xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศ‘ปรับเปลี่ยน’แบงก์ต้นแบบสินเชื่อรายย่อย

เผยแพร่:   โดย: ไนมุล ฮัก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Bangladesh ‘fixes’ Grameen
By Naimul Haq
16/08/2012

ธนาคารกรามีน อันมีชื่อเสียงของบังกลาเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย มูฮัมเหม็ด ยูนุส และเป็นผลงานสำคัญที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กำลังตกอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลบังกลาเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับบริษัท ซึ่งทำให้ผู้กู้ยืมฐานะยากจนนับล้านๆ คนที่ถือเป็นหัวใจของสถาบันการเงินแห่งนี้ มีสิทธิมีเสียงลดน้อยลงเป็นอันมาก

ธากา, บังกลาเทศ – หน่วยผลิตชุดชั้นในของ ลาโบนี เวามิก (Laboni Vhoumik) ในหมู่บ้าน โกไภย (Gopai) ของอำเภอนัวไคลี (Noakhali) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ ประมาณ 180 กิโลเมตร คือตัวอย่างอันทรงพลังที่แสดงให้เห็นถึงผลด้านบวกของโมเดลสินเชื่อรายย่อยของ ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ซึ่งมุ่งบ่มเพาะส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี และพึ่งพาอาศัยพวกเธอเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ตัวธนาคารกรามีนเองกลับกำลังตกอยู่ใต้การคุกคามจากการที่รัฐบาลกำลังรุกคืบเข้ามาควบคุมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงคัดค้านอย่างหนักหน่วงเป็นพายุบุแคม จากหน่วยงานต่างๆ หลายหลากตั้งแต่กลุ่มสิทธิสตรี ไปจนถึงกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ

เวามิก ซึ่งปัจจุบันอายุ 36 ปี เริ่มต้นกิจการของเธอในปี 2003 โดยที่ไม่มีอะไรนอกจากทักษะในการตัดเย็บเสื้อผ้า ทุกวันนี้ เธอเป็นผู้ดำเนินหน่วยการผลิตซึ่งจ้างงานผู้หญิง 12 คน และจัดส่งชุดชั้นในคุณภาพดีให้แก่ผู้ค้าปลีกรายสำคัญหลายๆ แห่งในอำเภอนัวไคลี และอำเภอใกล้เคียงแห่งอื่นๆ

จากการเข้าร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในท้องถิ่นที่มีชื่อว่า กลุ่มบริการการพัฒนาชนบทนัวไคลี (Noakhali Rural Development Services ใช้อักษรย่อว่า NRDS) ช่วยให้เวามิกสามารถกู้ยืมเงินเป็นจำนวน 4,000 ตากา (ในเวลานั้นมีมูลค่าประมาณ 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเธอนำมาซื้อจักรเย็นผ้าคันแรกของเธอ

“พวกเราให้คำปรึกษาและจัดการอบรมให้โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กๆ แบบนี้ แนวความคิดของเราก็คือต้องทำให้มั่นใจได้ว่าเงินที่ถูกกู้ยืมไปจะมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องเหมาะสม” โมฮัมหมัด ไกเซอร์ อะลัม (Mohammad Kaiser Alam) ผู้ประสานงานโครงการสินเชื่อรายย่อยของ NRDS เล่าให้สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS) ฟัง

เวามิกเวลานี้สามารถทำรายได้ประมาณเดือนละ 238 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในหมู่บ้านของเธอต้องถือว่าล่ำซำทีเดียว เธอยังมีเงินเก็บก้อนโตและเมื่อเร็วๆ นี้เองเพิ่งใช้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของเธอเองครั้งใหญ่ กลุ่มของเธอนั้นมีสมาชิก 65 คนที่หารือถกเถียงกันเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมและปัญหาครอบครัวต่างๆ ตลอดจนความก้าวหน้าของเหล่าสมาชิกทั้งในเรื่องการทำธุรกิจของพวกเขา หรือปัญหาของพวกเขา หรือเงินกู้ที่ยังคั่งค้างอยู่

