รอยเตอร์ - นักศึกษาชาวกัมพูชาในกรุงพนมเปญคร่ำเคร่งอยู่กับการจดบันทึก ในขณะที่ครูผู้สอนบรรยายเป็นภาษาต่างประเทศ ท่ามกลางฝูงรถมอเตอร์ไซค์ที่แผดเสียงเครื่องยนต์ดังลั่นอยู่นอกอาคาร
หนุ่มสาวที่เข้าเรียนในโรงเรียนสอนภาษาเอกชนเหล่านี้ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน... พวกเขากำลังเรียนภาษาจีน
ป้ายโฆษณาคอร์สสอนภาษาจีนกลางราคาย่อมเยาถูกปิดประกาศทั่วไปตามท้องถนน
“เมื่อก่อนคนมักจะมาย่านนี้เพื่อเรียนภาษาอังกฤษ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นภาษาจีนแล้ว” กว๋อ ฟา อาจารย์และผู้จัดการโรงเรียนสอนภาษาจีน หมิง ฟา ในกรุงพนมเปญ เผย
“นักเรียนเหล่านี้อยากเป็นมัคคุเทศก์ เป็นล่ามภาษาจีน หรือไม่ก็ทำงานในธนาคาร ร้านอาหาร” เขาบอก
นี่เป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ถึงอิทธิพลของจีนที่กำลังแผ่ขยายเข้าสู่ดินแดนกัมพูชา ท่ามกลางความกังวลของประเทศอื่นๆ ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เกรงว่าสมาชิกที่ยากจนและด้อยพัฒนาที่สุดอาจทำให้อาเซียนต้องกลายเป็นตัวประกันของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจากภายนอก
การที่จีนเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับลาวและพม่ายังสร้างความรำคาญใจให้ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้กับปักกิ่ง
“แม้เงินกู้และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจีนและเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคนี้ แต่ก็น่ากังวลว่าอาเซียนอาจผูกติดกับจีนมากเกินไปจนเสี่ยงต่อการถูกกดดันในเชิงเศรษฐกิจ” บอนนี เกลเซอร์ จากสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ (CSIS) เตือน
ในบรรดา 3 ประเทศที่ยากจนที่สุดของอาเซียน กัมพูชาดูเหมือนจะเอียงเข้าหาจีนมากที่สุด โดยข้อมูลจากสมาคมเขมร-จีนในกัมพูชาระบุว่า ปัจจุบันมีชาวกัมพูชาสมัครเรียนภาษาจีนกลางราว 40,000 คน สวนกระแสโปรโมตภาษาอังกฤษเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2015 ซึ่งคาดว่าจะดึงนักลงทุนให้เข้ามาในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่ารวมถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน
เฮง เกวชลี นักศึกษาภาษาจีนคนหนึ่งบอกว่า “ภาษาจีนมีประโยชน์มากกว่าภาษาอังกฤษ เพราะทุกวันนี้ตลาดต้องการคนรู้ภาษาจีนมาก และจีนก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา ดังนั้นน่าจะมีคนจีนเข้ามาลงทุนทำธุรกิจที่นี่เพิ่มขึ้น”
ข้อมูลทางการระบุว่า ปีที่แล้วบริษัทของจีนเข้าไปลงทุนในกัมพูชาราว 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าเม็ดเงินลงทุนจากประเทศในอาเซียนรวมกันถึง 2 เท่า และมากกว่าเงินลงทุนจากสหรัฐฯ ถึง 10 เท่า
ครึ่งปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนไปเยือนกัมพูชาถึง 151,887 คน เพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2011 โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของกัมพูชาคาดว่าจะสามารถดึงดูดชาวจีนได้ถึง 1 ล้านคนต่อปีภายในปี 2020
บริษัทจีนจำนวนมากเข้าไปลงทุนในภาคธุรกิจการเกษตรของกัมพูชา ขณะที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าราว 330 แห่งซึ่งเป็นเครื่องดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติและแหล่งจ้างแรงงานหลักในกัมพูชา ก็เป็นของชาวจีนเสียร้อยละ 70
สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างจีนกับกัมพูชาทำให้จีนกลายเป็น “คนนอก” ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของอาเซียน ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 45 ปีที่อาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ขณะที่ฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าปักกิ่งพยายามกดดันชาติเจ้าภาพกัมพูชาไม่ให้นำกรณีพิพาททะเลจีนใต้เข้าที่ประชุม
นักการทูตที่เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นเปิดเผยว่า ลาวและพม่าก็สนับสนุนจุดยืนของกัมพูชาที่จะไม่ระบุความขัดแย้งทวิภาคีลงในแถลงการณ์
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้จีนพยายามผูกมิตรกับลาวเต็มที่เพื่อแย่งชิงอิทธิพลมาจากเวียดนาม โดยเข้าไปช่วยสร้างถนน, สะพาน, สนามกีฬา, มอบเทคโนโลยีใหม่ๆ และให้ทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแก่นักเรียนลาวหลายร้อยคน
ปัจจุบันมีชาวจีนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในลาวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจีนยังเข้าไปเปิดบ่อนการพนันขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 แห่งบนแผ่นดินลาว ซึ่งมีทั้งกาสิโน, โรงแรม, บาร์คาราโอเกะ โดยมีตำรวจจีนนอกเครื่องแบบคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ปีที่แล้วมูลค่าการค้าระหว่างลาวกับจีนเพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และธนาคารจีนยังปล่อยเงินกู้ให้ลาวอีก 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่นับรวมสัญญาที่ว่าจะสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง มูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์
มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของตะวันตกเปิดทางให้จีนสานสัมพันธ์กับพม่ามานานหลายปี การค้าชายแดนระหว่าง 2 ประเทศเจริญรุ่งเรือง และจีนยังเข้าไปลงทุนในอุตสากรรมน้ำมัน, ก๊าซ และไฟฟ้าพลังน้ำในพม่าอีกด้วย ทว่าการพึ่งพาจีนของพม่าคงดำเนินต่อไปได้ไม่เหมือนเก่า เมื่อตะวันตกเริ่มยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อเป็นรางวัลที่พม่าหันมาปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
สำหรับปักกิ่ง การยุให้อาเซียนแตกคอนับเป็นผลดีต่อยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้ เพราะทำให้จีนสามารถใช้อิทธิพลต่อรองกับประเทศคู่กรณีแบบทวิภาคี นอกจากนี้ ความไม่เป็นปึกแผ่นของอาเซียนยังทำให้สหรัฐฯ แผ่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้ได้ลำบากขึ้นด้วย
ด้านสหรัฐฯ เองก็ประกาศยุทธศาสตร์มุ่งสู่เอเชีย โดยมีการลงนามความร่วมมือกับกองทัพเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่กำลังมีข้อพิพาทกับปักกิ่งเรื่องทะเลจีนใต้ และเมื่อเดือนที่ผ่านมาวอชิงตันยังสัญญาจะมอบทุนพัฒนาด้านสังคม, สิ่งแวดล้อม, สาธารณสุข และการศึกษาแก่ประเทศแถบอินโดจีน เป็นวงเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ
การแข่งขันระหว่าง 2 มหาอำนาจทำให้อาเซียนกำลังก้าวไปสู่จุดพลิกผันครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
“หากเรายังปราศจากเอกภาพและไม่ร่วมมือกัน อาเซียนอาจกลายเป็นเหยื่อของมหาอำนาจจากภายนอก” ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์
“เราต้องสร้างมุมมองร่วมของอาเซียนในทุกๆ แง่มุม และไม่ควรคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของชาติใดชาติหนึ่ง”