xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อัดฉีดธนาคารสเปนแค่ซื้อเวลา ยูโรโซนลุ้นเลือกตั้งกรีซอาทิตย์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี - นักวิเคราะห์ชี้การที่ยูโรโซนตัดสินใจปล่อยเงินกู้มหาศาลเพื่ออุ้มแบงก์สเปน เป็นเพียงการซื้อเวลาสำหรับมาดริดและยูโรโซนเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลังของยุโรปย่อมต้องเป็นการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของกรีซในสุดสัปดาห์นี้ รวมถึงการที่แดนกระทิงดุถึงกำหนดชำระหนี้ก้อนใหญ่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้

หลังจากยืนกรานมาหลายสัปดาห์ว่าสเปนไม่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มทุนแบงก์ที่เผชิญวิกฤตจากหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ ในที่สุดนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย ก็ถูกกดดันให้ต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือเพื่อป้องกันหายนะเลวร้าย

รัฐมนตรีคลัง 17 ชาติยูโรโซนตอบสนองทันทีด้วยการประกาศปล่อยกู้มาดริดถึง 100,000 ล้านยูโร (125,000 ล้านดอลลาร์) เมื่อวันเสาร์ (9) เพื่อฟื้นความมั่นใจของนักลงทุนและสร้างปราการปกป้องใหม่ภายหลังการเข้าอุ้มกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสนับจากปี 2010

กระนั้น ปราการดังกล่าวอาจทลายลงในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (17) จากกระแสความโกรธแค้นของชาวกรีซที่จะแสดงออกมาในการหย่อนบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภา ส่งผลให้ตลาดกลับมาปั่นป่วนใหม่และกระทบต่อสเปนและอิตาลีเป็นด่านแรก

ขณะเดียวกัน แม้ราฮอยระบุว่า มาตรการปฏิรูปที่ผ่านมาช่วยให้สเปนไม่ต้องขอรับความช่วยเหลือเพื่อฟื้นเศรษฐกิจทั้งระบบ แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า เงินอัดฉีดแบงก์อาจเป็นการโหมโรงสำหรับสถานการณ์ดังกล่าว

อิริก นีลเซน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของยูนิเครดิต มองว่าการเพิ่มทุนแบงก์จะช่วยแก้ไขจุดอ่อน 3 ส่วนของสเปนคือ ธนาคาร แคว้นต่างๆ ที่มีอำนาจปกครองตนเอง และความอ่อนแอเชิงระบบ

ทว่า คาร์ล วีแลน นักเศรษฐศาสตร์ของยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจในดับลิน ไอร์แลนด์ กลับมองว่าภาระจากการเพิ่มทุนให้แก่พวกแบงก์อ่อนแอหรือภาระการขาดทุนจากการที่ต้องเข้าซื้อแบงก์ขี้โรค อย่างไรเสียก็จะตกอยู่กับชาวสเปน ดังนั้น ความคืบหน้าเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจจบลงโดยที่สเปนไม่สามารถเข้าระดมทุนในตลาดพันธบัตรได้

สเปน ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 4 ของยูโรโซนกำลังถูกรุมเร้าจากภาวะถดถอยและอัตราว่างงานสูงลิบ โดยที่มีกำหนดการต้องชำระหนี้ในช่วงปลายปีนี้ถึง 82,500 ล้านยูโร ทั้งนี้หนี้ก้อนใหญ่จะต้องจ่ายคืนตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม นอกจากนี้ พวกแคว้นปกครองตนเองที่ใช้จ่ายเกินตัว ยังมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระในช่วงครึ่งปีหลังนี้อีก 15,700 ล้านยูโร

โฆเซ การ์โลส ดิเอซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอินเตอร์มันนี่ในมาดริด ชี้ว่าหากแผนการอัดฉีดแบงก์ไม่ช่วยฟื้นความมั่นใจของนักลงทุน และเงินทุนยังไหลออก สเปนจะมีปัญหาในการระดมทุนและอาจต้องขอรับวงเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม

นอกจากนั้นบรรดาผู้วางนโยบายยังกลัวว่า จะเกิดสถานการณ์ที่ผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินออกจากแบงก์ในกรีซและสเปนอย่างรวดเร็ว หากพรรคฝ่ายซ้ายของกรีซซึ่งมีนโยบายต่อต้านเงื่อนไขโหดๆ ที่ผูกมากับเงินกู้ซึ่งเอเธนส์ได้จากสหภาพยุโรป/กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เกิดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 17 นี้ และทำให้เจ้าหนี้ระว่างประเทศทั้งสองระงับความช่วยเหลือ แล้วปล่อยให้กรีซไม่มีเงินและต้องผิดนัดชำระหนี้ในเดือนกันยายน

แม้ไม่ได้ถูกบังคับตามกฎหมายให้ต้องออกจากยูโรโซน แต่เอเธนส์อาจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากภายนอกเพื่ออัดฉีดรัฐบาลและแบงก์ ส่งผลให้สถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนัก

ทั้งนี้ แบงก์สเปนเอง มีสถิติเงินทุนไหลออกสูงสุดนับจากก่อตั้งระบบสกุลเงินยูโร ด้วยยอดไหลออกสุทธิ 66,000 ล้านยูโรในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนล่าสุดที่มีการรวบรวมข้อมูล และนั่นเป็นช่วงก่อนที่รัฐบาลจะประกาศโอนกิจการแบงเกียเข้าเป็นของรัฐอย่างกะทันหันด้วยซ้ำ

โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เห็นด้วยว่าการที่ยุโรปปล่อยกู้เพื่อให้สเปนนำไปเพิ่มทุนแบงก์นั้น เป็นมาตรการที่จะใช้ไม่ได้ผล เพราะในความเป็นจริงนั้นธนาคารกลางสเปน เป็นผู้ซื้อหลักสำหรับพันธบัตรรัฐบาลในปีที่ผ่านมา จึงมีความเสี่ยงที่ตัวรัฐบาลสเปนเองอาจต้องขอความช่วยเหลือจากยูโรโซนเพื่อใช้กอบกู้เศรษฐกิจโดยรวมเช่นเดียวกัน

สติกลิตซ์ อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน แนะนำว่าทางออกของวิกฤตหนี้ยูโรโซนไม่ใช่การรัดเข็มขัด แต่ต้องส่งเสริมการเติบโต พร้อมๆ กับก่อตั้งสหภาพการธนาคารและการคลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น