xs
xsm
sm
md
lg

‘อินโดนีเซีย’ช่วยรักษาหน้าของ‘อาเซียน’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: โดนัลด์ เค เอมเมอร์สัน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Indonesia saves ASEAN's face
By Donald K Emmerson
23/07/2012

ด้วยศิลปะการทูตของรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์ตี นาตาเลกาวา แห่งอินโดนีเซีย จึงทำให้เกิดฉันทามติในเรื่องหลักการ 6 ประการว่าด้วยทะเลจีนใต้ ออกมาจากสมาคมอาเซียน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แต่อยู่ในความนิ่งเงียบอย่างน่าอับอายขายหน้า นาตาเลกาวาคือเป็นผู้รักษาหน้าให้แก่อาเซียน และก็ให้แก่กัมพูชาผู้ดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่มนี้ในวาระปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกกันของเหล่าสมาชิกอาเซียนสืบเนื่องจากการอ้างอธิปไตยของจีนเหนือทะเลจีนใต้ก็เพียงแต่ถูกปกปิดเอาไว้ชั่วคราวเท่านั้น ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา สมาคมอาเซียนได้ยุติการอยู่ในความนิ่งเงียบอย่างน่าอับอายขายหน้า ด้วยการประกาศป่าวร้องฉันทามติในเรื่องหลักการสำคัญรวม 6 ประการของแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮอร์ นัมฮง (Hor Namhong) ของกัมพูชา เป็นผู้แถลงเรื่องหลักการ 6 ประการนี้ในกรุงพนมเปญ หลังจากที่ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้นซึ่งมีการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสมาคมอาเซียน ตัวเขาผู้อยู่ในฐานะเป็นประธานของการประชุม ต้องเสียหน้าจากความล้มเหลวไม่สามารถที่จะประกาศคำแถลงร่วมอันเป็นการสรุปสิ่งซึ่งที่ประชุมขบคิดพิจารณา ให้เหมือนกับที่ได้เคยกระทำกันมาในการประชุมคราวก่อนๆ ทุกๆ ครั้ง โดยสิ่งที่เขาตัดสินใจกระทำในคราวนี้ก็คือการเงียบเฉย

ประเด็นซึ่งเป็นปัญหาติดขัดจนทำให้คำแถลงร่วมออกมาไม่ได้ อยู่ตรงที่ว่า สมควรหรือไม่ที่จะเอ่ยถึง (และถ้าหากสมควรแล้ว จะใช้วิธีอย่างไรมาเอ่ยถึง) การเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์เมื่อเร็วๆ นี้ที่บริเวณหมู่เกาะปะการัง สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) ในทะเลจีนใต้ รัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert del Rosario) ของฟิลิปปินส์นั้น ถึงกับออกมาประณาม ฮอร์ นัมฮง ด้วยความรู้สึกว่าตนเองถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี จากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาใช้อำนาจความเป็นประธาน ยกเลิกไม่กล่าวถึงเนื้อหาของสิ่งที่ได้อุตส่าห์พูดคุยหารือกันมาเลยแม้แต่น้อยนิด ส่วน ฮอร์ นัมฮง ก็ประณาม เดล โรซาริโอ ที่ยืนกรานให้ใส่เรื่องการเผชิญหน้าที่สคาร์โบโร โชล เข้าไปในคำแถลงร่วมด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที ท่าทีรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาก็เป็นดังคำพังเพยของอินโดนีเซียที่กล่าวว่า “silent in a thousand languages” (นิ่งเงียบงันไม่ว่าจะในภาษาไหน) และจากการนิ่งเงียบเช่นนี้ยังเท่ากับการตะโกนก้องโดยไม่ต้องเปล่งเสียงต่อทั่วโลกว่า อาเซียนไม่สามารถเห็นพ้องกันได้ แม้กระทั่งการยอมรับว่าพวกเขาไม่เห็นพ้องต้องกัน

และแล้วผู้ที่มากอบกู้สมาคมอาเซียนให้พ้นภัยก็คือ มาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ชาติสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดของสมาคมในปัจจุบัน เขาใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันในการบินไปบินมาระหว่างเมืองหลวงต่างๆ ของอาเซียน ในแบบฉบับของการทูตฉุกเฉิน ก็สามารถทุบโต๊ะได้ข้อตกลงหลักการ 6 ประการเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ออกมา ซึ่ง ฮอร์ นัมฮง เป็นผู้นำออกมาอ่านทั้งในนามตัวเขาเองและในนามเพื่อนๆ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนของเขา

ข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการทั้ง 6 ประการซึ่ง ฮอร์ นัมฮง อ่านด้วยเสียงดังฟังชัดเป็นภาษาเขมร แล้วถูกรายงานข่าวแพร่ออกไปโดยที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำนวนถ้อยคำอันผิดแผกกันอยู่หลายหลากนั้น สามารถที่จะสรุปย่อได้ความว่า มันเป็นการกล่าวย้ำยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมาดปรารถนาของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จะ: เคารพปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on Conduct of the Parties in the South China Sea) รวมทั้งแนวทางในการปฏิบัติ (guidelines) ให้เป็นไปตามปฏิญญาฉบับนี้ , ดำเนินงานเพื่อไปสู่การอนุมัติเห็นชอบ จรรยาบรรณ (Code of Conduct ซึ่งก็คือการยกระดับขึ้นไปจากแค่เป็น ปฏิญญา) ว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ โดยเร็ว, ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ และหลีกเลี่ยงการข่มขู่คุกคามหรือการใช้กำลัง, และ ส่งเสริมสนับสนุนการแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ อย่างสันติ โดยยึดมั่นในหลักการต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับกันในทางสากลของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) ด้วย

จีนนั้นประกาศอ้างอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณซึ่งครอบคลุมเกือบจะทั่วทั้งทะเลจีนใต้ทีเดียว จึงทำให้ผิดพ้องหมองใจกับสมาชิกสมาคมอาเซียน 4 ชาติ ได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม ซึ่งต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณเหล่านี้เป็นบางส่วน ถึงแม้แดนมังกรจะประกาศว่าการอ้างอธิปไตยของตนนั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่อาจโต้แย้งได้” แต่ก็แสดงท่าทีด้วยว่าต้องการที่จะเจรจาทำความตกลงกับประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนอยู่ ทว่าการทำความตกลงกันนี้จะต้องกระทำในแบบทวิภาคีเท่านั้น นั่นก็คือ ฝ่ายผู้อ้างสิทธิ์ปรปักษ์จะต้องเจรจากับจีนทีละรายชนิดตัวต่อตัว

จากการแถลงหลักการ 6 ประการเช่นนี้ ก็เสมือนกับเป็นการนำเอาแผ่นกระดาษมาปิดทับบดบังความแตกแยกภายในสมาคมอาเซียนในเรื่องทะเลจีนใต้เอาไว้ โดยที่ยังมิได้มีการสมานความร้าวฉานที่เกิดขึ้นให้กลับกลายเป็นเนื้อเดียวกันใหม่อย่างแท้จริง นาตาเลกาวานั้นถึงแม้สามารถที่จะกระตุ้นผลักดันให้เกิดความเห็นพ้องเป็นฉันทามติในเรื่องหลักการ 6 ประการนี้ได้สำเร็จ อีกทั้งยังสามารถเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาอ่านข้อตกลงนี้ในการประชุมแถลงข่าวเพื่อให้ทั่วโลกได้รับทราบ ทว่าทั้งๆ ที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียผู้นี้ยืนอยู่ข้างๆ รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ในขณะที่เขาอ่านฉันทามติคราวนี้ แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้ง ฮอร์ นัมฮง ไม่ให้ช่วงชิงใช้โอกาสในการแถลงข่าวครั้งนี้ มาแก้เนื้อแก้ตัวว่าตนเองนั้นบริสุทธิ์แสนซื่อ พร้อมๆ กับโยนความผิดไปที่คนอื่นๆ

ในฐานะเป็นตัวแสดงระดับพหุภาคีที่สำคัญรายหนึ่ง สมาคมอาเซียนจึงถูกจีนกดดันอย่างไม่มีบันยะบันยัง ให้อยู่เฉยๆ อย่าได้หือได้อืออะไรเกี่ยวกับกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้เหล่านี้ ครั้นเมื่อ ฮอร์ นัมฮง กระทำเช่นนี้จริงๆ ในตอนสิ้นสุดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมที่กรุงพนมเปญ เขาจึงถูกกล่าวหาว่ากำลังทำให้อาเซียนเกิดความแตกแยกตามความประสงค์ของปักกิ่ง แต่แทนที่เขาจะเอ่ยเอื้อนมธุรสวาจาแห่งความปรองดองในระหว่างการประชุมแถลงข่าวเพื่ออ่านหลักการ 6 ประการ รัฐมนตรีผู้เฒ่าประสบการณ์เหลือเฟือชาวกัมพูชาผู้นี้ ก็กลับออกปากประณามว่า การที่อาเซียนประสบความล้มเหลวไม่สามารถออกคำแถลงร่วมตั้งแต่ตอนปิดท้ายการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศได้นั้น เป็นความผิดของ “2 ประเทศ”

