(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
ASEAN shows “The Way” as Myanmar opens
By Balbir B Bhasin
17/05/2012
สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ถูกประณามและสบประมาทในปี 1997 จากการตัดสินใจนำเอาพม่า ที่เวลานั้นยังเป็นรัฐที่สังคมโลกรังเกียจ เข้าเป็นสมาชิกของตน แล้วจากนั้นอาเซียนก็แสดงบทบาทเป็นผู้ชี้หนทางอันถูกต้องอีกคำรบหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ด้วยการมอบตำแหน่งประธานของสมาคมประจำปี 2014 ให้แก่กรุงเนปิดอว์ เนื่องจากมองเห็น “สัญญาณต่างๆ อันส่งเสริมให้กำลังใจ” ในเรื่องการปฏิรูปของแดนหม่อง เหตุผลที่ทำให้พม่าเกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันคืออะไร ยังเป็นสิ่งที่สามารถอภิปรายถกเถียงกันต่อไป แต่สิ่งที่กระจ่างชัดเจนแล้วก็คือ บรรดาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพม่าต่างกำลังมีความคาดหมายต่อประเทศนี้เพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวด
การเลือกตั้งซ่อมเมื่อเร็วๆ นี้ในพม่า ซึ่งทำให้ อองซานซูจี ผู้นำการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย และพรรคการเมืองของเธอได้เข้าสู่รัฐสภา ได้รับการป่าวร้องยกย่องว่าเป็นรุ่งอรุณของวันใหม่สำหรับการต่อสู้ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการอุทิศตนของเธอ เพิ่งได้รับการปล่อยตัวภายหลังถูกคุมขังกักตัวอยู่ภายในบ้านพักมาเป็นเวลารวมแล้ว 15 ปี ก็ในเดือนพฤศจิกายน 2010 นี้เอง ขณะที่ในปีที่แล้วเราได้เห็นคณะรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยทหารที่ถอดเครื่องแบบหันมาแต่งกายพลเรือนเป็นจำนวนมาก ขึ้นรับหน้าที่สืบแทนระบอบปกครองอันกดขี่ของฝ่ายทหารที่กุมอำนาจมาเป็นเวลากว่า 50 ปี รัฐบาลพลเรือนแต่ในนามชุดใหม่นี้กระทั่งเชื้อเชิญให้คณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติ เข้าร่วมเป็นประจักษ์พยานการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ด้วยซ้ำไป
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกรุงเนปิดอว์ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงรวมแล้ว 11 ฉบับกับชนกลุ่มน้อยและกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ต่างๆ ภายในประเทศ เสรีภาพทางการเมืองประการสำคัญๆ เป็นต้นว่า สิทธิในการจัดตั้งสมาคม, สิทธิในการชุมนุมรวมตัวกัน, สิทธิในการแสดงออก, และสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่างได้รับความเคารพในลักษณะซึ่งเพียงเมื่อสัก 1 ปีก่อนจะไม่มีใครกล้าคาดคิดว่าเป็นไปได้ การเปิดประตูทางการเมืองของพม่า กำลังดำเนินไปคู่ขนานกับความพยายามในการยกร่างเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนกันใหม่ ตลอดจนการเข้าสู่กระบวนการเพื่อทำให้อัตราการแลกเปลี่ยนเงินที่เคยมีอยู่หลายๆ อัตราและเป็นตัวขัดขวางการค้าขาย ได้กลับกลายเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวขึ้นมา
โลกตะวันตกต่างยินดีต้อนรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เหล่านี้ สหรัฐฯกำลังฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่า และสหรัฐฯ ตลอดจนสหภาพยุโรป, และออสเตรเลีย ต่างกำลังดำเนินการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรประเทศนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นตกลงที่จะยกเลิกหนี้สินที่แดนหม่องติดค้างอยู่ในอดีต ความสัมพันธ์ที่พม่ามีอยู่กับพวกสถาบันการพัฒนาระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), และ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ล้วนแต่กำลังได้รับการฟื้นฟู สกุลเงินจ๊าตกำลังได้รับการลอยตัวเสรีอย่างมีการจัดการ พวกผู้นำของพม่าต่างบอกว่า การปฏิรูปต่างๆ ที่ดำเนินมาเป็นสิ่งที่จะไม่มีการพลิกผันหวนกลับไปอีกแล้ว
ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯและสหภาพยุโรปมีความพยายามที่จะใช้วิธีการแบบ “ยืนกรานแข็งกร้าว” ด้วยการออกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรต่างๆ อย่างมากมายกว้างขวาง เพื่อบีบบังคับให้พม่าต้องยอมปฏิรูปการปกครองของตนและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเสียใหม่ การคว่ำบาตรเหล่านี้มีทั้งการยุติการทำมาค้าขายด้วย, การระงับความช่วยเหลือ, การห้ามส่งอาวุธให้, การปฏิเสธไม่ยอมเจรจาด้วย, การอายัดทรัพย์สิน, และการบังคับจำกัดการเดินทางของพวกผู้นำประเทศพม่า
อันที่จริงอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ปี 1998 แล้ว สถาบันคาโต (Cato Institute) ได้เสนอรายงานที่มีข้อสรุปว่า “นโยบายของสหรัฐฯในเรื่องการคว่ำบาตรการทำการค้าและการลงทุนกับพม่าแต่ฝ่ายเดียว ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประสบความล้มเหลวในทุกๆ ด้านอย่างถ้วนทั่ว จากการบังคับให้บรรดาบริษัทของสหรัฐฯต้องตัดขาดการติดต่อพัวพันกับพม่า นโยบายเช่นนี้ก็กำลังสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอเมริกัน แถมไม่ได้ช่วยอะไรเลยในการปรับปรุงยกระดับเงื่อนไขความเป็นอยู่หรือสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวพม่า”
แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กลับแสดงความยินดีต้อนรับพม่าในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้เสมอภาคกันรายหนึ่งในประชาคมที่ประกอบด้วย 10 ประเทศของพวกเขา และเฝ้ารอคอยอย่างอดทนที่จะให้พม่าดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตารอกันอยู่ แทนที่จะใช้การทูตแบบบงการบังคับ สมาคมอาเซียนเลือกที่จะหันกลับไปสู่รากเหง้าแห่งโลกตะวันออกของตน อาเซียนเรียกวิธีการเช่นนี้ของตนว่า “หนทางแบบอาเซียน” (Asean Way) โดยที่ชาติสมาชิกนิยมที่ใช้การทูตแบบความสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างไม่เป็นทางการ ในการแก้ไขคลี่คลายปัญหาต่างๆ ตลอดจนในการบรรลุความสามัคคีปรองดองกันและความร่วมไม้ร่วมมือกัน
พวกเขารู้สึกว่า หนทางที่ดีที่สุดในการนำเอาวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ตลอดจนระดับการพัฒนาที่มีความผิดแผกไม่สม่ำเสมอกัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาอยู่ด้วยกันให้ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยคุณสมบัติต่างๆ ทั้งความเข้าอกเข้าใจ, ความเคารพ, ความอดกลั้น, ฉันทามติ, มิตรภาพ, และเหนือกว่าสิ่งอื่นใดเลย ก็คือ การไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายใน แท้ที่จริงแล้ว หลักการต่างๆ ที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนได้ถูกบรรจุจารึกเอาไว้ในเอกสารการก่อตั้งสมาคมของพวกเขานั่นเอง
