xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: วิกฤตการเมืองอียิปต์เข้มข้น ปธน.ใหม่ลองของท้าอำนาจกองทัพเปิดประชุมสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วิกฤตการเมืองอียิปต์ยังไม่ส่อเค้าว่าจะยุติลงได้ง่ายๆ แม้จะมีกระบวนการประชาธิปไตย และการถ่ายโอนอำนาจนิติบัญญัติจากฝ่ายทหาร ซึ่งก็คือสภาสูงสุดของกองทัพ หรือ SCAF ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่จอมเผด็จการ ฮอสนี มูบารัค สิ้นอำนาจ ให้กับประธานาธิบดีฝ่ายพลเรือน โมฮาเหม็ด มอร์ซี ที่มาจากการเลือกตั้ง และเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไปเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ความวุ่นวายทางการเมืองของแดนไอยคุปต์ก็ยังเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน เมื่อฝ่ายทหารมีทีท่ามุ่งมั่นที่จะรักษาอำนาจเอาไว้ต่อไป ขณะที่ประมุขตัวจริงของประเทศ ผู้มาจากกลุ่มอิสลามิสต์ ก็พยายามท้าทายอิทธิพลของ SCAF เพื่อให้ตัวเองได้มีอำนาจการปกครองอย่างแท้จริง โดยศึกใหญ่ที่พวกเขาต้องประจันหน้ากันคือ การจัดตั้งรัฐสภา ซึ่งกำลังตกอยู่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ในขณะนี้

สภาสูงสุดของกองทัพ ซึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จภายหลังคลื่นประชาชนในกระแสอาหรับสปริงส์โค่นมูบารัคลงจากบัลลังก์ พยายามบั่นทอนอำนาจประธานาธิบดีคนใหม่ และยังเป็นประธานาธิบดีอิสลามิสต์คนแรกโลกในอาหรับ เสียแต่ต้นลม ซึ่งบ่งชี้ว่าทหารจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับกลุ่มอิสลามิสต์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ โดยการบีบให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า กฎหมายฉบับว่าด้วยการเลือกตั้งรัฐสภาเป็นโมฆะ ดังนั้นผลการเลือกตั้งรัฐสภาที่อิสลามิสต์ครองเสียงข้างมากจึงต้องเป็นโมฆะไปด้วย แน่นอนว่า นั่นทำให้ มอร์ซี ต้องดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยปราศจากทั้งรัฐสภา และรัฐธรรมนูญ ขณะที่อำนาจนิติบัญญัตินั้นตกไปอยู่ในมือของ SCAF

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าประธานาธิบดีมอร์ซีจะนิ่งเฉยยอมให้ฝ่ายทหารหยามศักดิ์ศรีความเป็นผู้นำ ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนกันได้ง่ายๆ ตามที่เคยให้คำมั่นว่าจะวางรากฐานของชีวิตใหม่ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความมีเสถียรภาพที่แท้จริง ให้แก่ประชาชนชาวอียิปต์ โดยเมื่อวันอาทิตย์ (8) ที่ผ่านมา เขาก็ออกกฤษฎีกายกเลิกคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดที่ให้ยุบสภาดังกล่าว พร้อมกับเรียกประชุมรัฐสภาในวันอังคาร (10) ซึ่งมีพรรคต่างๆ ของกลุ่มอิสลามิสต์ รวมถึง บราเธอร์ฮูดส์ ฟรีดอม, จัสทีส ปาร์ตี้ ที่มอร์ซีเคยเป็นสมาชิกก่อนลงเลือกตั้ง และพรรคซาสาฟิสต์ เข้าร่วมการประชุมสภาด้วย แม้ว่าสมาชิกสภาหลายคนจากพรรคสายเสรีนิยม และฝ่ายซ้ายขอบอยคอตไม่ร่วมประชุม โดยท่าทีของมอร์ซีนั้นถือเป็นการท้าทาย และแสดงความเป็นปรปักษ์กับสภาสูงสุดของกองทัพอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่เพิ่งจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด ซึ่งมีคณะผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยมูบารัค ก็ตอบโต้ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของมอร์ซี โดยมีคำสั่งยกเลิกกฤษฎีกาดังกล่าวของเขาให้ถือเป็นโมฆะ และประกาศใช้คำสั่งศาลเดิม ที่ถูกผลักดันโดย SCAF อีกครั้ง ทำให้นักวิจารณ์หลายคนมองว่าคำพิพากษาดังกล่าวนั้นมีแรงกระตุ้นทางการเมือง ที่จะยิ่งสร้างความยุ่งยากให้กับวิกฤตภายในประเทศมากขึ้น ทั้งยังเป็นสารที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถใช้อำนาจบริหารประเทศได้ โดยปราศจากกองทัพ ส่วนนักวิจารณ์บางรายก็ตำหนิว่า ประกาศคืนอำนาจรัฐสภาของประธานาธิบดีคนใหม่นั้นเป็นเหมือนการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เคารพอำนาจศาล หรือประชาธิปไตยเลย

