เอเยนซี - รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีนประกาศ ปักกิ่งพร้อมรับมือ ไม่ว่ามะนิลายั่วยุให้สถานการณ์การเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้ยกระดับความรุนแรงขึ้นอีกในลักษณะใด อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งนั้น บริษัทพลังงานของสองชาติก็ซุ่มหารือโครงการสำรวจแหล่งก๊าซในน่านน้ำที่มีกรณีพิพาท คาดหากสำเร็จอาจช่วยผ่อนเพลาความขัดแย้งได้
มานูเอล ปังกิลินัน ประธานกรรมการ ฟิเล็กซ์ ปิโตรเลียม (Philex Petroleum Corp) บริษัทพลังงานแดนตากาล็อก เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (8) ว่า ได้บินไปปักกิ่งในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อหารือกับ ไชน่า เนชันแนล
ออฟชอร์ ออยล์ กรุ๊ป หรือ ซีนุก (CNOOC) บริษัททางด้านผลิตน้ำมันและก๊าซของจีน เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการซัมปากีตา ซึ่งตามการให้สัมปทานสำรวจขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้ของกระทรวงพลังงานฟิลิปปินส์นั้น เรียกว่าเป็น “สัญญาบริการแปลงที่ 72”
ปังกิลินันเสริมว่า โครงการซัมปากีตาที่จะใช้เวลาพัฒนาประมาณ 6-10 ปีนี้ เป็นการสำรวจหาก๊าซธรรมชาติในบริเวณรีดแบงก์ (Reed Bank) ของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นน่านน้ำที่เรือของกองทัพจีนพยายามคุกคามเรือวิจัยของฟอรัม อิเนอร์จี้ ที่อยู่ในเครือของฟิเล็กซ์ และเกือบทำให้ต้องระงับการวิจัยไปเมื่อปีที่แล้ว
เขาบอกว่า ไม่สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหารือกับซีนุก แต่ยืนยันว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์รับรู้เรื่องนี้แล้ว
ทั้งนี้ การเป็นพันธมิตรระหว่างฟิเล็กซ์กับซีนุกในโครงการซัมปากีตา ที่การศึกษาในปี 2006 ประเมินว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ถึง 20 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือกว่า 5 เท่าของตัวเลขประมาณการเบื้องต้นนั้น อาจช่วยลดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศได้
จีนนั้นมีข้อพิพาทด้านดินแดนในทะเลจีนใต้กับฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน
ต้นเดือนที่แล้ว เรือตรวจการณ์ของจีน 2 ลำขัดขวางไม่ให้เรือรบฟิลิปปินส์จับลูกเรือประมงจีนที่เข้าไปหาปลาใกล้หมู่เกาะปะการังสคาร์โบโรห์ โชล หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างส่งเรือเข้าไปเพิ่ม กระทั่งปัจจุบัน เรือตรวจการณ์ 4 ลำของจีน รวมทั้งเรือประมงอีก 10 ลำ ทอดสมออยู่ในบริเวณดังกล่าว เผชิญหน้ากับเรือยามฝั่ง 2 ลำและเรือของสำนักงานประมงอีก 1 ลำของฟิลิปปินส์
การเผชิญหน้าในบริเวณสคาร์โบโรห์ โชล นับเป็นสถานการณ์ที่คุกรุ่นที่สุดระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ที่เชื่อว่า อุดมด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันอังคาร (8) ฟู่ อิง รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีน แถลงผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงว่า จีนเตรียมพร้อมทุกๆ อย่างเพื่อเป็นการตอบโต้ หากฟิลิปปินส์ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัวยกระดับ
ไม่ว่าในลักษณะไหน
นอกจากนั้นในวันจันทร์ (7) ฟู่ ยังเรียกตัว อเล็กซ์ ฉัว อุปทูตฟิลิปปินส์ประจำจีน ไปรับฟังการทักท้วงเกี่ยวกับสถานการณ์นี้เป็นหนที่สามในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน
“เห็นได้ชัดว่า ทางฝั่งฟิลิปปินส์ไม่ตระหนักว่าได้ก่อความผิดพลาดร้ายแรง แต่กลับพยายามทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น
“ฟิลิปปินส์ทำพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนชาวฟิลิปปินส์และต่อประชาคมโลก เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน และทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเลวร้ายลง
“ดังนั้น จึงยากที่เราจะมองสถานการณ์นี้ในแง่ดีได้” ฟู่ระบุกับฉัว
ด้านมะนิลายืนกรานว่า หมู่เกาะปะการังดังกล่าวอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนตามที่กฎหมายระหว่างประเทศรองรับ
ทว่า ปักกิ่งกลับอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ แม้แต่น่านน้ำที่อยู่ใกล้กับประเทศอื่น และไกลจากจีนหลายร้อยหลายพันกิโลเมตรก็ตาม
สัปดาห์ที่แล้ว มะนิลาพยายามอดกลั้น โดยโฆษกของประธานาธิบดีเบนินโญ อะควิโน แถลงว่า ฟิลิปปินส์
ไม่ต้องการให้เกิดความตึงเครียดขึ้นอีก จึงเพียงเฝ้าติดตามสถานการณ์ และจะหยิบยกประเด็นนี้หารือในศาลระหว่างประเทศ
ขณะที่ฟู่กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เรือตรวจการณ์ของจีนจะยังคงเฝ้าระวังใกล้หมู่เกาะปะการังดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ถอนเรือออกไป กระนั้น เธอย้ำว่า จีนต้องการแก้ไขวิกฤตนี้ด้วยวิธีทางการทูต
อย่างไรก็ดี ในบทวิจารณ์ซึ่งตีพิมพ์ในเวอร์ชันที่เผยแพร่ยังต่างประเทศ ของหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลับเตือนว่า มะนิลาไม่ควรมองเจตนารมณ์ที่ดีของปักกิ่งว่าเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