xs
xsm
sm
md
lg

“โรเบิร์ต เซลลิค” เตือนวิกฤตหนี้ยุโรปเสี่ยงก่อหายนะทางการเงินเทียบเท่า “เลห์แมน บราเธอร์ส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรเบิร์ต เซลลิค ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)
เอเอฟพี - โรเบิร์ต เซลลิค ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวเตือนว่ายุโรปกำลังจะเผชิญวิกฤตเหมือนครั้งที่วาณิชธนกิจ เลห์แมน บราเธอร์ส ของสหรัฐฯล้มละลาย และการล่มสลายของสกุลเงินยูโรอาจลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ บทสัมภาษณ์ เซลลิค ซึ่งเผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ ดิ ออบเซอร์เวอร์ ของอังกฤษวันนี้(17) ระบุ

เซลลิค เตรียมแถลงต่อที่ประชุมประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี20 ที่เม็กซิโก ว่า ยุโรปเสี่ยงจะเผชิญภาวะล้มละลายทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงประเทศกำลังพัฒนา

“ยุโรปอาจจะฟันฝ่าปัญหานี้ไปได้ แต่ความเสี่ยงก็สูงขึ้นเรื่อยๆ” ประธานเวิลด์แบงก์ วัย 58 ปี เผย

“อาจจะเกิดวิกฤตการณ์เหมือนคราว เลห์แมน หากไม่มีการจัดการที่ดีพอ”

การล่มสลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 อันเกิดจากการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่สั่นคลอนตลาดการเงินทั่วโลก

เซลลิค กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้อง “เตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นจากยูโรโซน และตลาดการเงินในวงกว้าง”

“จะดีกว่าหากพวกเขาหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ระยะสั้น ซึ่งอาจครบกำหนดชำระคืนในช่วงเวลาวิกฤต แล้วหันไปเสริมสร้างพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น โครงสร้างพื้นฐาน และทุนมนุษย์”

เซลลิค ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานเวิลด์แบงก์มา 5 ปี และจะหมดวาระลงในสิ้นเดือนนี้ กล่าวว่า เวิลด์แบงก์กำลังออกมาตรการป้องกันปัญหาสินเชื่อตึงตัว (credit crunch) ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป และปกป้องประเทศแถบแอฟริกาเหนือ ซึ่งจะได้รับผลกระทบของวิกฤตหนี้ยุโรปค่อนข้างรุนแรง

เวิลด์แบงก์ยังเตรียมหาวิธีช่วยเหลือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำลงอีกครั้ง

“ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินเริ่มก่อความเสียหายต่อประเทศกำลังพัฒนาแล้ว... แรงกระเพื่อมส่งผลให้ทุกคนใช้ชีวิตกันลำบากขึ้น” เซลลิค กล่าว

“เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน เราจึงมุ่งเน้นที่จะให้ความช่วยเหลือต่อประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างเกราะป้องกันทางสังคมที่ไม่บั่นทอนงบประมาณ”

เซลลิค ชี้ว่า บราซิลและเม็กซิโกเป็นตัวอย่างที่ดีในการผสมผสานระหว่างตัวกระตุ้นเศรษฐกิจกับเทคโนโลยีข้อมูล ซึ่งมีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ ทั้งยังระบุว่า การที่อิตาลีและสเปนต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงลิบลิ่ว ก็เพราะชาติยุโรปไม่ได้สนับสนุนอย่างถูกทาง

ประธานธนาคารโลกยังกังวลว่า วิกฤตหนี้สินที่ยืดเยื้ออาจผลักดันให้แต่ละประเทศหันไปใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมมากขึ้น

“นี่ไม่ใช่แค่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่จะเป็นภัยคุกคามทางการเมืองด้วย... เราต้องมั่นใจได้ว่าตลาดยังเปิดกว้าง และระวังการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า เพราะทุกวันนี้ก็เริ่มมีการตั้งข้อจำกัดการค้ามากขึ้นแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น