xs
xsm
sm
md
lg

Focus : สื่อนอกตีข่าวกองทัพไทยยังหลงเชื่อ “จีที 200” ทำคนบริสุทธิ์ตกเป็น “แพะ” หลายร้อยคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารไทยกำลังใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 บนถนนสายหนึ่งในจังหวัดยะลา
เอเอฟพี - ฮาซัน เป็นหนึ่งในประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายร้อยคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกจับขังคุกโดยปราศจากความผิด เหตุเพราะถูกชี้เป้าด้วยเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันผลพิสูจน์แล้วว่า ใช้การไม่ได้จริง

ประเด็นการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 สร้างความเสื่อมเสียแก่หน่วยงานภาครัฐใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมามีประชาชนกว่า 5,300 คนเสียชีวิตไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งไม่มีทีท่าจะยุติลง

นักสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เคยมีพลเมืองผู้บริสุทธิ์ถูกจับไปคุมขังแล้วกว่า 400 คน บางคนติดอยู่ในคุกนานถึง 2 ปี เพราะเจ้าหน้าที่อาศัยเพียงหลักฐานที่ได้จากเครื่อง จีที 200 ทั้งที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวกำลังตกเป็นจำเลยคดีฉ้อโกงในอังกฤษ

“ผมกำลังเล่นฟุตบอลอยู่ในโรงเรียน เวลาเดียวกับที่ทหารถูกคนร้ายซุ่มยิงไม่ห่างออกไปนัก” ฮาซัน หนุ่มยะลาซึ่งเคยถูกจำคุกโดยปราศจากข้อกล่าวหาเป็นเวลา 29 วัน เมื่อปี 2008 เผย

“ทหารเข้ามาตามล่าตัวคนร้ายในโรงเรียน พวกเขาให้เรายืนตั้งแถว แล้วนำ จีที 200 เข้ามาตรวจ พอแท่งเหล็กชี้มาที่ผม เขาก็เอาตัวผมไปเลย” ฮาซัน บอก พร้อมขอร้องให้ปกปิดชื่อแซ่ของเขา เพราะไม่อยากถูกตามราวีที่นำเรื่องราวมาเปิดเผย

จีที 200 ยังคงเป็นอุปกรณ์หลักที่กองทัพใช้ตรวจหาวัตถุต้องสงสัย โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า สามารถตรวจพบร่องรอยแม้เพียงเล็กน้อยของวัตถุระเบิด, ดินปืน รวมไปถึงยาเสพติด

ผู้ผลิตอ้างว่า อุปกรณ์มือถือตัวนี้สามารถดึงไฟฟ้าสถิตจากร่างกายผู้ใช้มาเป็นพลังงาน โดยไม่ต้องพึ่งแบตเตอรี่ และเพียงเสียบ “เซ็นเซอร์การ์ด” เข้าไปในที่จับพลาสติก เสาอากาศก็จะหันไปตามทิศทางของวัตถุต้องสงสัยทันที

ที่ผ่านมามีการเผยข้อมูลหักล้างคำโฆษณาของจีที 200 มาแล้วมากมาย โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อุปกรณ์ตัวนี้ไม่ต่างอะไรกับเสาอากาศที่ติดอยู่บนแท่งพลาสติกธรรมดา แม้ผู้ผลิตจะยืนยันว่า เครื่องมือไฮเทคชนิดนี้สามารถตรวจจับวัตถุระเบิดที่อยู่ไกลออกไปหลายร้อยเมตรได้ก็ตาม

เมื่อเดือนกรกฎาคม เจ้าของบริษัทผลิต จีที 200 ถูกดำเนินคดีในอังกฤษฐาน “อวดอ้างความเท็จ” ว่าเครื่องมือชนิดนี้ “สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้” และยังมีนักธุรกิจชาวอังกฤษอีกหลายคนถูกฟ้องฐานจำหน่ายเครื่องตรวจระเบิดเก๊ให้แก่ลูกค้าในหลายประเทศ รวมถึงอิรัก

ผลการตรวจโดยรัฐบาลไทยพบว่า เครื่องจีที 200 มีความแม่นยำในการตรวจจับเพียงร้อยละ 25 ขณะที่นักวิจารณ์บางคนประชดว่า แม่นพอๆกับความบังเอิญ

“โยนเหรียญทายยังแม่นกว่า” อังคณา นีละไพจิตร จากมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นองค์กรที่เปิดเผยความหลอกลวงของเครื่องจีที 200 ระบุ

“คนสามจังหวัดชายแดนใต้รู้ว่าอุปกรณ์ตัวนี้ใช้งานไม่ได้จริงตั้งแต่เจ้าหน้าที่เริ่มเอาเข้ามาใช้เมื่อปี 2007...แต่ทางการก็ยังปฏิเสธไม่รับฟัง ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลและกองทัพมันหายไปหมดแล้ว” อังคณากล่าว

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมยื่นฟ้องเอาผิดกับบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ผู้ผลิต จีที 200 รวมถึงผู้จัดจำหน่ายในไทยแล้ว ทว่ากองทัพยังปฏิเสธไม่ยอมรับว่าถูกหลอกให้ซื้ออุปกรณ์เก๊เป็นเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 620 ล้านบาท) และไม่เคยขออภัยต่อคนบริสุทธิ์ที่ถูกขังคุก

ฮาซันเล่าว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่และบังคับให้ชี้ตัวเพื่อนนักเรียนจากภาพถ่าย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อัยยูบ ที่ถูกจำคุก 2 ปี ก่อนเจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวออกมา โดยปราศจากทั้งข้อหาและคำขอโทษ

“ผมโกรธมากครับ เขาทำให้ผมเสียเวลาเปล่าไป 2 ปี และผมก็กลัวว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นอีก” อัยยูบกล่าว

กองทัพไทยออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการใช้หลักฐานผิดมาจับกุมผู้บริสุทธิ์

“เราพบหลักฐานจริง ทั้งปืน, อาวุธ และระเบิดมือ เราถึงได้จับพวกเขามา” พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ พร้อมบอกว่า ประสิทธิภาพของ จีที 200 “อาจอยู่เหนือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์”

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนกองทัพจะเลิกใช้ข้อมูล จีที 200 มาเป็นเหตุจับคนเข้าห้องขังแล้ว ทั้งที่เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นจนเป็นปกติธรรมดาเมื่อช่วงปี 2007-2010

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ จีที 200 กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องเสื่อมเสียมาก” และแสดงความไม่มั่นใจว่า ดีเอสไอ จะกล้าสาวไปถึงตัว “ผู้มีอิทธิพล” ที่อยู่เบื้องหลังการจัดซื้ออุปกรณ์ลวงโลกนี้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น