ถึงแม้ในเวลานั้นพม่ายังคงเป็นรัฐที่ถูกสังคมโลกรังเกียจ แต่แดนหม่องก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของอาเซียนในปี 1997 ชาติสมาชิกอาเซียนยืนกรานเดินหน้าเรื่องนี้ถึงแม้ถูกบีบคั้นกดดันจากฝ่ายตะวันตก ไม่เพียงเท่านั้น พม่ายังได้เข้าอาเซียนในแบบช่องทางด่วน “ฟาสต์แทร็ก” นั่นคือใช้เวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น ขณะที่ เวียดนาม กับ กัมพูชา ยังต้องรอคอยอยู่เกือบๆ 4 ปี และ ลาว ใช้เวลาถึง 6 ปีทีเดียว การปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษต่อพม่าเช่นนี้ดูจะเป็นสิ่งที่ขบคิดวางแผนขึ้นมาอย่างรอบคอบ มันไม่เพียงแต่สามารถตอบโต้ยันกับอิทธิพลของจีนในพม่าได้เท่านั้น แต่ยังน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้พม่ารู้สึกว่าตนเองได้รับการต้อนรับเป็นอันดีให้เข้าสู่ประชาคมของภูมิภาค
สิ่งที่อาเซียนคงจะคาดหมายเอาไว้ก็คือ ในที่สุดแล้วทางสมาคมก็จะได้รับรางวัลตอบแทน ตามธรรมเนียมที่ว่า “ความดีย่อมสมควรที่จะได้รับการตอบสนองด้วยความดี” ตลอดช่วงหลายๆ ปีต่อจากนั้น เหล่าชาติสมาชิกอาเซียนก็ยังคงปฏิบัติตามนโยบาย “การมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์” (constructive engagement) ของพวกเขา ด้วยการไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่าในที่สาธารณะ ขณะที่ยังคงทำการค้าและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของพม่าต่อไป ซึ่งก็เท่ากับเป็นการช่วยต่อชีวิตให้แก่แดนหม่องนั่นเอง
พอถึงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อาเซียนได้เดินหน้าไปไกลยิ่งขึ้นอีก โดยคราวนี้ทางสมาคมตัดสินใจรับรองให้พม่าขึ้นรับตำแหน่งประธานของอาเซียนในวาระปี 2014 ด้วยเหตุผลที่พวกเขามองเห็น “สัญญาณต่างๆ อันส่งเสริมให้กำลังใจ” จากการดำเนินการปฏิรูปของพม่า “พวกเขา (พม่า) กำลังอยู่บนถนนซึ่งมุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างมากมายยิ่งขึ้นอีก และก็กำลังนำเอาประชาชนวงการต่างๆ ของประเทศเข้ามามีส่วนร่วมยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จุดยืนของอาเซียนก็คือ เราควรต้องทำสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพม่าให้เดินหน้าไปตามถนนเส้นนี้” นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซียกล่าว ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นจริงที่ว่า ความพยายามเท่าที่ผ่านมาของอาเซียนได้ผลิดอกออกผลอันน่าชื่นอกชื่นใจแล้ว
ทางด้าน ดร.มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ก็ชี้ว่า การตัดสินใจรับรองให้พม่าเป็นประธานอาเซียนนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เป็นรางวัลตอบแทนสำหรับการที่พม่าดำเนินการปฏิรูปต่างๆ สักเท่าไรนัก แต่ที่สำคัญแล้วมันคือการโน้มน้าวจูงใจให้แดนหม่องรู้สึกว่าต้องกระทำตนให้สมกับความคาดหวังระหว่างประเทศมากกว่า “มันไม่ใช่การลงมติไว้วางใจนะ” เขากล่าว “แต่แท้จริงแล้วมันคือความคาดหวังของพวกเราที่ว่าพม่าควรจะเป็นอย่างไรเมื่อถึงปี 2014 ต่างหาก”
สำหรับการที่พม่าเกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันใดเช่นนี้มีเหตุผลเนื่องมาจากอะไรกันแน่ ยังเป็นเรื่องที่เปิดกว้างให้อภิปรายถกเถียงกัน แต่สิ่งที่มีความกระจ่างชัดเจนแล้วก็คือ การที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายต่างกำลังมีความคาดหมายเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างชนิดพุ่งพรวด ตัวเลขข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชียบ่งบอกให้เห็นว่า เศรษฐกิจของพม่าได้รับแรงหนุนอย่างถนัดชัดเจนเรียบร้อยแล้ว จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่พม่ามีจำนวนทะยานขึ้นไปถึง 26% และการส่งออกก๊าซก็เพิ่มขึ้น 15% ซึ่งเฉพาะรายการหลังเพียงรายการเดียวก็เป็นตัวทำรายรับเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เอดีบียังพยากรณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีของพม่าว่าจะขยับขึ้นจากอัตรา 5.5% ในปี 2011 เป็น 6% ในปี 2012 และขึ้นไปเป็นอย่างน้อย 6.3% ในปีถัดไปอีก
