เดลิเมล์ - ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัส สาธิตวิธีการแฮกระบบ เพื่อจี้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ที่กำลังบินอยู่กลางอากาศ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่จากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐฯ ซึ่งท้าทายด้วยเงินจำนวนเพียง 1,000 ดอลลาร์
ทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ท็อดด์ ฮัมฟรีย์สจัดการยึดโดรนไร้คนขับลำเล็ก แต่ทรงอานุภาพ ขณะที่บินอยู่กลางอากาศ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า สปูฟฟิง ซึ่งแฮกเกอร์จะเลียนแบบสัญญาณจีพีเอส ที่ถูกส่งไปยังอากาศยานลำนั้น
ฟอกซ์นิวส์รายงานว่า ในระหว่างการทดลอง ที่สนามกีฬาของวิทยาลัย โดรน หรือยูเอวี สีแดง ซึ่งก็เป็นของทางวิทยาลัย ได้บินขึ้นสู่ท้องฟ้าตามชุดคำสั่งที่ป้อนเข้าไปในคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจน โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเป็นประจักษ์พยาน
ทว่า ไม่นานหลังจากนั้น อากาศยานลำดังกล่าวก็กลับหันลำไปอีกทาง บ่งชี้ได้ชัดว่ามันไม่ได้บินตามคำสั่งเดิม แล้วค่อยกระแทกตกลงสู่พื้น ประหนึ่งได้รับคำสั่งให้ทำลายตัวเอง แต่ทีมนักวิจัยก็เข้าไปเก็บมาไว้ได้อย่างปลอดภัยในช่วงสุดท้าย
ฮัมฟรีย์สเผยกับฟอกซ์นิวส์ว่า ด้วยเงินเพียงไม่กี่ร้อยดอลลาร์ ทีมวิจัยของเขาสามารถสร้างระบบปลอมแปลงสัญญาณ ที่ซับซ้อนที่สุดได้ และยังล่อหลอกให้อากาศยานไร้คนขับปฏิบัติตามคำสั่งบินชุดใหม่ได้ด้วย
"การปลอมแปลงเครื่องรับสัญญาณจีพีเอสบนอากาศยานไร้คนขับเป็นเพียงอีกหนึ่งวิธีในการจี้เครื่องบิน" ฮัมฟรีย์สกล่าว และว่า การสาธิตการสปูฟฟิงครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ เคยเห็นด้วยตาตัวเอง โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารการบินสหรัฐฯ หรือเอฟเอเอ ก็เคยชมการแสดงโดยทีมของเขาเช่นกัน
ฮัมฟรีย์สชี้ว่า ในอีก 5-10 ปี บนน่านฟ้าจะมีโดรนบินอยู่ถึง 30,000 ลำ และแต่ละลำก็อาจจะสามารถยิงขีปนาวุธโจมตีสหรัฐฯ ได้ ทั้งยังคาดว่าภายในปี 2020 อาจจะมีโดรนเป็นแสนลำบินวนเวียนอยู่ หากเอฟเอเออนุมัติให้บริษัทเอกชนต่างๆ เช่น เฟดเอกซ์ ใช้งานอากาศยานไร้คนขับเช่นนี้ได้
เขาเสริมว่า อากาศยานไร้คนขับสำหรับพลเรือน ไม่เหมือนกับของทหาร โดยน่าจะมีสัญญาณจีพีเอสเดียวกับโดรนลำ ที่ทีมมหาวิทยาลัยเทกซัสนี้แฮกสำเร็จ จึงเป็นไปได้ว่าใครๆ ก็สามารถเปลี่ยนอากาศยานไร้พิษสง ให้ยิงอาวุธโจมตีเป้าหมาย หรือพุ่งชนอาคารต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย
ทั้งนี้ โดรนถูกใช้อย่างกว้างขวางในปฏิบัติการที่อิรัก อัฟกานิสถาน และเยเมน เพื่อกำจัดผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย ส่วนการใช้งานภายในประเทศนั้น ถูกจำกัดให้เป็นเพียงการลาดตระเวรตามแนวชายแดนทางใต้เท่านั้น