สำหรับภาคประชาชน ชาวอียิปต์จำนวนหลายพันคนก็ออกมารวมตัวกันแสดงพลังสนับสนุนมอร์ซี ณ จตุรัสตอห์รีร์ อันเป็นศูนย์กลางการปฏิวัติโค่นล้มมูบารัคในปี 2011และเป็นสถานที่ชุมนุมประท้วงใหญ่หลายๆ ครั้งนับแต่นั้นมา โดยต่างตะโกนด่าทอกองทัพ ผู้พิพากษา รวมถึงนักข่าวโทรทัศน์ที่แสดงตัวต่อต้านอิสลามิสต์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ ก็มีผู้ต่อต้านกฤษฎีกาของมอร์ซีรวมตัวกันชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน

ด้าน สหรัฐฯ ซึ่งยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นหลัก กลับแสดงท่าทีวางเฉยต่อประเด็นความขัดแย้งทางข้อกฏหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐสภา ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ กองทัพ และ ประธานาธิบดีคนใหม่ ผู้มาจากกลุ่มอิสลามิสต์ ซึ่งดูไม่ค่อยลงรอยกับสหรัฐฯ เท่าใดนัก โดยอาจมองได้ว่าไม่ต้องการเป็นที่ข้อครหาว่าสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงการเมืองภายในของอียิปต์ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าวอชิงตันเคยให้การสนับสนุนมูบารัคอย่างออกนอกหน้ามาตลอด ระหว่างที่ผู้นำเผด็จการรายนี้อยู่ในอำนาจ สายสัมพันธ์นี้จึงสานต่อมาจนถึง SCAF หรือฝ่ายกองทัพในปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ดี นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ เพียงแต่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน และใช้ความพยายามร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคต่างๆ ที่จะขัดขวางการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

แม้สถานการณ์ภายในไคโรจะยังไม่ถึงขั้นรุนแรงนองเลือด แต่ด้านมอร์ซีก็ออกมาแถลงในวันพุธ (11) แล้วว่าต้องการเจรจาหารือกับทุกฝ่าย ทั้งกองทัพ สถาบันที่มีอำนาจทางการเมืองต่างๆ และเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด เพื่อร่วมกันคลี่คลายความตึงเครียดของปัญหาความขัดแย้งนี้ ไม่ให้ถลำลึกจนกลายเป็นวิกฤต โดยจะยอมรับคำตัดสินของศาลที่ให้ประกาศของประธานาธิบดีก่อนหน้านี้เป็นโมฆะด้วย นับเป็นจุดหักมุมของศึกแย่งชิงอำนาจทางกฏหมาย ในการปกครองประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาหรับแห่งนี้ ทว่า ทางออกสำหรับวิกฤตทางการเมืองภายในแดนไอยคุปต์ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนให้เลวร้ายลงเรื่อยๆ นั้นก็ยังดูเลือนรางเต็มที.

กำลังโหลดความคิดเห็น