xs
xsm
sm
md
lg

บราซิล-เอกวาดอร์เห็นพ้องช่วยเฮติตั้งกองทัพใหม่ หลังต้องพึ่งทหารยูเอ็นช่วยป้องกันประเทศนานกว่า 18 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - บราซิลและเอกวาดอร์บรรลุข้อตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งกองทัพของเฮติขึ้นใหม่ เพื่อให้กองกำลังดังกล่าวเตรียมทำหน้าที่ปกป้องประเทศของตัวเอง แทนที่กองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งต้องรับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อย ให้กับดินแดนที่ได้ที่ว่า “ยากจนข้นแค้นที่สุดของซีกโลกตะวันตก” แห่งนี้มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994

ประธานาธิบดีมิเชล มาร์เตลลี ผู้นำเฮติวัย 51 ปี ได้ผลักดันแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกองทัพของประเทศขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ที่เขาเข้ามาครองอำนาจเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว โดยมาร์เตลลีให้เหตุผลว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติควรเป็นทหารของเฮติเอง มากกว่าที่จะพึ่งพาทหารต่างชาติจากกองกำลังของยูเอ็น ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ามาร์เตลลีได้ขอความช่วยเหลือเรื่องดังกล่าวเป็นการส่วนตัวต่อประธานาธิบดีหญิงดิลมาร์ รุสเซฟฟ์ของบราซิลแล้ว ในระหว่างที่เธอเดินทางเยือนเฮติเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้อตกลงอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ก็ได้ถูกจัดทำขึ้นที่กรุงบราซิเลีย เมืองหลวงของบราซิลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างการพบปะหารือของรัฐมนตรีกลาโหมทั้งสองประเทศ

ด้าน กระทรวงกลาโหมของบราซิล ออกมายืนยันว่ากำลังเตรียมให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อสร้างกองทัพของเฮติขึ้นมาใหม่ ซึ่งความช่วยเหลือดังกล่าวรวมถึงการฝึกอบรมทางทหาร และความช่วยเหลือด้านวิศวกรรมทางทหาร ขณะที่แหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมของเอกวาดอร์รายหนึ่งก็ออกมายืนยันว่ารัฐบาลเอกวาดอร์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีราฟาเอล บิเซนเต กอร์เรีย เดลกาโดก็จะยื่นมาเข้ามาช่วยเฮติในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวล่าสุดกำลังสร้างความกังวลใจให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติ เนื่องจากการจัดตั้งกองทัพเฮติขึ้นมาใหม่อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของนานาชาติในการฝึกอบรมกองกำลัง “ตำรวจพลเรือน” ให้กับเฮติซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายหลักของภารกิจของยูเอ็นในเฮติตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าการตั้งกองทัพขึ้นมาใหม่ อาจทำให้เฮติต้องกลับเข้าไปสู่วังวนแห่งความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองอีก เนื่องจากกองทัพเฮติมีประวัติอันเลวร้ายในการแทรกแซงการเมืองจากการก่อเหตุรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลนับสิบหนในอดีต อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทุจริตขนานใหญ่

ทั้งนี้ เฮติได้สั่งยุบเลิกกองทัพของตัวเองไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 หลังจากรัฐบาลพลเรือนมักถูกแทรกแซงจากกองทัพอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้เฮติกลายเป็นดินแดนเพียงไม่กี่แห่งของโลกที่ต้องพึ่งพากองกำลังของต่างชาติในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีมิเชล มาร์เตลลี ผู้นำเฮติวัย 51 ปี
เฮติต้องพึ่งพากองกำลังของยูเอ็นมานาน
กำลังโหลดความคิดเห็น