การประมาณการต่างๆ เหล่านี้อาจจะยังเป็นการคาดคะเนแบบอนุรักษนิยมมากเกินไปหน่อยด้วยซ้ำ และข้อมูลตัวเลขของจริงอาจจะพุ่งแรงกว่านี้มากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการลงโทษคว่ำบาตรทั้งหลาย ในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลพม่ายังคงเดินหน้าไปตามเส้นทางแห่งการปฏิรูปของตนต่อไป ทั้งประชาคมอาเซียนและโลกตะวันตกต่างกำลังคาดหมายว่า สิ่งต่างๆ จะดำเนินไปในรูปการเช่นนี้ ขณะเดียวกัน ประชาชนพม่าเองก็แน่นอนทีเดียวว่ากำลังกลั้นลมหายใจด้วยความตื่นเต้นยินดี กับโอกาสใหม่ๆ ทั้งในเรื่องรายได้, การศึกษา, และคุณภาพชีวิต
ดร.บัลบีร์ ภาสิน เป็นผู้ประกอบการที่ผันตัวเองมาเป็นนักวิชาการ และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Doing Business in the ASEAN Countries ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Business Expert Press ในนครนิวยอร์ก ปัจจุบันเขามีตำแหน่งศาสตราจารย์ รอสส์ เพนเดอร์กราฟต์ เอนดาวด์ โปรเฟสเซอร์ (Ross Pendergraft Endowed Professor) ทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ อยู่ที่มหาวิทยาลัยอาคันซอส์, เมืองฟอร์ตสมิธ, สหรัฐอเมริกา เขายังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่พวกบริษัทที่กำลังหาทางเจาะเข้าประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ
ASEAN shows “The Way” as Myanmar opens
By Balbir B Bhasin
17/05/2012
สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ถูกประณามและสบประมาทในปี 1997 จากการตัดสินใจนำเอาพม่า ที่เวลานั้นยังเป็นรัฐที่สังคมโลกรังเกียจ เข้าเป็นสมาชิกของตน แล้วจากนั้นอาเซียนก็แสดงบทบาทเป็นผู้ชี้หนทางอันถูกต้องอีกคำรบหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ด้วยการมอบตำแหน่งประธานของสมาคมประจำปี 2014 ให้แก่กรุงเนปิดอว์ เนื่องจากมองเห็น “สัญญาณต่างๆ อันส่งเสริมให้กำลังใจ” ในเรื่องการปฏิรูปของแดนหม่อง เหตุผลที่ทำให้พม่าเกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันคืออะไร ยังเป็นสิ่งที่สามารถอภิปรายถกเถียงกันต่อไป แต่สิ่งที่กระจ่างชัดเจนแล้วก็คือ บรรดาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพม่าต่างกำลังมีความคาดหมายต่อประเทศนี้เพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวด
การเลือกตั้งซ่อมเมื่อเร็วๆ นี้ในพม่า ซึ่งทำให้ อองซานซูจี ผู้นำการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย และพรรคการเมืองของเธอได้เข้าสู่รัฐสภา ได้รับการป่าวร้องยกย่องว่าเป็นรุ่งอรุณของวันใหม่สำหรับการต่อสู้ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการอุทิศตนของเธอ เพิ่งได้รับการปล่อยตัวภายหลังถูกคุมขังกักตัวอยู่ภายในบ้านพักมาเป็นเวลารวมแล้ว 15 ปี ก็ในเดือนพฤศจิกายน 2010 นี้เอง ขณะที่ในปีที่แล้วเราได้เห็นคณะรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยทหารที่ถอดเครื่องแบบหันมาแต่งกายพลเรือนเป็นจำนวนมาก ขึ้นรับหน้าที่สืบแทนระบอบปกครองอันกดขี่ของฝ่ายทหารที่กุมอำนาจมาเป็นเวลากว่า 50 ปี รัฐบาลพลเรือนแต่ในนามชุดใหม่นี้กระทั่งเชื้อเชิญให้คณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติ เข้าร่วมเป็นประจักษ์พยานการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ด้วยซ้ำไป
