xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: เหตุนองเลือดในซีเรีย กับความวุ่นวายในอียิปต์ 2 ประเด็นร้อนโลกอาหรับกับทางออกที่ยังมืดมิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิเสธไม่ได้ว่า 2 เหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ ทั้งผลพวงจากความสยดสยองจากเหตุสังหารหมู่ที่ “ฮูลา” ของซีเรีย และเหตุวุ่นวายหลังคำตัดสินความผิดอดีตผู้นำ “ฮอสนี มูบารัค” ที่อียิปต์ คือประเด็นข่าวต่างประเทศที่ร้อนฉ่าที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่ซีเรีย แม้ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)จะระบุว่า มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 9,000 ราย นับตั้งแต่เกิดการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านระบอบการปกครองของรัฐบาลซีเรีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำหนุ่มใหญ่วัย 46 ปี ที่ข้อมูลจากแหล่งข่าวส่วนใหญ่ของโลกตะวันตกต่างยืนยันตรงกันว่า ยังคงเดินหน้าปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างไม่ลดละ แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่า จะเกิด โศกนาฏกรรมสังหารหมู่ประชาชนแบบไม่เลือกหน้าชนิดลูกเด็กเล็กแดงก็ไม่เว้น ไม่ต่ำกว่า 108ศพ ที่เขตฮูลา ทางตอนเหนือของเมืองฮอมส์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวมีกว่า 49 รายที่เป็นเด็ก
เหตุสังหารหมู่ในซีเรียสะเทือนใจคนทั้งโลก
แม้ผู้นำซีเรียซึ่งขึ้นครองอำนาจแบบผูกขาดต่อจากผู้เป็นบิดาคือฮาเฟซ อัล อัสซาด ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2000 จะออกมากล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาที่กรุงดามัสกัส เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ยืนกรานว่า เหตุนองเลือดที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่มีต่างชาติหนุนหลัง พร้อมเปิดเผยข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่งที่ระบุว่า ทหารของฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังความมั่นคงของตนถูกฝ่ายตรงข้ามสังหารไปแล้วมากกว่า 2,600 นาย และยังกล่าวประณามผู้ที่ลงมือสังหารหมู่ประชาชนที่เขตฮูลาว่าเป็น “ปีศาจร้าย”

แต่สุนทรพจน์ดังกล่าวของผู้นำซีเรียที่ถือเป็น“ไฮไลต์สำคัญประจำสัปดาห์”กลับกลายเป็นเพียง“การแก้ตัว” และ “การโกหกคำโต” ในสายตาของโลกตะวันตกเท่านั้น เห็นได้จากการที่ 13 ประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ตุรกี และหลายชาติในยุโรปยังคงยืนกรานขับผู้แทนทางการทูตซีเรียออกจากประเทศของตนอย่างไม่มีกำหนด ไม่เว้นแม้แต่ “พี่เบิ้มผู้ใจดี”อย่างรัสเซียที่คอยปกป้องและอยู่เคียงข้างรัฐบาลดามัสกัสมาโดยตลอด ยังทนแรงกดดันจากนานาชาติไม่ไหวถึงขั้นต้องร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือนในซีเรีย แม้ในความเป็นจริงแล้ว ก็ยังไม่มีใครสามารถสรุปได้แน่ชัดว่า หายนะด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในซีเรียนั้น เป็นฝีมือของรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาดจริงหรือไม่

ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลซีเรียซึ่งดูเหมือนจะเป็นผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายเดียวมาโดยตลอด ได้เริ่มตอบโต้กลับบ้างแล้ว เห็นได้จากคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศซีเรียเมื่อวันอังคารที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่มีสาระสำคัญคือการประกาศขับนักการทูตของสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และตุรกีออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลสั้นๆแต่ได้ใจความว่าผู้แทนทางการทูตเหล่านี้เป็น “บุคคลอันไม่พึงประสงค์” หรือ “persona non grata” นั่นเอง
บาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำซีเรีย
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใด ดูเหมือนเวลานี้จะยังมองไม่เห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” สำหรับสถานการณ์ในซีเรีย เพราะดูเหมือนความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งการออกแถลงการณ์ประณาม การขับทูตซีเรียออกนอกประเทศ รวมถึงการส่งทีมสังเกตการณ์เข้าไปในซีเรีย ต่างเป็นวิธีที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงและไม่อาจยับยั้งความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้

