xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยเผย “ฉลามหายาก” ถูกนำไปทำซุปหูฉลามขายในภัตตาคารสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซุปหูฉลาม
เอเอฟพี - งานวิจัยซึ่งสรุปจากผลตรวจดีเอ็นเอพบว่า ฉลามหายากหลายสายพันธุ์ถูกนำไปทำซุปหูฉลามขายตามภัตตาคารอาหารจีนทั่วสหรัฐฯ

นักวิจัยพบเนื้อฉลามถึง 33 สายพันธุ์จากการสุ่มเก็บตัวอย่างหูฉลามใน 14 เมือง และนำไปตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่สถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์มหาสมุทร มหาวิทยาลัยสโตนีบรูก รัฐนิวยอร์ก

“ผู้บริโภคหูฉลามในสหรัฐฯ ไม่อาจแน่ใจได้ว่าพวกเขากำลังรับประทานอะไรเข้าไป... พวกเขาอาจกำลังทานเนื้อฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ก็ได้” เดเมียน แชปแมน หนึ่งในหัวหน้าทีมวิจัยระบุ

ฉลามหัวค้อนหยัก ซึ่งมีชื่อในลิสต์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ฉลามที่สำรวจพบในภัตตาคารของสหรัฐฯ ซึ่งจำหน่ายหูฉลามในราคาชามละประมาณ 100 ดอลลาร์ (ราว 3,100 บาท)

สายพันธุ์อื่นๆ ที่พบ เช่น ฉลามหัวค้อนดำ, ฉลามสกูล (school shark) และฉลามแอตแลนติก (spiny dogfish) ซึ่งล้วนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังพบฉลามที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่น ฉลามวัว และฉลามครีบด่าง

“นี่คือข้อพิสูจน์ว่า ไม่ใช่แต่ภัตตาคารในเอเชียเท่านั้น แต่ซุปหูฉลามที่ขายตามภัตตาคารในสหรัฐฯก็มีส่วนทำให้ประชากรฉลามลดลงเช่นกัน” ลิซ คาราน ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์ฉลาม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพิว ซึ่งสนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้ระบุ

“ฉลามต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกล่ามากเกินไป... และการซื้อขายฉลามสายพันธุ์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์จะต้องมีกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด”

งานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยีด้านดีเอ็นเอมาระบุสายพันธุ์ของฉลามที่ใช้ทำซุปหูฉลามตามภัตตาคารต่างๆในสหรัฐฯ

นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างหูฉลามจากเมืองต่างๆ เช่น แอลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก, แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย, บอสตัน, ชิคาโก, เดนเวอร์ รัฐโคโลราโด, ฟอร์ต ลอเดอร์เดล รัฐฟลอริดา, ฮูสตัน, ลาสเวกัส, ลอสแองเจลิส, นิวยอร์ก, ออร์แลนโด รัฐฟลอริดา, ซีแอตเติล และวอชิงตัน

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานสิงคโปร์ ระบุว่า แต่ละปีจะมีฉลามถูกล่าเพื่อสนองความต้องการของตลาดหูฉลามในเอเชียมากถึง 73 ล้านตัว

เนื่องจากฉลามเป็นสัตว์ที่โตช้าและเจริญเต็มที่เมื่ออายุมาก พวกมันจึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นพิเศษ และการลดลงของประชากรฉลามก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น