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกรุงเนปิดอว์ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงรวมแล้ว 11 ฉบับกับชนกลุ่มน้อยและกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ต่างๆ ภายในประเทศ เสรีภาพทางการเมืองประการสำคัญๆ เป็นต้นว่า สิทธิในการจัดตั้งสมาคม, สิทธิในการชุมนุมรวมตัวกัน, สิทธิในการแสดงออก, และสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่างได้รับความเคารพในลักษณะซึ่งเพียงเมื่อสัก 1 ปีก่อนจะไม่มีใครกล้าคาดคิดว่าเป็นไปได้ การเปิดประตูทางการเมืองของพม่า กำลังดำเนินไปคู่ขนานกับความพยายามในการยกร่างเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนกันใหม่ ตลอดจนการเข้าสู่กระบวนการเพื่อทำให้อัตราการแลกเปลี่ยนเงินที่เคยมีอยู่หลายๆ อัตราและเป็นตัวขัดขวางการค้าขาย ได้กลับกลายเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวขึ้นมา
โลกตะวันตกต่างยินดีต้อนรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เหล่านี้ สหรัฐฯกำลังฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่า และสหรัฐฯ ตลอดจนสหภาพยุโรป, และออสเตรเลีย ต่างกำลังดำเนินการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรประเทศนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นตกลงที่จะยกเลิกหนี้สินที่แดนหม่องติดค้างอยู่ในอดีต ความสัมพันธ์ที่พม่ามีอยู่กับพวกสถาบันการพัฒนาระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), และ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ล้วนแต่กำลังได้รับการฟื้นฟู สกุลเงินจ๊าตกำลังได้รับการลอยตัวเสรีอย่างมีการจัดการ พวกผู้นำของพม่าต่างบอกว่า การปฏิรูปต่างๆ ที่ดำเนินมาเป็นสิ่งที่จะไม่มีการพลิกผันหวนกลับไปอีกแล้ว
ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯและสหภาพยุโรปมีความพยายามที่จะใช้วิธีการแบบ “ยืนกรานแข็งกร้าว” ด้วยการออกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรต่างๆ อย่างมากมายกว้างขวาง เพื่อบีบบังคับให้พม่าต้องยอมปฏิรูปการปกครองของตนและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเสียใหม่ การคว่ำบาตรเหล่านี้มีทั้งการยุติการทำมาค้าขายด้วย, การระงับความช่วยเหลือ, การห้ามส่งอาวุธให้, การปฏิเสธไม่ยอมเจรจาด้วย, การอายัดทรัพย์สิน, และการบังคับจำกัดการเดินทางของพวกผู้นำประเทศพม่า
อันที่จริงอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ปี 1998 แล้ว สถาบันคาโต (Cato Institute) ได้เสนอรายงานที่มีข้อสรุปว่า “นโยบายของสหรัฐฯในเรื่องการคว่ำบาตรการทำการค้าและการลงทุนกับพม่าแต่ฝ่ายเดียว ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประสบความล้มเหลวในทุกๆ ด้านอย่างถ้วนทั่ว จากการบังคับให้บรรดาบริษัทของสหรัฐฯต้องตัดขาดการติดต่อพัวพันกับพม่า นโยบายเช่นนี้ก็กำลังสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอเมริกัน แถมไม่ได้ช่วยอะไรเลยในการปรับปรุงยกระดับเงื่อนไขความเป็นอยู่หรือสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวพม่า”
แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กลับแสดงความยินดีต้อนรับพม่าในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้เสมอภาคกันรายหนึ่งในประชาคมที่ประกอบด้วย 10 ประเทศของพวกเขา และเฝ้ารอคอยอย่างอดทนที่จะให้พม่าดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตารอกันอยู่ แทนที่จะใช้การทูตแบบบงการบังคับ สมาคมอาเซียนเลือกที่จะหันกลับไปสู่รากเหง้าแห่งโลกตะวันออกของตน อาเซียนเรียกวิธีการเช่นนี้ของตนว่า “หนทางแบบอาเซียน” (Asean Way) โดยที่ชาติสมาชิกนิยมที่ใช้การทูตแบบความสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างไม่เป็นทางการ ในการแก้ไขคลี่คลายปัญหาต่างๆ ตลอดจนในการบรรลุความสามัคคีปรองดองกันและความร่วมไม้ร่วมมือกัน
พวกเขารู้สึกว่า หนทางที่ดีที่สุดในการนำเอาวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ตลอดจนระดับการพัฒนาที่มีความผิดแผกไม่สม่ำเสมอกัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาอยู่ด้วยกันให้ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยคุณสมบัติต่างๆ ทั้งความเข้าอกเข้าใจ, ความเคารพ, ความอดกลั้น, ฉันทามติ, มิตรภาพ, และเหนือกว่าสิ่งอื่นใดเลย ก็คือ การไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายใน แท้ที่จริงแล้ว หลักการต่างๆ ที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนได้ถูกบรรจุจารึกเอาไว้ในเอกสารการก่อตั้งสมาคมของพวกเขานั่นเอง
ถึงแม้ในเวลานั้นพม่ายังคงเป็นรัฐที่ถูกสังคมโลกรังเกียจ แต่แดนหม่องก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของอาเซียนในปี 1997 ชาติสมาชิกอาเซียนยืนกรานเดินหน้าเรื่องนี้ถึงแม้ถูกบีบคั้นกดดันจากฝ่ายตะวันตก ไม่เพียงเท่านั้น พม่ายังได้เข้าอาเซียนในแบบช่องทางด่วน “ฟาสต์แทร็ก” นั่นคือใช้เวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น ขณะที่ เวียดนาม กับ กัมพูชา ยังต้องรอคอยอยู่เกือบๆ 4 ปี และ ลาว ใช้เวลาถึง 6 ปีทีเดียว การปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษต่อพม่าเช่นนี้ดูจะเป็นสิ่งที่ขบคิดวางแผนขึ้นมาอย่างรอบคอบ มันไม่เพียงแต่สามารถตอบโต้ยันกับอิทธิพลของจีนในพม่าได้เท่านั้น แต่ยังน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้พม่ารู้สึกว่าตนเองได้รับการต้อนรับเป็นอันดีให้เข้าสู่ประชาคมของภูมิภาค
สิ่งที่อาเซียนคงจะคาดหมายเอาไว้ก็คือ ในที่สุดแล้วทางสมาคมก็จะได้รับรางวัลตอบแทน ตามธรรมเนียมที่ว่า “ความดีย่อมสมควรที่จะได้รับการตอบสนองด้วยความดี” ตลอดช่วงหลายๆ ปีต่อจากนั้น เหล่าชาติสมาชิกอาเซียนก็ยังคงปฏิบัติตามนโยบาย “การมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์” (constructive engagement) ของพวกเขา ด้วยการไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่าในที่สาธารณะ ขณะที่ยังคงทำการค้าและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของพม่าต่อไป ซึ่งก็เท่ากับเป็นการช่วยต่อชีวิตให้แก่แดนหม่องนั่นเอง
พอถึงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อาเซียนได้เดินหน้าไปไกลยิ่งขึ้นอีก โดยคราวนี้ทางสมาคมตัดสินใจรับรองให้พม่าขึ้นรับตำแหน่งประธานของอาเซียนในวาระปี 2014 ด้วยเหตุผลที่พวกเขามองเห็น “สัญญาณต่างๆ อันส่งเสริมให้กำลังใจ” จากการดำเนินการปฏิรูปของพม่า “พวกเขา (พม่า) กำลังอยู่บนถนนซึ่งมุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างมากมายยิ่งขึ้นอีก และก็กำลังนำเอาประชาชนวงการต่างๆ ของประเทศเข้ามามีส่วนร่วมยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จุดยืนของอาเซียนก็คือ เราควรต้องทำสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพม่าให้เดินหน้าไปตามถนนเส้นนี้” นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซียกล่าว ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นจริงที่ว่า ความพยายามเท่าที่ผ่านมาของอาเซียนได้ผลิดอกออกผลอันน่าชื่นอกชื่นใจแล้ว
