xs
xsm
sm
md
lg

Feature : เมนู “ปลาปักเป้า” ความอร่อยแบบเสี่ยงๆของชาวญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลาปักเป้า ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทาน แม้จะต้องเสี่ยงกับพิษร้ายของมันก็ตาม
เอเอฟพี - ทุกปีจะมีชาวญี่ปุ่นถูกหามส่งโรงพยาบาลเพราะรับประทานเนื้อปลาปักเป้า โดยบางรายก็ถูกพิษรุนแรงปางตาย แต่ถึงจะเสี่ยงภัยขนาดนี้ ทางการกรุงโตเกียวยังเตรียมผ่อนคลายกฎการเสิร์ฟเมนูปลาปักเป้าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวเมืองหลวงได้ชิมสุดยอดเมนูปลากันง่ายดายยิ่งขึ้น

พวกที่ชอบลองของแปลกบอกว่า ความรู้สึกชานิดๆ ที่ริมฝีปากซึ่งเกิดจากพิษของปลาปักเป้า เป็นเสน่ห์ของการลิ้มลองเมนูชนิดนี้

ทว่า ความชาอันเกิดจากสารเทโทรท็อกซินก็อาจทวีความรุนแรงจนกลายเป็นอัมพาต และระบบหายใจล้มเหลวได้

สำนักงานอาหารและยาในสหรัฐฯ ระบุว่า การบริโภคปลาปักเป้าอาจทำให้เกิดพิษรุนแรงภายใน 4-6 ชั่วโมง “เหยื่อซึ่งเป็นอัมพาตทั้งตัวอาจมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ก่อนจะเสียชีวิตในอีกไม่นาน”

อย่างไรก็ดี ลูกค้าภัตตาคารของชิเงกาซุ ซูซุกิ ในกรุงโตเกียว มั่นใจได้ว่า พวกเขาสามารถชี้นิ้วเลือกปลาปักเป้าจากแท็งก์น้ำใกล้ๆ ครัวมารับประทาน โดยปราศจากอันตรายใดๆ

ซูซุกิ วัย 44 ปี เป็นพ่อครัวไม่กี่คนที่ผ่านการฝึกฝนและมีใบอนุญาตปรุงปลาปักเป้า ซึ่งมีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า “ฟูกุ”

“การทำความสะอาดปลาปักเป้าถือเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ไม่ผ่านการฝึกจนได้ใบอนุญาตมาก่อน” เขาให้สัมภาษณ์ที่ร้าน โทราฟูกุ-เทอิ ในย่านกินสะ ขณะที่ใช้มีดแหลมคมชำแหละเครื่องในของปลาปักเป้าที่จับขึ้นจากน้ำสดๆ อย่างชำนาญ

“ตัวผมเองไม่ทานของพวกนี้หรอกครับ เพราะกลัว” เขาบอก พร้อมดึงอวัยวะกลมรีสีเหลืองอ่อน ซึ่งเป็นส่วนที่มีพิษมากที่สุด ทิ้งไปในหม้อเหล็ก

ซูซุกิบอกว่า เขาใช้เวลาสอบถึง 5 ปีกว่าจะได้ใบอนุญาตปรุงปลาปักเป้า ซึ่งมีทั้งการสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติ เพื่อฝึกแยกชิ้นส่วนที่มีพิษออกจากส่วนที่กินได้

แม้ระเบียบที่เข้มงวดจะช่วยให้จำนวนผู้ถูกพิษจากการทานปลาปักเป้ามีน้อย แต่ก็ยังได้ยินข่าวเสมอว่า ชาวประมงบางคนเสียชีวิตเพราะกินปลาปักเป้าที่ปรุงไม่ถูกวิธี

บางครั้งพ่อครัวก็อดไม่ได้ เมื่อถูกลูกค้ารบเร้าให้ปรุงอวัยวะส่วนที่มีพิษมาให้ลองทาน

เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารกรุงโตเกียวสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของพ่อครัวในภัตตาคาร 2 ดาวมิชลินแห่งหนึ่ง หลังจากที่เขาเสิร์ฟตับปลาปักเป้าให้ลูกค้า ซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าหัวดื้อรายนี้ก็ต้องไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 2-3 วัน
ชิเงกาซุ ซูซุกิ พ่อครัวจากร้าน โทราฟูกุ-เทอิ ในย่านกินสะ กำลังชำแหละปลาปักเป้า
หม้อไฟปลาปักเป้าที่ร้านโทราฟูกุ-เทอิ ตกราคาชุดละประมาณ 5,000 เยน แต่ในภัตตาคารหรูบางแห่ง ราคาอาจพุ่งสูงขึ้นเป็นหลายหมื่นเยนเลยทีเดียว

แม้จะแพงแสนแพง แต่ โยเฮอิ วาตานาเบะ ลูกค้าคนหนึ่งบอกว่า ไม่แปลกใจที่คนยังนิยมรับประทานเนื้อปลาซึ่งมีเฉพาะบางฤดูกาลชนิดนี้

“มันราคาสูงกว่าปลาทั่วๆ ไปเล็กน้อย แต่ก็คุ้มค่าเงิน” เขาบอก

และที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้สังเกตการณ์หลายคนก็คือ กรุงโตเกียวประกาศจะผ่อนคลายกฎระเบียบว่าด้วยการเสิร์ฟปลาปักเป้า โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ประชาชนจะสามารถซื้อเนื้อปลาปักเป้าตัดแต่งหรือแช่แข็งไปทำกินเองที่บ้าน โดยเนื้อปลาจะต้องผ่านการแล่โดยเชฟที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนปลาปักเป้าสดทั้งตัวยังคงห้ามจำหน่ายในภัตตาคารที่ไม่มีพ่อครัวซึ่งได้รับใบอนุญาต

กรุงโตเกียวชี้แจงว่า การเปลี่ยนกฎครั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีปฏิบัติของคนทั่วไป เนื่องจากผู้บริโภคในโตเกียวนิยมใช้อินเทอร์เน็ตสั่งซื้อเนื้อปลาปักเป้าจากตอนใต้ของเกาะกิวชูมารับประทานเองนานแล้ว

ซูซุกิเผยว่า กฎระเบียบใหม่ไม่ได้ทำให้เขากังวลว่าจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

“ตามกฎใหม่คงจะมีภัตตาคารอีกหลายแห่งที่สามารถเสิร์ฟปลาปักเป้าได้ ผู้บริโภคก็จะมีโอกาสลิ้มลองปลาชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้พวกเขาตระหนักถึงวัฒนธรรมการกินปลาปักเป้าที่ถูกต้องด้วย”
พิษอ่อนๆในเนื้อปลาปักเป้า ทำให้ผู้กินมีความรู้สึกชาที่ริมฝีปาก ซึ่งบางคนเห็นว่าเป็นเสน่ห์ของเมนูชนิดนี้
ตับปลาปักเป้า ซึ่งเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีพิษสะสมมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น