เอเอฟพี - บริษัทนิวส์คอร์ป อาณาจักรธุรกิจของเจ้าพ่อสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค แถลงอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดี (28) ว่า มีเจตจำนงที่จะแบ่งกิจการของตนออกเป็น 2 บริษัท โดยที่จะแยกเอาพวกฝ่ายที่เกี่ยวกับธุรกิจบันเทิง ซึ่งมีขนาดใหญ่โตและทำกำไรงดงาม ออกมาจากธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์ที่กำลังประสบปัญหาหลายหลากประการ
ทั้งนี้ บริษัทด้านบันเทิงซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่า จะประกอบด้วยกิจการอย่าง ฟ็อกซ์ บรอดแคสติง, ทเวนตีธ์ เซนจูรี ฟ็อกซ์ ฟิล์ม, ทเวนตีธ์ เซนจูรี ฟ็อกซ์ เทเลวิชัน, ฟ็อกซ์ สปอร์ตส์ , ฟ็อกซ์ อินเตอร์เนชันแนล แชนนัลส์, ฟ็อกซ์ นิวส์ แชนนัล, ฟ็อกซ์ บิซิเนส เน็ตเวิร์ก, สตาร์ ทีวี และกิจการดำเนินงานทีวีแห่งอื่นๆ
ส่วนบริษัทด้านสิ่งพิมพ์จะมีกิจการอย่างวอลล์สตรีทเจอร์นัล, สำนักข่าวดาวโจนส์, สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์, นิวยอร์กโพสต์, เดอะ เดลี, ไทมส์ แห่งลอนดอน, เดอะซัน, ตลอดจนทรัพย์สินด้านสิ่งพิมพ์อื่นๆ ทั้งในอังกฤษและออสตรเลีย
ตัวเมอร์ด็อคระบุว่า เขายังจะดำรงตำแหน่งประธานของบริษัททั้งสองแห่งนี้ “ผมมีความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่า บริษัททั้งสองแห่งนี้ต่างก็มีอนาคตที่สดใสมาก” เมอร์ด็อคกล่าวในการประชุมแถลงข่าวทางโทรศัพท์
ขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่า ยังคงมี “อุปสรรคสิ่งกีดขวาง” อีกมากทีเดียวก่อนที่จะการแยกกิจการเช่นนี้จะดำเนินการได้เสร็จสิ้น โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าจะใช้เวลาราว 12 เดือน อีกทั้งจะต้องให้คณะกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัทนิวส์ คอร์ป อนุมัติเสียก่อนด้วย
เมอร์ด็อคซึ่งเป็นทั้งประธานและซีอีโอของนิวส์คอร์ป แจกแจงว่า บริษัทแห่งนี้อยู่ในสภาพที่มีพอร์ตทรัพย์สินอันมีความหลากหลายเป็นจำนวนมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และโครงสร้างในปัจจุบันก็กำลังมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทุกที
“เราจึงตัดสินใจที่จะสร้างโครงสร้างใหม่นี้ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้การดำเนินกิจการมีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้น และมีการจัดลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องผูกพันกันให้มากขึ้น ทำให้แต่ละบริษัทสามารถที่จะทำตามความผูกพันต่างๆ ที่เรามีอยู่กับผู้บริโภคตลอดทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น” เจ้าพ่อสื่อผู้ถือกำเนิดในออสเตรเลียและปัจจุบันถือสัญชาติอเมริกันกล่าวในคำแถลง
เขายืนยันว่า ทั้งสองบริษัทที่แยกกันนี้จะทำให้แต่ละส่วนสามารถยกระดับขึ้นสู่จุดสูงใหม่ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า การแยกตัวเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่กิจการด้านสิ่งพิมพ์กำลังย่ำแย่ ทั้งเนื่องจากอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์กำลังตกต่ำทั้งอุตสาหกรรม นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์ของเมอร์ด็อคในอังกฤษ ยังกำลังถูกเปิดโปงถูกสอบสวนเรื่องพฤติการณ์อื้อฉาวแอบดักฟังโทรศัพท์ใครต่อใครไปทั่ว จนกระทั่งต้องปิดหนังสือพิมพ์ นิวส์ออฟเดอะเวิลด์ ซึ่งถือเป็นกิจการเรือธงด้านสิ่งพิมพ์ในอังกฤษของเมอร์ด็อค ตลอดจนมีผู้บริหารระดับสูงลาออกหรือถูกบีบให้ออกไปหลายต่อหลายราย
แต่เมอร์ด็อคเองยืนกรานว่า ความเคลื่อนไหวคราวนี้ “ไม่ได้เป็นปฏิกิริยาต่อสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นในอังกฤษ” แต่เป็นผลจากการศึกษาพิจารณากันมาหลายปีแล้ว โดยเห็นว่าวิธีนี้จะก่อให้เกิดมูลค่าแก่ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกับที่การบริหารก็จะมีความทะมัดทะแมงมากขึ้น
ในปัจจุบัน กิจการด้านบันเทิงของนิวส์ คอร์ป เป็นตัวสร้างรายรับประมาณปีละ 23,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กิจการด้านสิ่งพิมพ์ทำได้ 8,800 ล้านดอลลาร์ แต่พวกนักวิเคราะห์บอกว่า กิจการด้านบันเทิงมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขรายรับมากมายนัก เนื่องจากสามารถเติบโตและทำกำไรได้สูงขึ้นเรื่อยๆ
เดวิด จอยซ์ นักวิเคราะห์แห่งมิลเลอร์ ทาบัค มองว่า การแยกตัวเช่นนี้ จะทำให้ กิจการด้านบันเทิงสามารถเดินหน้าไปได้ โดยไม่ต้องพะวักพะวนกับกรณีฉาวโฉ่การดักฟังโทรศัพท์ของพวกกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ในอังกฤษ เขาคาดหมายด้วยว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า กิจการด้านสิ่งพิมพ์จะถอนออกไปจากตลาดหลักทรัพย์
ถึงแม้มีความกังวลกันอยู่มากว่าอุตสาหกรรมด้านข่าวจะประสบปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมอร์ด็อคกล่าวว่า เขามองทิศทางอนาคตในทางบวก โดยที่ “คำตอบถ้าหากจะพูดกันด้วยคำๆ เดียว คำๆ นั้นก็คือ ดิจิตอล”
“ประชาชนกำลังซื้อหนังสือพิมพ์กระดาษน้อยลง แต่พวกเขาก็กำลังหาข่าวที่พวกเขาต้องการในรูปแบบอื่นๆ ในระดับที่มากขึ้นทัดเทียมกัน ประชาชนยังพร้อมจะจ่ายเงินเป็นค่าข่าว มันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ประชาชนยังต้องการที่จะรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น”
ทว่า ริชาร์ด กรีนฟิลด์ แห่ง บีทีไอจี รีเสิร์ช มองว่า อนาคตของทรัพย์สินด้านสิ่งพิมพ์ของนิวส์ คอร์ป กำลังแย่ลงไปทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกทรัพย์สินที่อยู่นอกกิจการข่าวด้านการเงินของดาวโจนส์ ขณะเดียวกันการสอบสวนกรณีอื้อฉาวดักฟังโทรศัพท์ในอังกฤษ ก็จะทำให้กิจการสิ่งพิมพ์ของนิวส์คอร์ปยิ่งเลวร้ายลงไปอีก