สมาชิกเหล่านี้มีการเบี้ยวหนี้น้อยมาก เนื่องจากทางกลุ่มรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้ ทว่าโมเดลธุรกิจง่ายๆ เช่นนี้ซึ่งใช้ได้ผลในการยกระดับสตรีชาวบังกลาเทศนับหมื่นนับแสนคนให้ก้าวพ้นจากความยากจน เวลานี้กลับกำลังถูกคุกคาม เนื่องจากธนาคารกรามีน ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกโมเดลนี้รายสำคัญมากรายหนึ่ง กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการกุมบังเหียน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถเข้ามาควบคุมได้ยิ่งกว่าเดิมมาก

รัฐบาลยังคงมีสัดส่วนเป็นเจ้าของธนาคารกรามีนอยู่เพียงแค่ 3% เท่านั้น ทว่าจากการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสถาบันการเงินแห่งนี้ ก็จะทำให้ประธานธนาคารซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐ สามารถที่จะแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของกรามีนแบงก์ ได้

สภาพเช่นนี้ก็คือการที่รัฐบาลเข้าควบคุมธนาคารกรามีนในทางพฤตินัยนั่นเอง หรือหากจะกล่าวจากอีกแง่มุมหนึ่ง ก็คือการที่สตรีผู้ยากจนซึ่งเป็นเจ้าของแบงก์แห่งนี้อยู่ด้วยนั้น กำลังถูกลิดรอนสิทธิของพวกเธอในการบริหารจัดการธนาคารของพวกเธอเอง และกำลังถูกทำให้กลายเป็นผู้ไร้อำนาจ ทั้งนี้เป็นถ้อยคำที่ระบุอยู่ในคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งร่วมกันออกโดยตัวแทนของภาคประชาสังคมชั้นนำของบังกลาเทศราว 60 ราย

กรามีน แบงก์ เป็นสถาบันการเงินที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษไม่เหมือนใครในโลก จากการที่มีบรรดาสตรีผู้ยากจนเป็นเจ้าของนี้เอง พวกตัวแทนของผู้กู้ที่เป็นผู้หญิง 8.4 ล้านคนได้เข้ามานั่งเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการบริหารของธนาคาร และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ของแบงก์แห่งนี้มาเป็นแรมปีแล้ว ซึ่งไม่เหมือนธนาคารแห่งไหนๆ ในโลก คำแถลงฉบับนี้กล่าวย้ำ

ชิรีน ฮัก (Shireen Huq) หนึ่งในผู้ร่วมลงนามในคำแถลงฉบับดังกล่าว บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะทำให้เชื่อได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังบังเกิดขึ้นกับกรามีน แบงก์ เป็นการกระทำด้วยเจตนาดีของรัฐบาล

ฮัก ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวระดับแนวหน้าในการเรียกร้องสิทธิสตรี ตลอดจนเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรเอ็นจีโอชื่อ “นารีปอกโค” (Naripokkho) ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขข้อบังคับของกรามีน แบงก์ ตามที่เสนอกันออกมานี้ จะทำให้ประธานคณะกรรมการบริหารมีอำนาจที่จะจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกที่มีสมาชิก 3 คน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในทางปฏิบัติก็จะทำให้กรรมการส่วนใหญ่ในคณะกรรมการบริหารหมดสิทธิหมดเสียงในการคัดเลือกตัวซีอีโอไปเลยนั่นเอง

เธอบอกกับไอพีเอสต่อไปว่า การที่รัฐบาลแต่งตั้งบุคคลผู้ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าแสดงตนเป็นปรปักษ์ต่อ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ผู้ก่อตั้ง กรามีน แบงก์ มาเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของธนาคารแห่งนี้ในเวลานี้ ย่อมไม่ใช่ลางดีสำหรับสถาบันแห่งนี้แต่อย่างใดเลย

