เอเอฟพี - กองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF เผย จีน เวียดนาม และไทยอยู่ในกลุ่มประเทศผู้กระทำผิดที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งเป็นตัวการสำคัญให้จำนวนช้าง และแรดในแอฟริกาถูกฆ่ามากเป็นประวัติการณ์
องค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งนี้เปิดเผยรายงานการจัดอันดับความพยายามของประเทศในการสกัดกั้นการค้าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยว่า การล่าช้างในแอฟริกากลางนั้นถึงระดับวิกฤตแล้ว ขณะที่ความอยู่รอดของแรดก็ถูกคุกคามอย่างหนักในแอฟริกาใต้
ในเอเชีย นอแรดมีราคาสูงมาก เนื่องจากนำไปใช้เป็นยาแผนโบราณ ซึ่งบางคนเชื่อว่าสามารถรักษามะเร็งได้ ขณะที่งาช้างถูกมองเป็นของประดับตกแต่งล้ำค่ามานานหลายศตวรรษแล้ว
แม้ความพยายามที่จะสกัดกั้นการค้าชิ้นส่วนสัตว์เหล่านี้จะดำเนินการมานานหลายปีแล้ว แต่จีน ไทย และเวียดนามก็ยังคงปล่อยให้มีตลาดมืดค้าขายสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายๆ ชนิด โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ควบคุมตรวจตราอย่างเพียงพอ WWF ระบุ
รายงานขององค์การดังกล่าวเสริมว่า เวียดนามเป็น 1 ในหลายๆ ประเทศที่น่ากังวลมากที่สุด เนื่องจากแทบไม่สามารถสกัดการค้านอแรด และอวัยวะเสือได้เลย พร้อมกระตุ้นให้เวียดนามปราบปรามการค้าโดยผิดกฏหมายเหล่านี้
WWF ชี้ว่า แอฟริกาใต้เป็นศูนย์กลางของวิกฤตการล่าแรด แม้รัฐบาลจะพยายามอย่างมากที่จะระงับการคร่าชีวิตสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้มาตั้งแต่ปี 2009 แต่ตามสถิติระบุว่า มีแรดแอฟริกาใต้ถูกสังหารถึง 448 ตัว ในปี 2011 และในปีนี้ มีแรดสูญหารไปแล้ว 262 ตัว
WWF ยังกล่าวหาว่า จีน และไทยเป็นตัวการสำคัญที่สุด ที่ทำให้มีการค้างาช้างอย่างผิดกฏหมาย โดยในแต่ละปีมีช้างแอฟริกันถูกฆ่าหลายหมื่นตัวเพื่อเอางา ซึ่งจีน และไทยต่างเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการค้างาช้างเหล่านั้น
กองทุนสัตว์ป่าโลกระบุว่า ในประเทศไทย ปัญหาสำคัญคือกฏหมาย ที่ยอมให้มีการค้างาจากช้างในประเทศได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนั่นถือเป็นช่องโหว่ที่ทำให้มีการลักลอบค้างาช้างจากแอฟริกา ที่ยากจะแยกแยะความแตกต่าง ในร้านระดับไฮเอนด์ที่เปิดการค้าอย่างเสรีได้
อย่างไรก็ดี องค์การอนุรักษ์สัตว์แห่งนี้ยังเผยว่า มีอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น อินเดีย และเนปาล ที่สามารถยับยั้งการค้างาช้าง นอแรด และซากเสือได้