เอเอฟพี - เกาหลีใต้ได้รับสิทธิสำรวจเหมืองใต้ทะเลลึกในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตแร่ธาตุต่างๆ ได้เป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
พื้นที่ราว 10,000 ตารางกิโลเมตรนี้อุดมไปด้วยปล่องไฮโดรเทอร์มอล (hydrothermal vents) ซึ่งอาจเป็นแหล่งแร่มีค่าหลายชนิด เช่น ทองคำ, เงิน, ทองแดง, สังกะสี และตะกั่ว กระทรวงกิจการทางทะเลเกาหลีใต้ระบุในแถลงการณ์
สัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การพื้นสมุทรระหว่างประเทศ (International Seabed Authority) โหวตให้โซลได้รับสิทธิพิเศษในการสำรวจแหล่งแร่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากศรีลังกาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2,500 กิโลเมตร ระหว่างปี 2013-2027
กระทรวงกิจการทางทะเลประเมินว่า ผลผลิตแร่ที่ได้อาจสูงถึง 46,000 ตัน และมีมูลค่าราว 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,100 ล้านบาท) ต่อปี
“นี่คือผลสัมฤทธิ์จากความพยายามอย่างยิ่งยวดของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะลงทุน, วิจัย และสร้างสัมพันธ์กับนานาประเทศ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก” กระทรวงระบุ
ปล่องไฮโดรเทอร์มอล หมายถึงบริเวณพื้นมหาสมุทรที่มีน้ำพวยพุ่งออกมาเนื่องจากได้รับพลังงานความร้อนจากใต้พิภพ
เจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์จากกรุงโซลได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าวแล้ว เมื่อช่วงปี 2009-2011
เกาหลีใต้ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติน้อยได้ใช้ความพยายามอย่างสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อแสวงหาวัตถุดิบจากต่างประเทศ และเมื่อรวมเหมืองใต้ทะเลแห่งใหม่นี้ เท่ากับว่าโซลได้รับสิทธิในการสำรวจและพัฒนาเหมืองใต้ทะเลลึกแล้ว 4 แห่ง รวมเป็นพื้นที่กว่า 112,000 ตารางกิโลเมตร