ไม่มีข้อสงสัยแต่อย่างใดทั้งสิ้นว่า 2 ประเทศที่เขาเอ่ยออกมานี้ เขาหมายถึงฟิลิปปินส์ กับเวียดนาม อันเป็น 2 รัฐสมาชิกอาเซียนซึ่งคัดค้านการกล่าวอ้างอธิปไตยของจีนอย่างแข็งขันที่สุด ฮอร์ นัมฮง ระบุว่าตัวเขาเองนี่แหละที่เป็นผู้เขียนหลักการ 6 ประการนี้ โดยที่หลักการทั้งหมดเหล่านี้ “ผมเป็นผู้หยิบยกเสนอขึ้นมา” ในระหว่างประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ “ทำไม 2 ประเทศนี้จึงยังคงเฝ้าคัดค้าน (สิ่งที่ผมเสนอขึ้น) ? บางทีคงจะเป็นเพราะ มีแผนการอยู่เบื้องหลังที่มุ่งต่อต้านคัดค้านกัมพูชากระมัง” [1]

ท่าทีเช่นนี้ของกัมพูชาย่อมมีผลกระทบกระเทือนอย่างสำคัญต่อการปรองดองกันภายในสมาคมอาเซียน เวลานี้ นาตาเลกาวา คงจะต้องมีความรู้สึกหลายๆ อย่างผสมกันอยู่ เขาน่าจะดีใจที่เขาสามารถกระตุ้นผลักดันให้มีฉันทามติในเรื่องหลักการ 6 ประการออกมา แต่ขณะเดียวกันก็ย่อมต้องรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะบังเกิดขึ้นอีกในกรุงพนมเปญเดือนพฤศจิกายนนี้ เมื่อกัมพูชาจะเป็นประธานของการประชุมระดับผู้นำของสมาคมอาเซียน โดยที่มีประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาลจำนวนสิบกว่าชาติทั้งที่เป็นประเทศในเอเชียและนอกเอเชียเข้าร่วม

หลักการ 6 ประการนี้ไม่ได้มีการเอ่ยอ้างถึงการประจันหน้ากันที่หมู่เกาะปะการัง สคาร์โบโร โชล เรื่องนี้อาจถือได้ว่าเป็นการประนีประนอมที่จำเป็น เพื่อให้สามารถเกิดฉันทามติที่ทุกๆ รัฐสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องต้องกันออกมาได้ ทว่าการตัดประเด็นนี้ออกก็อาจเปิดทางให้กัมพูชาตลอดจนรัฐสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียนอ้างอิงหยิบยกเป็นแบบอย่างที่สมาคมได้เคยกระทำกันมาแล้ว และดังนั้นหลังจากนี้ไปก็อย่าได้พาดพิงถึงตัวอย่างความประพฤติเลวๆ ทั้งหลายที่จีนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ ทั้งนี้ถ้าหากอาเซียนหันมาใช้ท่าทีปฏิเสธไม่ยอมเห็น, ไม่ยอมได้ยิน, และไม่ยอมพูด อะไรที่เลวร้ายเลยเช่นนี้ มันก็อาจจะสามารถซื้อเวลาเพิ่มเติมสักระยะหนึ่งเพื่อใช้ในการหาวิธีแก้ไขคลี่คลายปัญหากันต่อไป ทว่าในอีกด้านหนึ่งมันก็อาจจะกลายเป็นเพียงการประวิงเวลาที่จะได้วิธีดังกล่าวให้เนิ่นช้าออกไปก็เป็นได้

ในเวลาเดียวกัน การที่ไม่สามารถพึ่งพิงวิธีการในทางนิตินัยมาแก้ไขข้อพิพาท ก็อาจทำให้เหล่าประเทศผู้อ้างกรรมสิทธิ์ทั้งหลาย ดำเนินการเคลื่อนไหวไปตามความอำเภอใจของตนฝ่ายเดียวเพิ่มมากขึ้น เพื่อชักนำให้ความเป็นจริงในทางพฤตินัยเอนเอียงมาในข้างที่เป็นประโยชน์ต่อพวกตนเอง เป็นต้นว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม หรือในวันเดียวกับที่ ฮอร์ นัมฮง อ่านหลักการ 6 ประการแห่งการสร้างสันติภาพในทะเลจีนใต้ของอาเซียนนั้นเอง สื่อจีนก็รายงานว่า คณะกรรมการทหารส่วนกลาง (Central Military Commission) ของแดนมังกร ได้อนุมัติให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจัดตั้งกองบังคับการกองทหารรักษาการณ์เขตซานซา (Sansha Garrison Command) ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ดูแลปกป้องหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands จีนเรียกว่าหมู่เกาะซีซา ), หมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands จีนเรียกว่าหมู่เกาะหนานซา), และ หมู่เกาะปะการัง แมคเคิลสฟิลด์ แบงก์ (Macclesfield Bank จีนเรียกว่าหมู่เกาะจงซา) ซึ่งทั้งหมดต่างอยู่ในเขตทะเลจีนใต้ ในบรรดาหน้าที่ต่างๆ ซึ่งกองบังคับการใหม่แห่งนี้ได้รับมอบหมาย ก็รวมถึง “การระดมกำลังเพื่อการป้องกัน” และ “การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางการทหาร” [2]

โดนัลด์ เค เอมเมอร์สัน เป็นผู้อำนวยการของโครงการเวทีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Forum) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น