xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประท้วงอียิปต์ตะโกนชื่อ “โมนิกา ลูวินสกี” เยาะเย้ย “คลินตัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประท้วงอียิปต์เดินทางมาชุมนุมขับไล่ ฮิลลารี คลินตัน ที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯในกรุงไคโร
รอยเตอร์ - ผู้ประท้วงชาวอียิปต์พากันขว้างปามะเขือเทศและรองเท้าใส่ขบวนรถยนต์ของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเดินทางเยือนอียิปต์เป็นครั้งแรก เมื่อวานนี้(15) หลังจากประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี จากฝ่ายอิสลามิสต์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำคนใหม่

เจ้าหน้าที่อียิปต์รายหนึ่งถูกมะเขือปาเข้าใส่เต็มหน้า ขณะที่รองเท้าและขวดน้ำดื่มลอยไปถูกขบวนรถของ คลินตัน และคณะ หลังจากที่เธอเดินทางไปปราศรัยเรื่องสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ที่เมืองท่าอเล็กซานเดรีย

ทั้งนี้ คลินตัน และรถยนต์ที่เธอนั่ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้ติดตาม ไม่ได้รับอันตรายจากสิ่งของที่ถูกขว้างปาแต่อย่างใด

ผู้ประท้วงชาวอียิปต์ยังร้องตะโกน “โมนิกา โมนิกา ” ซึ่งหมายถึง โมนิกา ลูวินสกี อดีตนักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาวซึ่งเคยมีสัมพันธ์สวาทกับสามีของ คลินตัน ขณะยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่วนคนอื่นๆก็โห่ร้องว่า “คลินตัน ออกไป” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเผย

การชุมนุมประท้วงกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมอียิปต์ นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ถูกประชาชนปฏิวัติโค่นล้มจากอำนาจเมื่อปีที่แล้ว ส่วนผู้ที่มาชุมนุมขับไล่ คลินตัน เมื่อวานนี้(15) ยังไม่ทราบว่ามาจากขั้วการเมืองใด

คืนวันเสาร์(14)ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงชาวอียิปต์กลุ่มหนึ่งเดินทางไปที่หน้าโรงแรมหรูกลางกรุงไคโรซึ่งเป็นที่พักของ คลินตัน พร้อมป่าวร้องสโลแกนต่อต้านอิสลามิสต์ และกล่าวหาว่าสหรัฐฯสนับสนุนให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมขึ้นมามีอำนาจ

ระหว่างปราศรัยที่สถานกงสุลสหรัฐฯแห่งใหม่ในเมืองอเล็กซานเดรีย คลินตัน ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าสหรัฐฯให้การสนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในอียิปต์

“ดิฉันขอกล่าวอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกผู้แพ้หรือผู้ชนะในอียิปต์ ต่อให้เราสามารถทำได้ก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าเราทำเช่นนั้นไม่ได้” คลินตัน กล่าว

“เราพร้อมที่จะร่วมมือกับท่าน ในขณะที่ท่านกำหนดทิศทางของตนเอง และสร้างประชาธิปไตยของตนเอง”

“สหรัฐฯต้องการยืนหยัดเพื่อหลักการและค่านิยม แต่มิใช่เพื่อคนกลุ่มใด”

คลินตันยังได้เข้าพบจอมพล ฮุสเซน ตันตาวี ผู้นำสูงสุดของกองทัพอียิปต์ เพื่อหารือกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ในขณะที่กองทัพยังพยายามยื้ออำนาจจากประธานาธิบดีคนใหม่

เจ้าหน้าที่ผู้ติดตาม คลินตัน สรุปผลการประชุมผ่านอีเมลว่า “ตันตาวี ย้ำว่าสิ่งที่ชาวอียิปต์ต้องการมากที่สุดในขณะนี้ คือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิม”

ด้านนายพล ตันตาวี ก็ออกมาให้สัมภาษณ์หลังพบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯว่า กองทัพให้ความเคารพต่ออำนาจของประธานาธิบดีคนใหม่ แต่จะไม่ละทิ้งบทบาทในการ “ปกป้อง” อียิปต์
ผู้ประท้วงอียิปต์เดินทางมาชุมนุมขับไล่ ฮิลลารี คลินตัน ที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯในกรุงไคโร
อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน กับ โมนิกา ลูวินสกี
Weekend Focus: วิกฤตการเมืองอียิปต์เข้มข้น ปธน.ใหม่ลองของท้าอำนาจกองทัพเปิดประชุมสภา
Weekend Focus: วิกฤตการเมืองอียิปต์เข้มข้น ปธน.ใหม่ลองของท้าอำนาจกองทัพเปิดประชุมสภา
วิกฤตการเมืองอียิปต์ยังไม่ส่อเค้าว่าจะยุติลงได้ง่ายๆ แม้จะมีกระบวนการประชาธิปไตย และการถ่ายโอนอำนาจนิติบัญญัติจากฝ่ายทหาร ซึ่งก็คือสภาสูงสุดของกองทัพ หรือ SCAF ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่จอมเผด็จการ ฮอสนี มูบารัค สิ้นอำนาจ ให้กับประธานาธิบดีฝ่ายพลเรือน โมฮาเหม็ด มอร์ซี ที่มาจากการเลือกตั้ง และเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไปเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ความวุ่นวายทางการเมืองของแดนไอยคุปต์ก็ยังเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน เมื่อฝ่ายทหารมีทีท่ามุ่งมั่นที่จะรักษาอำนาจเอาไว้ต่อไป ขณะที่ประมุขตัวจริงของประเทศ ผู้มาจากกลุ่มอิสลามิสต์ ก็พยายามท้าทายอิทธิพลของ SCAF เพื่อให้ตัวเองได้มีอำนาจการปกครองอย่างแท้จริง โดยศึกใหญ่ที่พวกเขาต้องประจันหน้ากันคือ การจัดตั้งรัฐสภา ซึ่งกำลังตกอยู่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น