xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : จับตาศึกเลือกตั้งสภาติมอร์ : ความท้าทายครั้งสำคัญของชาติน้องเล็กแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในวันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคมนี้ ณ ดินแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งติมอร์-เลสเตหรือติมอร์ตะวันออกประเทศน้องเล็กแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่าย ท่ามกลางความวิตกกังวลของนานาชาติว่า การเลือกตั้งคราวนี้อาจไม่ใช่ “คำตอบสุดท้าย” ที่จะช่วยนำพาดินแดนขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 15,410 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรเพียง 1.1 ล้านคนแห่งนี้ ให้หลุดพ้นจากเมฆหมอกของความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความยากจนข้นแค้นไปได้
ผู้สนับสนุน“เฟรติลิน” อาจได้เฮหากพรรคของตนชนะเลือกตั้ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากที่อดีตอาณานิคมของโปรตุเกสแห่งนี้ ได้กลายเป็นประเทศเอกราชเกิดใหม่อย่างเต็มตัวเมื่อ 20 พฤษภาคม ปี ค.ศ.2002 ได้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าหลายด้านขึ้นภายในติมอร์ตะวันออก แต่ถึงกระนั้นปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง และ ความยากจน ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่คู่กับดินแดนที่เคยถูกแทรกแซงโดยเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียนานหลายสิบปีแห่งนี้เสมอมา

ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่บรรดาพรรคการเมืองส่วนใหญ่จากทั้งหมดกว่า 20 พรรค ต่างหยิบยกประเด็นเรื่องความสมานฉันท์ทางการเมืองและการแก้ปัญหาด้านปากท้องมาเป็นจุดขายระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาจำนวน 65 ที่นั่ง ที่จะมีขึ้นในสุดสัปดาห์นี้
ฟรังซิสโก กูเตร์เรส ผู้นำพรรคฝ่ายซ้าย “เฟรติลิน”
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างลงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่การเลือกตั้งทั่วไปคราวนี้ อาจมีเพียงผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่เท่านั้นที่มีโอกาสได้รับเลือก คือ พรรค “Conselho Nacional de Reconstru??o de Timor” หรือพรรค “ซีเอ็นอาร์ที” ภายใต้การนำของนายซานานา กุสเมา วัย 66 ปีนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และอดีตประธานาธิบดีคนแรกของประเทศหลังได้รับเอกราช ส่วนอีกพรรคการเมืองหนึ่ง คือ พรรคแนวร่วมการปฏิวัติเพื่อเอกราชติมอร์ตะวันออก หรือที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ “เฟรติลิน” พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ภายใต้การนำของนายฟรังซิสโก กูเตร์เรส วัย 57 ปี

อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดกันว่า พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรคดังกล่าว คงไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้อย่างเด็ดขาดเพียงลำพัง และมีโอกาสสูงที่ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 1 คงต้องหันไปจับมือกับพรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อตั้งรัฐบาลผสม เนื่องจากแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่บรรดาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวติมอร์ตะวันออกจะได้เห็นการจับมือกันตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ระหว่างพรรคซีเอ็นอาร์ที และพรรคเฟรติลิน ที่ดูจะมีจุดยืนทางการเมืองที่ขัดแย้งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ซานานา กุสเมา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและอดีตประธานาธิบดีคนแรก
แต่ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นผู้คว้าชัยและได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ดูเหมือนจะต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่จากปัญหานานัปการที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการกระจายรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ไม่ทั่วถึง และกระจุกตัวอยู่ในมือของกลุ่มคนเพียงส่วนน้อย ไม่ถึง 1 ใน 5 ของประเทศ ปัญหาการทุจริตในหมู่ผู้มีอำนาจและข้าราชการ ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็ก ปัญหาด้านสุขอนามัยและปัญหาปากท้องอื่นๆ

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในครั้งนี้ของติมอร์-เลสเตผ่านพ้นไปได้ด้วยความราบรื่น ก็อาจทำให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตัดสินใจถอนกำลังตำรวจยูเอ็นกว่า 1,200 นาย ออกจากดินแดนแห่งนี้ภายในสิ้นปี หลังจากที่องค์กรระดับโลกแห่งนี้ต้องเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยภายในนานหลายปี ท่ามกลางความกังวลจากหลายฝ่ายว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วหรือ ที่ประชาธิปไตยและการเมืองแบบติมอร์ พร้อมจะยืนหยัดด้วยตนเอง โดยจะไม่หวนกลับไปสู่วงจรแห่งความขัดแย้งรุนแรง ถึงขั้นเกือบลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองเช่นที่ผ่านมาอีก
ตำรวจยูเอ็นอาจถอนตัวจากติมอร์-เลสเต หากการเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี
กำลังโหลดความคิดเห็น