xs
xsm
sm
md
lg

“ความเชื่อมั่น” ยังขาดหายจาก ศก.โลก แม้ธนาคารกลางชั้นนำอัดฉีดสภาพคล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาซาอากิ ชิรากาวะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) แถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า บีโอเจกลายเป็นธนาคารกลางของชาติเศรษฐกิจสำคัญๆ ของโลกรายล่าสุด ที่ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ดี ยังเป็นที่สงสัยกันว่า มาตรการเช่นนี้จะสามารถฟื้นคืนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจได้หรือไม่
รอยเตอร์ - แม้บรรดาธนาคารกลางของประเทศชั้นนำ พากันใช้มตรการทางการเงินในรูปของการสร้างสภาพคล่องเป็นปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่อยู่ในเวลานี้ แต่พวกนักวิเคราะห์ก็ยังกังขา เพราะแม้แบงก์ชาติเหล่านี้สามารถเพิ่มสภาพคล่องได้อย่างไม่จำกัด ทว่าสิ่งที่ทุกฝ่ายตั้งตารอก็คือ เมื่อใดมาตรการเหล่านี้จะผลิดอกออกผลเป็นการฟื้นคืนความเชื่อมั่น, ดีมานด์, ผลผลิต, และการจ้างงาน, เสียที

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ออกมาเคลื่อนไหวกระทำทุกอย่างที่ตลาดคาดหวังที่จะได้เห็นแล้ว โดยฝ่ายแรกให้สัญญาพิมพ์ธนบัตรออกมาจนกว่าอัตราว่างงานจะลดลง ขณะที่ฝ่ายหลังรับปากจะทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพิงสุดท้ายในการเข้าซื้อพันธบัตรสเปน และอิตาลี

แม้กระทั่งธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยังขยายโครงการซื้อสินทรัพย์ในปริมาณพอประมาณเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรียกได้ว่าในบรรดาชาติชั้นนำ มีเพียงแบงก์ชาติแดนมังกรเท่านั้นที่ยังลังเล

ดังนั้น คำถามสำหรับเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ที่เข้าสู่ปีที่ 6 ของความตึงเครียดรุนแรงด้านการเงินคือ เมื่อใดที่ความเคลื่อนไหวทางการเงินเหล่านี้จะแปรรูปเป็นอุปสงค์ ผลผลิต และตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้น

มาร์ก คลิฟฟ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจี แบงก์แดนกังหันลม ชี้ว่า สิ่งที่แบงก์ชาติของประเทศต่างๆ ทำไปอาจช่วยฟื้นความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งในระยะสั้น แต่ปัญหาทั้งสำหรับปีนี้และปีหน้าคือ นักการเมืองในยุโรปและอเมริกาที่ทำตัวน่าผิดหวัง

สำหรับในสัปดาห์นี้เป็นคิวที่ฝรั่งเศสและสเปนจะประกาศงบประมาณประจำปีหน้า ซึ่งจะต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดอันเข้มงวดขึ้นไปอีก และนั่นก็จะทำให้สถานการณ์ในยูโรโซนบีบคั้นยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่นสเปนที่เพิ่งขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจต้องใช้มาตรการเข้มงวดเพิ่มเติมอีก เป็นต้นว่า ระงับการจ่ายบำนาญ ทั้งนี้โดยถือเป็นการปฏิบัติตามส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพื่อรับการสนับสนุนทางการเงินจากสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน

ลีนา โคมิเลวา กรรมการผู้จัดการ จี+ อิโคโนมิกส์ บริษัทที่ปรึกษาในลอนดอน ชี้ว่า มาตรการรัดเข็มขัดในขณะที่อุปสงค์ทั่วโลกชะลอตัว อาจได้รับการพิสูจน์ว่ากลายเป็นอาวุธร้ายระลอก 2 ที่กระหน่ำซ้ำเติมทำลายมาตรการฟื้นเสถียรภาพการเงินของยูโรโซน

ดูตัวอย่างจากอิตาลีที่ออกมาคาดหมายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เศรษฐกิจจะหดตัว 2.4% ในปีนี้ หรือเป็น 2 เท่าตัวของตัวเลขคาดการณ์เดิม มิหนำซ้ำยังเลิกล้มความหวังที่จะอัตราเติบโตจะสามารถฟื้นตัวได้ในปีหน้า ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ การปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ยอดขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าสถานการณ์เลวร้ายไปหมดทุกที่ โดยในเยอรมนี ผลสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจปรากฏว่าออกมาในแง่บวก ส่วนที่สหรัฐฯ ก็พบแนวโน้มการฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ทั้งนี้จากรายงานยอดขายบ้านของอเมริกาประจำเดือนตุลาคมที่ออกมาดีเกินคาด ส่งผลให้ตลาดคาดว่าจะมีแรงซื้อบ้านใหม่เพิ่มขึ้น

กระนั้น โรเบิร์ต ไดคลิเมนต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในอเมริกาของซิตี้กรุ๊ป ยังไม่มั่นใจในแนวโน้มการเติบโตระยะสั้น เพราะไม่แน่ใจว่าสถานการณ์การเงินที่ได้รับการกระตุ้นจากเฟดจะยืนยาวเพียงใด ที่สำคัญที่สุดคือสถานการณ์เฉพาะหน้า เนื่องจากการชะลอตัวทั่วโลกกำลังบั่นทอนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอเมริกา และการตัดสินใจประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญบางอย่างอาจล่าช้าออกไปจนกว่าทิศทางนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวมจะชัดเจนขึ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว

เจพีมอร์แกนสำทับว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกสะท้อนให้เห็นจากการส่งออกของเอเชียที่ร่วงลงถึง 15.7% ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม

อย่างไรก็ตาม เจพีมอร์แกนมองว่า ยุโรป ตัวถ่วงสำคัญของเอเชีย อาจฟื้นการเติบโตได้ตอนต้นปีหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเชิงรุกของอีซีบี

นั่นเป็นสิ่งที่อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ รัฐมนตรีกิจการยุโรปของฟินแลนด์ อยากได้ยิน เขาไม่เห็นด้วยกับกระแสการคาดการณ์เรื่องยูโรโซนแตก โดยกล่าวว่า การประชุมสุดยอดเขตเงินสกุลเดียวแห่งยุโรปที่จะมีกัน 3 ครั้งระหว่างเวลานี้จนถึงสิ้นปีนั้น มีจุดประสงค์ชัดเจนในการสร้างรากฐานที่แข็งแรงขึ้นสำหรับยูโร
กำลังโหลดความคิดเห็น