ทางด้าน ดร.มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ก็ชี้ว่า การตัดสินใจรับรองให้พม่าเป็นประธานอาเซียนนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เป็นรางวัลตอบแทนสำหรับการที่พม่าดำเนินการปฏิรูปต่างๆ สักเท่าไรนัก แต่ที่สำคัญแล้วมันคือการโน้มน้าวจูงใจให้แดนหม่องรู้สึกว่าต้องกระทำตนให้สมกับความคาดหวังระหว่างประเทศมากกว่า “มันไม่ใช่การลงมติไว้วางใจนะ” เขากล่าว “แต่แท้จริงแล้วมันคือความคาดหวังของพวกเราที่ว่าพม่าควรจะเป็นอย่างไรเมื่อถึงปี 2014 ต่างหาก”
สำหรับการที่พม่าเกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันใดเช่นนี้มีเหตุผลเนื่องมาจากอะไรกันแน่ ยังเป็นเรื่องที่เปิดกว้างให้อภิปรายถกเถียงกัน แต่สิ่งที่มีความกระจ่างชัดเจนแล้วก็คือ การที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายต่างกำลังมีความคาดหมายเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างชนิดพุ่งพรวด ตัวเลขข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชียบ่งบอกให้เห็นว่า เศรษฐกิจของพม่าได้รับแรงหนุนอย่างถนัดชัดเจนเรียบร้อยแล้ว จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่พม่ามีจำนวนทะยานขึ้นไปถึง 26% และการส่งออกก๊าซก็เพิ่มขึ้น 15% ซึ่งเฉพาะรายการหลังเพียงรายการเดียวก็เป็นตัวทำรายรับเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เอดีบียังพยากรณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีของพม่าว่าจะขยับขึ้นจากอัตรา 5.5% ในปี 2011 เป็น 6% ในปี 2012 และขึ้นไปเป็นอย่างน้อย 6.3% ในปีถัดไปอีก
การประมาณการต่างๆ เหล่านี้อาจจะยังเป็นการคาดคะเนแบบอนุรักษนิยมมากเกินไปหน่อยด้วยซ้ำ และข้อมูลตัวเลขของจริงอาจจะพุ่งแรงกว่านี้มากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการลงโทษคว่ำบาตรทั้งหลาย ในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลพม่ายังคงเดินหน้าไปตามเส้นทางแห่งการปฏิรูปของตนต่อไป ทั้งประชาคมอาเซียนและโลกตะวันตกต่างกำลังคาดหมายว่า สิ่งต่างๆ จะดำเนินไปในรูปการเช่นนี้ ขณะเดียวกัน ประชาชนพม่าเองก็แน่นอนทีเดียวว่ากำลังกลั้นลมหายใจด้วยความตื่นเต้นยินดี กับโอกาสใหม่ๆ ทั้งในเรื่องรายได้, การศึกษา, และคุณภาพชีวิต
ดร.บัลบีร์ ภาสิน เป็นผู้ประกอบการที่ผันตัวเองมาเป็นนักวิชาการ และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Doing Business in the ASEAN Countries ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Business Expert Press ในนครนิวยอร์ก ปัจจุบันเขามีตำแหน่งศาสตราจารย์ รอสส์ เพนเดอร์กราฟต์ เอนดาวด์ โปรเฟสเซอร์ (Ross Pendergraft Endowed Professor) ทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ อยู่ที่มหาวิทยาลัยอาคันซอส์, เมืองฟอร์ตสมิธ, สหรัฐอเมริกา เขายังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่พวกบริษัทที่กำลังหาทางเจาะเข้าประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