัวเลขคาดการณ์เดิมสองเท่า และไม่มีวี่แววการฟื้นตัวในปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น