ทางด้าน แพทริก เวนเทรลล์ (Patrick Ventrell) รักษาการรองโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ออกคำแถลงข่าวหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ระบุว่า วอชิงตันมีความกังวลอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ ของรัฐบาลบังกลาเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นการให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่ประธานของธนาคารกรามีน ที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมา ในการควบคุมการคัดเลือกซีอีโอคนใหม่ของแบงก์

คำแถลงข่าวฉบับนี้กล่าวต่อไปว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะเป็นการทำลายบทบาทของผู้กู้-ผู้ถือหุ้นที่ส่วนใหญ่เป็นสตรี ในการกำหนดทิศทางของธนาคารกรามีน อันเป็นสถาบันที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของสตรีผู้ยากจนนับล้านๆ คนในบังกลาเทศ และกระทั่งตลอดทั่วโลกด้วยซ้ำ

“เรามีความเป็นห่วงว่า การกระทำทั้งหลายของรัฐบาลในระยะหลังๆ นี้ อาจเป็นการคุกคามอนาคตของธนาคารซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ” เวนเทรลล์ระบุในคำแถลง

แผนการของรัฐบาลที่จะเพิ่มบทบาทของตนในธนาคารกรามีน ได้เป็นชนวนก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันอย่างดุเดือดในบังกลาเทศ โดยที่มีการโต้แย้งกันในทางความคิดระหว่างพวกนักเศรษฐศาสตร์ที่นิยมยกย่องการปล่อยสินเชื่อรายย่อยว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา กับพวกที่เชื่อว่าโมเดลเช่นนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ศาสตราจารย์อะบุล บารากัต (Abul Barakat) หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธากา บอกกับไอพีเอสว่า บริการสินเชื่อรายย่อยแบบนี้ไปถึงมือคนยากคนจนคิดเป็นอัตราส่วนน้อยนิด “คนยากคนจนระดับร้ายแรง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากที่สุดนั้น ยังคงอยู่นอกวง ยังคงไม่สามารถเข้าไปใช้บริการดังกล่าวได้ และเป็นพวกที่ถูกมองว่าไม่มีความสามารถที่จะชำระคืนเงินกู้ได้”

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ให้ตัวเลขข้อมูลว่า ในจำนวนประชากรทั้งสิ้นของบังกลาเทศ 150 ล้านคน มีอยู่ 98.9 ล้านคนซึ่งเป็นคนยากจน, 47 ล้านคนเป็นชนชั้นกลาง, และอีก 4.1 ล้านคนเป็นคนร่ำรวย บริการสินเชื่อรายย่อยสามารถเข้าถึงแค่พวกคนยากจน 50% ที่เป็นคนยากจนระดับบน โดยที่คนเหล่านี้คือกลุ่มที่องค์กรเอ็นจีโอต่างๆ เห็นว่าน่าจะเป็นลูกค้าเป้าหมายได้

ตามตัวเลขข้อมูลของบารากัต คนยากจนระดับครึ่งบนเหล่านี้ (ซึ่งจะมีจำนวนประมาณ 49.4 ล้านคน) แม้เป็นผู้ได้รับบริการทางด้านสินเชื่อรายย่อย แต่ก็ยังคง“มีฐานะขึ้นๆ ลงๆ ภายในวงโคจรของพวกเขาเอง” โดยที่พวกเขา “ทั้งไม่สามารถที่จะก้าวหลุดพ้นออกมาจากความยากจนได้ ทว่าก็ไม่ได้ไหลรูดลงไปเป็นกลุ่มคนยากจนระดับร้ายแรง”

กอซี คอลิกุซซามาน อาหมัด (Qazi Kholiquzzaman Ahmad) นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง บอกกับไอพีเอสว่า เขาไม่ค่อยได้พบเห็นคนยากคนจนที่ได้รับผลประโยชน์อย่างจริงจังจากโครงการสินเชื่อรายย่อยเอาเสียเลย “การศึกษาของผมเองชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า มีผู้กู้ยืมเพียงแค่ 7% เท่านั้นที่สามารถหลุดออกจากความยากจนอย่างแท้จริงได้เพราะได้รับสินเชื่อรายย่อย”

