xs
xsm
sm
md
lg

“เครื่องบินเร็ว6เท่าเสียง” สหรัฐฯ ร่วงลงแปซิฟิก หลังบินทดสอบไม่ถึง 1 นาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินกำลังเช็คความพร้อมขั้นสุดท้าย ก่อนเริ่มทดสอบเครื่องบินเร็วเหนือเสียง X-51A เวฟไรเดอร์ ที่ฐานทัพอากาศเอ็ดเวิร์ดส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
รอยเตอร์ - อากาศยานไร้คนขับของสหรัฐฯ ซึ่งออกแบบให้สามารถบินได้เร็วกว่า 6 เท่าของความเร็วเสียง ร่วงลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างทำการบินทดสอบเที่ยวแรกได้ไม่กี่วินาที เนื่องจากความบกพร่องที่แพนหาง กองทัพอากาศสหรัฐฯ เผยวานนี้ (15)

เจ้าหน้าที่พบความบกพร่องบริเวณหางของเครื่องบินไร้คนขับ X-51A เวฟไรเดอร์ ซึ่งทดสอบบินครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14) หลังจากจรวดขับเคลื่อนเริ่มทำงานได้เพียง 16 วินาที

หลังจากนั้นอีก 15 วินาที เครื่องบินได้สลัดตัวออกจากจรวดขับเคลื่อน และเสียการควบคุม “เนื่องจากแพนหางแนวตั้งมีปัญหา” ทำให้การบินทดสอบสิ้นสุดลงในเวลาเพียง 31 วินาที จากเดิมที่กองทัพคาดว่าอากาศยานไร้คนขับรุ่นใหม่จะสามารถบินอยู่ได้นานถึง 5 นาที

เดริล เมเยอร์ โฆษกประจำกองบินน้อยที่ 88 แห่งฐานทัพอากาศ ไรต์-แพตเตอร์สัน มลรัฐโอไฮโอ ระบุว่า เครื่องบินได้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ทันที และตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกใกล้กับ พอยต์ มูกู ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครลอสแองเจลิส

ทั้งนี้ ต่อให้การทดสอบประสบความสำเร็จตามที่คาดไว้ก็ตาม เครื่องบินลำนี้ก็จะต้องตกลงสู่ทะเล และไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก

อากาศยานเวฟไรเดอร์ ซึ่งถูกปล่อยลงจากเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 ถูกออกแบบให้สามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วกว่า Mach 6 หรือกว่า 6 เท่าของความเร็วเสียง ซึ่งหมายความว่าการบินตรงจากนิวยอร์กไปยังกรุงลอนดอนจะใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง

นักวิเคราะห์เปิดเผยว่า กองทัพสหรัฐฯ ต้องการนำเทคโนโลยีเวฟไรเดอร์มาพัฒนาขีปนาวุธติดตั้งวัตถุระเบิด ที่สามารถโจมตีเป้าหมายได้ทั่วโลกภายในเวลา 1 ชั่วโมง

อากาศยานซึ่งออกแบบและประกอบลำตัวเครื่องโดยบริษัท แฟนทอม เวิร์กส์ ในเครือโบอิ้งลำนี้ ได้รับฉายาว่า “เวฟไรเดอร์” เนื่องจากลอยอยู่บนอากาศตลอดเวลา โดยอาศัยแรงยกบางส่วนจากคลื่นกระแทก (shockwave) ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของเครื่องบินเอง

แม้แพนหางของเครื่องบินจะมีปัญหา แต่แพนหางจรวดขับเคลื่อนก็ช่วยให้ X-51A เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ในช่วงแรกๆ เมเยอร์เผย

ทางด้านโฆษกหญิงของโบอิ้งปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลการบินทดสอบ โดยอ้างคำสั่งจากกองทัพอากาศที่ต้องการให้ข้อมูลทุกอย่างออกมาจากทางกองทัพเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น