นอกเหนือจากสถานการณ์ในซีเรียที่ยังคงต้องติดตามกันแบบวันต่อวันแล้ว ความวุ่นวายในประเทศอียิปต์ ดินแดนอาหรับที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ทั่วโลกเฝ้าจับตามองเช่นกัน หลังเกิดเหตุผู้ประท้วงชาวอียิปต์ที่โกรธแค้นจำนวนหลายพันคน ออกมารวมตัวตามท้องถนนสายสำคัญทั่วประเทศเพื่อแสดงความไม่พอใจ หลังศาลอียิปต์มีคำพิพากษาให้อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคและฮาบิบ อัล อัดลี อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยรับโทษจำคุกตลอดชีวิตจากกรณีสังหารผู้ชุมนุมประท้วงกว่า 850 รายระหว่างเหตุจลาจลโค่นล้มระบอบมูบารัคเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง 6 รายที่มีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวกลับถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด นอกจากนั้น ข้อหาคอร์รัปชันของอาลา และกามาล บุตรชาย 2 คนของมูบารัคยังถูกยกฟ้อง เนื่องจากศาลให้เหตุผลว่าคดีหมดอายุความไปแล้ว ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายว่า มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่มูบารัคและอัดลี อาจพ้นความผิดในชั้นศาลอุทธรณ์

คำตัดสินของศาลก่อให้เกิดความไม่พอใจ และปลุกกระแสแห่งความโกรธแค้นไปทั่วอียิปต์ภายในเวลาอันรวดเร็วเนื่องจากผู้ประท้วงส่วนใหญ่เห็นว่ามูบารัคและผู้เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ สมควรได้รับโทษประหารชีวิต ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า องค์กรเคลื่อนไหวด้านการเมืองของชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดอย่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย “6 เมษายน” ประกาศจะจัดการประท้วงใหญ่เช่นกัน
อาเหม็ด ชาฟิค ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอียิปต์ที่มีกลุ่มอำนาจเก่าหนุนหลัง
นอกจากนั้น สิ่งที่ทั่วโลกกำลังเป็นกังวลเกี่ยวกับอียิปต์ คือ ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบชี้ขาดของดินแดนไอยคุปต์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-17 มิถุนายนนี้ ที่เหลือผู้สมัครเพียง 2 รายที่ต้องขับเคี่ยวชิงเก้าอี้ผู้นำสูงสุด คือ ดร.โมฮาเหม็ด มอร์ซี อิซา อัล อัยยัต วัย 60 ปี ประธานพรรค “ฟรีดอม แอนด์ จัสทิซ ปาร์ตี้” พรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม กับนายอาเหม็ด ชาฟิค ผู้สมัครอิสระวัย 70 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอากาศอียิปต์และเคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายสมัยที่ฮอสนี มูบารัคครองอำนาจ

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครการันตีได้ว่า เหตุวุ่นวายในอียิปต์จะสิ้นสุดลง หากชาวอียิปต์มีประธานาธิบดีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากนายชาฟิค ที่ได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มอำนาจเก่า คือ พวกสนับสนุนระบอบมูบารัคเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ เนื่องจากมีความเป็นไปได้น้อยเหลือเกินที่ฝ่ายต่อต้านมูบารัค จะให้การยอมรับชาฟิคในฐานะผู้นำคนใหม่ด้วยความเต็มใจ และคงไม่แคล้วที่เหตุประท้วงตามท้องถนนจะยังคงเกิดขึ้นอีกในอียิปต์หลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ผ่านพ้นไป
เหตุประท้วงในอียิปต์หลังมูบารัค รอดพ้นโทษประหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น