อาหมัด ซึ่งเป็นประธานของมูลนิธิปัลลี การ์มา-สหยัค (Palli Karma-Sahayak Foundation ใช้อักษรย่อว่า PKSF) บอกว่า การศึกษาเมื่อปี 2008 ของเขาแสดงให้เห็นว่า ในจำนวนผู้กู้เงินสินเชื่อรายย่อยทั่วทั้งบังกลาเทศทั้งสิ้น 23 ล้านคน มีไม่ถึง 10% ที่สามารถหลุดพ้นความยากจนได้จริงๆ นี่หมายความว่าโครงการสินเชื่อรายย่อยไม่ได้มีผลอย่างยั่งยืนเสมอไปในการลดปัญหาความยากจน

มูลนิธิปัลลี การ์มา-สหยัค นั้นก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเมื่อปี 1990 ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะสานต่อความสำเร็จของผู้เล่นภาคเอกชน และเวลานี้คุยว่ามีองค์การหุ้นส่วน (เป็นองค์กรเอ็นจีโอรายเล็กๆ) มากกว่า 250 ราย มีผู้มากู้ยืมเงิน 8.6 ล้านราย

ส่วนทางด้าน โมฮัมหมัด ฮะซัน อาลี (Mohammad Hasan Ali) ผู้ก่อตั้งและกรรมการอำนวยการของกลุ่มปัลลี พิคัช เคนทรา (Pally Bikash Kendra) องค์กรเอ็นจีโอที่ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยหลายๆ โครงการในหลายอำเภอทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ บอกกับไอพีเอสว่า การที่อัตราการกู้ยืมและอัตราการชำระคืนมีการเติบโตขยายตัวขึ้นไปเรื่อยๆ คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของโมเดลนี้

“แน่ใจได้เลยว่าการที่คนยากจนกำลังมาขอกู้ยืมจากโครงการนั้น เป็นเพราะพวกเขากำลังได้รับประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” อาลี กล่าว

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์แทบทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งที่สำคัญมากก็คือการกู้เงินจำนวนน้อยๆ ผ่านทางองค์กรเอ็นจีโอเช่นนี้ กลายเป็นการกำจัดพวกนายเงินในหมู่บ้านแบบเดิมๆ ผู้ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยสูงลิ่วแบบขูดเลือดซิบๆ และเพิ่มภาระหนี้สินของคนยากจน

พวกนักเศรษฐศาสตร์พูดกันด้วยว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของโครงการสินเชื่อรายย่อย อยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่าในขณะที่กระบวนการให้กู้ยืมเดินหน้าไป ก็มีการบูรณาการเรื่องสินเชื่อรายย่อยนี้เข้ากับโครงการอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย, การศึกษา, น้ำดื่มน้ำใช้, ความปลอดภัยทางสังคม, ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย, สิทธิมนุษยชน, และประเด็นปัญหาพื้นฐานอื่นๆ

เอส เอ็ม อาลี อัสลัม (S M Ali Aslam) กรรมการอำนวยการของกลุ่ม ADAMS องค์กรเอ็นจีโอที่ดำเนินงานอยู่ในอำเภอต่างๆ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ กล่าวกับไอพีเอสว่า “ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า พวกเอ็นจีโอคือผู้ที่แสดงตนเป็นผู้นำในการจัดหาความมั่นคงทางการเงินให้แก่คนยากคนจน ในเวลาที่รัฐยังคงล้มเหลวไม่สามารถเสนอโครงการเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงใดๆ ให้แก่ประชาชน”

อัสลัมกล่าวต่อไปว่า การที่พวกผู้บริจาคเงินชาวต่างประเทศยังคงให้การสนับสนุนโครงการสินเชื่อรายย่อยทั้งหลายในบังกลาเทศต่อไป ก็เพราะโครงการเหล่านี้ทำงานได้ผลนั่นเอง

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น